ฉัตรสุมาลย์ : ผู้หญิงกับการรื้อฟื้น พุทธศาสนาในเขมร

ข้อมูลส่วนนี้ หากไม่บันทึกไว้ คงสูญหายไปกับกาลเวลา รอยมือ รอยเท้าของผู้หญิงเขมรที่มีส่วนร่วมในการกอบกู้ชาติก็จะไม่มีใครพูดถึง เพราะฉะนั้น นักเฟมินิสต์ท่านหนึ่ง ขออภัยจำชื่อท่านไม่ได้ ท่านพูดแล้วพูดอีกว่า ผู้หญิงต้องเขียน เพราะเธอคือกำลังสำคัญในการสร้างชาติ สำหรับเขมรนั้น เป็นการกอบกู้ชาติ

ขอทบทวนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้เขียนเอง ค.ศ.1975-1979 หรือ พ.ศ.2518-2522 เมื่อเขมรผ่านวิกฤตที่สุดของชาติในศตวรรษนี้

หลายคนยังจำเหตุการณ์ที่ชาวเขมรทะลักเข้ามาตรงตะเข็บชายแดนระหว่างเขมรและไทย ไทยต้องตั้งด่านรับ จัดตั้งศูนย์ผู้อพยพเพื่อรับมือกับชาวเขมรที่หนีตายเข้ามาที่เขาอีด่าง เป็นต้น

สหประชาชาติ โดย UNHCR เข้าไปจัดตั้งแคมป์ชั่วคราว เขมรที่มาถึงเขาอีด่างนั้น ที่มาล้มตายก็มีจำนวนไม่น้อย

ชาวไทยออกไปทำงานอาสาสมัคร ทั้งไปบริจาคเลือด และช่วยงานพื้นฐานนับตั้งแต่ช่วยตั้งแคมป์ ทำความสะอาดภายในเต็นท์

พวกผู้ชายไปช่วยแม้การแบกหามศพชาวเขมรที่เพิ่งเสียชีวิต

 

ผู้เขียนร่วมไปกับรถที่ทาง UNHCR มีให้บริการ ไปร่วมบริจาคโลหิต และช่วยทำความสะอาดเต็นท์ที่พัก

ได้เห็นร่างที่ไร้วิญญาณที่กองกันอยู่รอการจัดการ พวกที่มีชีวิตอยู่ก็เข้าแถวเพื่อการลงทะเบียน และเพื่อแบ่งปันอาหาร

ได้เข้าไปช่วยทำความสะอาดภายในเต็นท์ที่พักของเด็กๆ ชาวเขมร ที่ประทับอยู่ในความทรงจำคือแววตาของเด็กผู้ชายที่นั่งอยู่ในเต็นท์ ว่างเปล่า ไม่มีความรู้สึก ทันทีที่เราเข้าไปขยับเสื่อและหมอน เขารีบคว้าของที่เขาแอบไว้ใต้หมอน

ท่านผู้อ่านลองเดาซิคะว่าเป็นอะไร

ปลาเค็มที่บี้แบนอยู่ในถุงพลาสติก!

นั่นคือ ของที่มีราคาและความหมายมากที่สุดสำหรับเด็กน้อยชาวเขมรวัย 5 ขวบ

สภาพบ้านแตกเป็นเช่นนี้เองหนอ

 

เราชาวไทยอาจจะเคยถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว แต่เราไม่เคยบ้านแตกสาแหรกขาดแบบเขมร

แต่เหตุการณ์ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ดูเหมือนกำลังจะสร้างเหตุนำไปสู่สภาวะบ้านแตกละกระมัง

กลับไปที่เขมร หลังจากเขมรแดงจากไป พระภิกษุสงฆ์ไม่เหลืออยู่เลย สมเด็จพระเจ้าสีหนุ ต้องเกณฑ์ชาวนาที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่จากสงคราม ส่งไปบวชเป็นภิกษุที่เวียดนาม กลับมาสืบสายเถรวาท สมเด็จเทพวงศ์ สมเด็จฝ่ายมหานิกายองค์ปัจจุบันเป็นรุ่นนี้ ที่ออกไปบวชที่เวียดนาม พ.ศ.2522

ส่วนสมเด็จบัวครี ซึ่งเป็นพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุต อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงที่เขมรประสบวิกฤตเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลงไปกว่า 2 ล้านคน ท่านจึงมีความสนิทสนมกับกษัตริย์เขมรองค์ปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะในช่วงที่ชาติวิกฤตนั้น ทั้งสององค์อยู่ที่ฝรั่งเศส อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้แก่กัน

และถือว่า สมเด็จบัวครีเป็นพระอาจารย์ของพระองค์ท่านด้วย

 

สมเด็จชาวเขมรอีกรูปหนึ่งที่เราพูดถึงในบทความที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เรื่องธรรมยาตรานั้น คือสมเด็จมหาโฆษะนันทะ ตอนที่เขมรเกิดวิกฤต โชคดีที่ท่านอยู่เมืองไทย จึงรอดพ้นอันตรายมาได้

ท่านกลับเข้าไปเขมรเพื่อนำธรรมยาตรา พ.ศ.2523 เมื่อสงครามสงบลงและบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น

วัดวาอารามร้าง วิเวกวังเวง ชาวบ้านที่เป็นชายส่วนใหญ่ตายในสงครามครั้งนั้น โบสถ์ซึ่งเป็นอาคารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของอาราม เขมรแดงใช้เป็นที่ประหารชีวิตชาวเขมรที่หัวแข็ง ไม่ลงให้กับฝ่ายทหาร

โบสถ์ที่ผู้เขียนได้เห็น ด้านหลังยังมีรอยเลือดกรังอยู่เป็นประจักษ์พยาน

บรรดาผู้หญิงชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น สูญเสียลูกและสามีที่ถูกเกณฑ์ไปสู้รบ บ้างก็หายตัวไปอย่างลึกลับ บ้างก็ถูกเกณฑ์ไปและไม่ได้กลับคืน

 

เขมรผ่านความทุกข์ยากอย่างมหันต์ บรรดาแม่หม้าย ผัวตาย ลูกตาย เกาะกลุ่มกันสวดมนต์ ในความทุกข์ร่วมกันนั้น พวกเธอหันหน้าเข้าหากัน ผู้นำในหมู่ผู้หญิงในหมู่บ้านคือแม่ชี ที่เรียกว่า ดอนชี คนแก่หน่อยก็เรียกว่า เยยชี คือยายชีนั่นเอง

ผู้หญิงเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกที่กลับเข้าไปในวัดที่ร้างและหลอน ทำความสะอาดในการปัดกวาดเช็ดถู ทั้งคาวเลือดและมูลค้างคาวที่เข้ามาอาศัย

พวกเธอรวมกำลังกัน เริ่มจากศาลาที่พวกเธอใช้เป็นที่สวดมนต์ด้วยกันทุกเย็น สวดมนต์ก็สวดจากความจำ ไม่มีหนังสือสวดมนต์ คนที่สวดคล่องกว่าคนอื่นจึงเป็นดอนชี

ใช่ค่ะ ไม่ผิดเลย หากเราจะพูดว่า กลุ่มแรกที่รื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในเขมรหลังช่วงเขมรแตก คือ ผู้หญิง ในกลุ่มผู้หญิงนั้น ต้องบอกด้วยว่า ดอนชีมีบทบาทสำคัญ

ไม่มีการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเธอเลย ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่ในมติชนสุดสัปดาห์นี้ เป็นตัวแทนบันทึกเรื่องราวของเธอ

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ข้อมูลจากการบอกเล่า

แล้วผู้เขียนไปรู้เรื่องราวของดอนชีได้อย่างไร

 

ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการทางด้านศาสนา ได้รับการติดต่อจากมูลนิธิเยอรมันที่ให้ทุนสนับสนุนกลุ่มแม่ชีทั้งประเทศ 12 จังหวัด ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนเก็บข้อมูลในช่วง พ.ศ.2540-2541

ด้วยการเชื่อมโยงเช่นนี้เองจึงได้เห็นสภาพที่ดอนชีอยู่และทำงาน มูลนิธินี้ต้องการประเมินว่า ทุนที่เขาสนับสนุนนั้น มีงานใดในจังหวัดที่ให้เงินไปแล้วทำงานได้ตามเป้า เพื่อเขาจะได้พิจารณาให้ทุนในขั้นต่อไป

ในขณะเราเก็บข้อมูลให้เจ้าภาพ เราก็ได้สัมผัสกับบริบทของดอนชีชาวเขมรอย่างเป็นรูปธรรม

ช่วงนั้น เริ่มมีพระภิกษุกลับเข้ามาอยู่ตามวัดแล้ว ที่จังหวัดโพธิสัตว์ ดอนชีเล่าให้ฟังด้วยความน้อยใจว่า งานรื้อฟื้นพระศาสนานับตั้งแต่เข้ามาช่วยกันทำความสะอาดวัด จัดกลุ่มสวดมนต์ร่วมกัน หลายปีผ่านไปจึงเริ่มมีพระภิกษุเข้ามา

พอเป็นพระภิกษุก็เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสเลย แต่พระพวกนี้บวชใหม่ไม่ค่อยรู้พระธรรมวินัย ก็จะมีเขมรอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า อาจา คืออาจารย์นั่นเอง พวกนี้รู้ธรรมวินัยมากกว่าพระภิกษุ และเข้ามาเพื่อแนะนำทางด้านพิธีกรรมให้แก่พระภิกษุ พวกนี้เดิมเป็นภิกษุ ต้องสึกออกไปในช่วงสงคราม ออกไปมีครอบครัวแล้ว

คราวนี้เข้ามาในบทบาทใหม่ คือ คอยให้คำแนะนำพระภิกษุอีกที

 

ดอนชีเล่าว่า พอพระภิกษุเข้ามา ดอนชีก็ถูกผลักภาระเข้าครัว ทำอาหารถวายพระ

พอมีอาจาเข้ามา ดอนชีก็ต้องตั้งอีกสำรับหนึ่งสำหรับอาจาด้วย อาจาไม่ช่วย แม้แต่จะล้างจานของตัวเอง

ก็อาจาเคยเป็นพระมาก่อน เลยติดนิสัยเดิมมา

ที่อยู่ของดอนชีเองนั้น บางรูปเอาอิฐมาเรียงกันเป็นฐานเป็นเสา สูงพอนั่งได้ แล้วเอาไม้มาวางเป็นพื้น ฝาเอาไม้ไผ่มากรุด้วยกระดาษ และถุงพลาสติกอยู่ด้านนอก เพื่อกันฝน เป็นสภาพของที่สุด ของที่อยู่

แต่ผู้หญิงเขมรมีพลัง ทำงานเงียบๆ แต่ก้าวหน้าไปด้วยกัน

เธอคือผู้กอบกู้พระพุทธศาสนาตัวจริงเสียงจริงในเขมร ที่ต้องบันทึกประวัติศาสตร์ให้เธอ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ดอนชีที่เป็นผู้นำนั้น อย่างน้อยอายุแตะ 90 แล้วค่ะ