ศัลยา ประชาชาติ : “วิรไท” ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องแก้หนี้ครัวเรือน แบงก์ขานรับร่วมสร้างภูมิคุ้มกันสังคมยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดตัวเลขหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2562 ว่า “เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” โดยมีมูลค่า 12.97 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส

โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอยู่อันดับ 11 ของโลก จาก 74 ประเทศ

ขณะที่ในไตรมาส 2 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทางสภาพัฒน์มองว่าต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล มีการเพิ่มขึ้นถึง 9.2%

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการร่วมงานสัมมนาหัวข้อ “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ 78.7% ต่อ GDP นั้น เป็นการมองระดับมหภาค

แต่สำคัญไปกว่านั้นเมื่อมองระดับครัวเรือน พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สูงถึง 130-140%

เนื่องจากที่ผ่านมารายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ตัวเลขหนี้เพิ่มเร็วกว่า

“ที่สำคัญกว่าคือระดับไมโคร ถ้าไปดูคุณภาพของลูกหนี้ และลูกหนี้ตามประเภทต่างๆ มีความน่ากลัวมากกว่าเยอะ เพราะเราเอาข้อมูลทุกสัญญาจากเครดิตบูโรมาดู พบว่าคนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และผู้กู้อายุ 29-30 ปี พบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) หมายความคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต คนที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นพนักงาน จะกลัวโทรศัพท์มาตามหนี้ หรือหนี้ภาคเกษตรที่เห็นว่าเป็นการกู้ไปทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งก็เป็นหนี้เกษตรกร ซึ่งพบว่าอายุ 60 ปีไปแล้วหนี้ก็ยังไม่ลด คือเมื่อดูลงไปในระดับไมโคร ปัญหาเยอะมาก” นายวิรไทกล่าว

ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับ 78.7% ของ GDP ยังไม่รวมหนี้ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) และหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้จากการศึกษาของ ธปท.ยังเห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ลดลง ทำงานเดือนแรกก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว เพราะมีโปรโมชั่นผ่อน 0% 6 เดือน และมีพฤติกรรมการซื้อของทางอินเตอร์เน็ตกันตลอดเวลา

สิ่งที่ ธปท.ทำได้คือ กำกับสถาบันการเงิน ซึ่งได้ส่งสัญญาณไปว่า สถาบันการเงินจะทำธุรกิจแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ทั้งแบงก์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงส่งสัญญาณให้กับผู้ให้บริการการเงินส่วนที่ ธปท.ไม่ได้กำกับด้วย เพื่อที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญร่วมกัน

“มีผลศึกษาของ ธปท.ที่ไปดูเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่าสัดส่วนการเป็นหนี้ขึ้นกับระยะเวลาการใช้อินเตอร์เน็ตต่อวัน เพราะนี่คือพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ซื้อสินค้าผ่านไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเห็นชัดว่าเรื่องการก่อหนี้เป็นเรื่องหลากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่ ธปท.ทำได้ คือคุมสถาบันการเงินที่กำกับด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการวางแผนทางการเงินคือโจทย์ใหญ่ของประเทศ” นายวิรไทกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ ธปท.มีหน้าที่ต้องออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลให้เหมาะสม ไม่ให้สถาบันการเงินแข่งขันจนไปซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้รุนแรงขึ้น โดยที่ผ่านมาจึงออกเกณฑ์เรื่องบัตรเครดิต เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล เรื่องสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และล่าสุดก็เรื่องสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

แต่ ธปท.ก็ไม่ได้กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินทุกราย อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ ลีสซิ่ง ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้จัดทำโครงการคลินิกแก้หนี้ ทำให้การแก้หนี้จบในขั้นตอนเดียว ผ่านตัวกลางคือบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เพื่อให้คนออกจากวงจรหนี้ได้

“เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมธนาคารไทยก็ได้เอ็มโอยูเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ก็เห็นทันทีว่าบางสถาบันการเงินประกาศจะเลิกทำแคมเปญสำหรับผู้มีรายได้น้อย อย่างเช่น ผ่อน 0% 6 เดือน ที่ไปใช้จ่ายในสิ่งไม่เกิดประโยชน์ อีกเรื่องก็คือ ร่วมกับหลายๆ องค์กรในการสร้างความรู้ทางการเงิน” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

 

ขณะที่ “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีการตระหนักเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยมีการลงนามเอ็มโอยูการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ

โดยจะพิจารณาปล่อยกู้ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ต่างๆ และพิจารณาว่าลูกหนี้กู้ไปบริโภคโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ จากในอดีตที่อาจพิจารณาเพียงความสามารถในการชำระคืนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้หลายๆ ธนาคารก็ชะลอการกระตุ้นแคมเปญในกลุ่มที่จะเป็นการก่อหนี้เกินตัวกันบ้างแล้ว

“การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบจะพิจารณาตั้งแต่สินเชื่อรายใหญ่ไปจนถึงรายเล็ก เช่น ในรายใหญ่ธนาคารจะระมัดระวังการให้สินเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับรายเล็กจะพิจารณาถึงความจำเป็น หรือวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตโดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นผ่อน 0% อาจจะลดลง โดยเฉพาะในส่วนที่จะกระตุ้นให้เกิดหนี้ที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม โปรโมชั่น 0% สำหรับสินเชื่อที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ธนาคารยังสนับสนุนอยู่” นายปรีดีกล่าว

ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวด้วยว่า การมีหนี้ครัวเรือนที่สูงจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน เพราะหากคนไม่จ่ายหนี้อาจส่งผลให้ระบบล้มได้ ขณะที่มีผลศึกษาต่างประเทศระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่อสภาพเศรษฐกิจอยู่ที่ 84% ต่อ GDP แต่ก็ใช่ว่าระดับ 78.7% ต่อ GDP ในปัจจุบันจะไม่อันตราย เพราะขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละประเทศ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไม ธปท.จึงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” นั่นเอง