จรัญ พงษ์จีน : รัฐบาลรอดศึกอภิปราย แต่ผ่านความตึงเครียดใหญ่กว่าได้หรือไม่?

การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อชี้ให้เห็นความไม่สมบูรณ์ในการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก “การถวายสัตย์ไม่ครบถ้อยความตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับ” ซึ่งถูกชี้ว่า ในทางกฎหมายเท่ากับ “ความเป็นรัฐมนตรี” ยังไม่เกิดขึ้น มีผลต่อการสั่งการ และมติต่างๆ ของฝ่ายบริหารที่จะเสี่ยงต่อการถูกตีความว่าดำเนินไปโดยไม่ชอบ

และการพูดเลยไปถึงการแถลงนโยบายที่นำเสนอโครงการต่างๆ โดยไม่ชี้แจงถึงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการประเทศ

อันถูกตั้งประเด็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้เป็นอย่างที่ “นายชวน หลีกภัย” เคยกล่าวไว้เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมาพูดครั้งแรกว่า “เป็นเรื่องใหญ่” และแนะนำให้ “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” ซึ่งเป็นผู้หยิบยกขึ้นมาไปดูรายละเอียดให้ชัด และเป็นที่มาของการอภิปรายดังกล่าว

หากจะให้คะแนนจากการทำหน้าที่ ต้องถือว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย” ดูจะได้รับการยกย่องจากคนที่ติดตามการถ่ายทอดสดอภิปรายครั้งนี้ในอันดับแรก

ด้วยว่าการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่นายชวนนั่งบนบัลลังก์ประธานมีความเรียบร้อยมากอีกครั้งหนึ่งของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันปกติที่จะต้องมีประท้วงกันวุ่นวาย

เป็นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ไม่น้อย

คนต่อมาหนีไม่พ้นที่ต้องยกให้ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” นักการเมืองหนุ่มจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นโชว์บทบาทที่โดดเด่นมาตลอด และครั้งนี้ก็ไม่ทำให้คนที่ติดตามผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เตรียมข้อมูลมาอย่างดียิ่ง ทั้งข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เลยไปถึงองค์ความรู้จากตำรับตำราต่างๆ ตลอดจนการเรียงร้อยเนื้อหาทั้งหมดมาอธิบายให้คนฟังเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ที่ชัดเจนคือ แม้จะเป็นคนหนุ่ม แต่การควบคุมอารมณ์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอเนื้อหาเป็นไปอย่างงยอดเยี่ยม จนทำให้แม้ฝ่ายที่ถูกอภิปรายพยายามหาช่องประท้วงก็ทำได้ยาก

ยิ่งเป็นการทำหน้าที่ระหว่างที่ “นายชวน” ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ยึดมั่นในหลักการ เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ยิ่งทำให้บทบาทของ “ปิยบุตร” เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีงามให้กับสภาผู้แทนราษฎร

อีกคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ได้ดีคือ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่เสนอประเด็นใหญ่ในเรื่อง “จริยธรรม” อันจะเป็นประเด็นให้สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อันเป็นการเปิดประเด็นใหม่ ให้ “ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” จบลงแค่การอภิปรายครั้งนี้

จะเป็นเนื้อหาสำคัญที่ทำให้ “คณะรัฐบาล” ต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะต่อเนื่องไปในอนาคต ในทางที่จะเป็นคำถามต่อ “ความสมบูรณ์ของความเป็นคณะรัฐมนตรี”

 

เสียงคร่ำครวญเรื่องความยากลำบากของการดำเนินชีวิตในช่วงนี้มีให้ได้ยินทั่วทุกหัวระแหง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ “ส.ส.” อันเป็น “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จะรับฟังมาระงมหู เพราะเป็นผู้ที่ต้องไปอยู่ใกล้ชิดและรับฟังปัญหาจากประชาชน ด้วยการทอดทิ้งประชาชนย่อมสร้างชะตากรรมอันเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับอนาคตของพวกเขา ไม่เหมือนกับ “นักการเมืองที่รอเสวยวาสนาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ” โอกาสที่จะเข้าใจความทุกข์ร้อนของประชาชนย่อมมีไม่เท่า ส.ส.

อย่างไรก็ตาม เพราะ “รัฐธรรมนูญ” กำหนดให้ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” มีบทบาทมากมายในการค้ำชู “การอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรี” ทำให้ “คนเป็นรัฐมนตรี” ตระหนักถึงความสำคัญของเสียงที่สะท้อนจากประชาชน

ด้วยเหตุนี้เอง กระแสความอึดอัดจากนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงเกิดขึ้นกับ “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” เป็นอย่างมาก

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์ “ช่วยเหลือทุนใหญ่ให้เข้มแข็ง” จะเป็นการเริ่มต้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความเชื่อ “รองนายกฯ สมคิด” ซึ่งเป็นผู้ควบคุมทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ อยู่ที่ “หากทุนใหญ่เข้มแข็ง จะมีการลงทุนอันเกิดการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดกำลังซื้อมาหมุนเวียนเศรษฐกิจ”

เป็นความเชื่อที่เข้มข้น โดยไม่รับฟังความเห็นต่างว่า “ควรจะกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อจากรากหญ้าโดยตรง โดยเฉพาะการดูแลราคาสินค้าการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

จนถึงวันนี้ “รองสมคิด” ยังเชื่อมั่นในทิศทางของนโยบาย “อุ้มทุนใหญ่” ที่ทำมากว่า 5 ปี

และนั่นเป็นความอึดอัดของบรรดา “ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” เพราะว่าเสียงที่ฟังจนหูแฉะนั่น “ชีวิตนับวันจะมองเห็นแต่ความสิ้นหวัง” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ความย่ำแย่”

ปัญหาปากท้องท่วมท้น

เพราะการรับรู้ไปอีกทาง แต่ไม่สามารถนำความเป็นจริงของชีวิตชาวบ้านมาเป็นส่วนกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ให้มีความหวังต่อปัญหาปากท้องของประชาชนระดับล่างที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสได้

ผลของความอึดอัดของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เริ่มจะเป็นปัญหาต่อรัฐบาล

เพราะเมื่อคนกำหนดนโยบาย ไม่ฟังเสียง ส.ส.ที่รับฟังมาจากประชาชน รอยแยกทางความคิดในพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.เริ่มตั้งคำถามต่อคนที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรี โดยขอความเห็นใจในการที่จะต้องตอบคำถามกับประชาชนในปัญหาเรื่องปากท้อง

ประเมินกันว่า สถานการณ์จะเริ่มเครียดขึ้น ในการไม่มีคำตอบในเรื่องที่ควรตอบ