เศรษฐกิจ / จับทิศทางค่าเงินบาทแข็งยาว… เขย่าส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภค ถาม รบ.เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไหว?

เศรษฐกิจ

 

จับทิศทางค่าเงินบาทแข็งยาว…

เขย่าส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภค

ถาม รบ.เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไหว?

 

ปลายเดือนเก้า ย่างเข้าเดือนสิบ ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2562 ยังคงได้ยินเสี่ยงสะท้อนถึงค่าเงินบาทแข็งโป๊กจากเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดค่าเงินบาททำสถิติรอบใหม่อีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับ 30.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่ามากที่สุดที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 โดยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคยแข็งค่ามากที่สุดที่ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนเมษายน 2556

ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา หากไล่ย้อนดูข้อมูลค่าเงินบาท โดยข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าถึง 6.90% เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าอันดับ 2 ของโลก

เป็นรองเพียงค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐถึง 8.61%

แต่หากเทียบกับประเทศเอเชียด้วยกันแล้ว ค่าเงินบาทถือว่าแข็งค่ายืนหนึ่งในภูมิภาค

ขณะที่ค่าสกุลอื่นๆ เทียบดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย แข็งค่า 3.04% ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น แข็งค่า 1.57% ค่าเงินเปโซ ฟิลิปปินส์ แข็งค่า 1.18% ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง แข็งค่า 0.08% ส่วนค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่า 0.71% ค่าเงินริงกิต มาเลเซีย อ่อนค่า 0.73% ค่าเงินดอลลาร์ไต้หวัน อ่อนค่า 1.07% ค่าเงินรูปี อินเดีย อ่อนค่า 1.76% ค่าเงินปอนด์ อังกฤษ อ่อนค่า 2.27% ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย อ่อนค่า 2.47% ค่าเงินหยวน จีน อ่อนค่า 2.84% ค่าเงินยูโร สหภาพยุโรป (อียู) อ่อนค่า 3.19% ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ อ่อนค่า 4.87%

ค่าเงินวอน เกาหลีใต้ อ่อนค่า 6.29%

 

ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งเริ่มชัดเจนมากขึ้น ทั้งในภาคการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนให้ชะลอตัวลงอยู่แล้ว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้สินค้าไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสินค้าในประเทศอื่นแข่งขันได้ยากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศ เพราะสินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้ปรับราคา สะท้อนตัวเลขจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์มูลค่าการส่งออก 7 เดือนแรก 2562 ติดลบ 1.91% รวม 144,175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป้าหมายการส่งออกปีนี้อยู่ที่ 3.0% การส่งออกที่ชะลอลงทำให้เริ่มเห็นผลกระทบต่อเนื่องในส่วนภาคการผลิตที่เริ่มลดลง

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวไทย ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ซื้อสินค้าและบริการได้น้อยกว่าเดิม และทำให้นักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินมีการเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางไปประเทศอื่น อาจส่งผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งและการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่รุมเร้า ทำให้ ททท.ต้องปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 40.2 ล้านคน จากเดิมประมาณ 40.4 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 2.21 ล้านล้านบาท

ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่สัดส่วนกว่า 60-70% ของจีดีพี หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ผลกระทบที่ต่อเนื่อง คือจะส่งผลต่อรายได้ของประชาชนทำให้การบริโภคอาจจะชะลอตัว ล่าสุด กรมสรรพากรรายงานสถานการณ์จัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 ติดลบ 2.1%

สาเหตุหลักมาจากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาชะลอลงทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวตาม และการแข็งค่าของค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดภาษีแวตที่จัดเก็บจากการนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย “สุวัชชัย ใจข้อ” ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค อธิบายว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่สนับสนุนให้เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่และไทยในบางจังหวะ รวมทั้งผลจากปัจจัยภายใน สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งการที่ค่าเงินบาทถูกมองเป็นเสมือนสินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาค และส่วนที่สำคัญคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่านำภูมิภาค ธปท.รับว่ากังวลและเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิที่เพิ่มขึ้น 5.5% ตั้งแต่ต้นปี 2562 หรือจาก 2.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 2.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การดูแลค่าเงินบาทมีข้อจำกัด เพราะไทยยังมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกจัดเป็นประเทศที่มีการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าจากสหรัฐ และอาจนำไปสู่การกีดกันทางการค้าผ่านมาตรการต่างๆ จากสหรัฐได้

ขณะที่หากประเมินทิศทางค่าเงินบาทนักวิเคราะห์จากธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างชาติ มองว่าค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อ โดย “ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่า ค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาส คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในการประชุมครั้งที่ 6/2562 จาก 1.50% ลง 0.25% อยู่ที่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์และหากธนาคารกลางอื่นๆ ยังผ่อนคลายนโยบายการเงิน ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัวอาจจะเห็นปรับลดลงต่ำกว่าระดับนี้ได้อีก

ส่วน “รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองแนวโน้มค่าเงินบาทจนถึงสิ้นปี 2562 จะยังคงผันผวน สิ้นปีนี้เงินบาทอยู่ที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มีโอกาสที่จะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หากสงครามการค้าคลี่คลายลง เบร็กซิทราบรื่น และเศรษฐกิจโลกเติบโตมากกว่าที่คาด จะมีแรงหนุนกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น

 

ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ในช่วง 30.70-31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ตามทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักสำคัญๆ รวมทั้งแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ และยิ่งต้องติดตามใกล้ชิด เพราะการผ่อนคลายนโยบายการเงินเริ่มมีวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการค่าเงินมากขึ้น อาจนำไปสู่การแข่งขันในการลดค่าเงินและสร้างความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก อาจส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยในครึ่งปีหลัง 2562 ให้ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.0% หรือกรอบ 2.7-3.2%

ท่ามกลางสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งยังไม่เห็นว่าจะมีการกลับทิศทางของค่าเงินบาท นอกจากหวังการเข้ามาช่วยดูแลจากรัฐบาลแล้ว ในส่วนเอกชนและผู้ประกอบการที่มีการธุรกรรมค้าขายโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงรองรับ และมีการปรับตัวธุรกิจ

รวมทั้งอาจจะมองหาการใช้ประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า

เพราะหากไม่ทำอะไรเลยจะมีแต่เสียหาย…