ต่างประเทศอินโดจีน : รถไฟลอยฟ้าพนมเปญ

กัมพูชากำลังจะมีรถไฟฟ้า เป็นรถไฟฟ้ารางเบาลอยฟ้า (air-light rail) ทำนองเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอสในกรุงเทพมหานครของไทยเรา

โครงการก่อสร้างมหึมานี้มีมูลค่ามหาศาลถึง 1,843 ล้านดอลลาร์ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ การก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้นภายในปี 2020 คือในปีหน้าที่จะถึงนี้

อันที่จริงโครงการนี้เป็นโครงการผสมผสาน ทั้งที่เป็นรถไฟลอยฟ้า แล้วก็รถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะในระยะทาง 19 กิโลเมตรจากเซ็นทรัลมาร์เก็ต ที่เป็นย่านธุรกิจใหม่มาจนถึงแขวงโจมเจา ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชานั้น ลอยอยู่เหนือพื้นเพียง 15 กิโลเมตร ที่เหลืออีก 5 กิโลเมตร เป็นการมุดลงใต้ดิน

สถานีต้นทางจะอยู่ที่เซ็นทรัลมาร์เก็ต หรือที่เรียกกันว่าตลาดใหม่ ผ่านถนนชาร์ลส์ เดอ โกล, มณีวงศ์ เอฟเวนิว, รัสเซียน บูเลอวาร์ด ไปสิ้นสุดที่สถานีเสนลอง ในย่านโจมเจา บนเส้นทางทางหลวงหมายเลข 4

ตามเส้นทางดังกล่าวจะมีสถานีทั้งสิ้น 20 สถานี เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้า 18 สถานี แล้วก็เป็นสถานีรถไฟใต้ดินอีก 2 สถานี

 

ไวสิน ลิยา โฆษกของกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมขนส่งของรัฐบาลกัมพูชา เปิดเผยเอาไว้ว่า รัฐบาลเคยอนุญาตให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไจก้า) ของญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้ารางเบาและรถไฟฟ้าใต้ดินระบบแรกสุดของประเทศเอาไว้เมื่อปี 2017 โดยที่ไจก้าเลือกนิปปอน โคเออิ บริษัทวิศวกรรมชั้นนำของญี่ปุ่นให้ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

ไวสิน ลิยา บอกว่า ไจก้ากับนิปปอน โคเออิ ศึกษาวิจัยโครงการก่อสร้างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการประสานงาน ที่ประกอบด้วยตัวแทนของกระทรวงโยธาธิการฯ, กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง, สำนักงานผังเมืองและการก่อสร้าง, กระทรวงเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต 5 ของกรุงพนมเปญมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2017 เรื่อยมาจนถึงปี 2019 นี้

ท่านโฆษกยังชี้ด้วยว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการประสานงานได้นำเสนอรายงานผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของโครงการนี้ต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

ทั้งยังจัดทำรายงานว่าด้วยผลกระทบจากโครงการก่อสร้างต่อสำนักงานบริหารงานแก้ไขผลกระทบทางวิศวกรรมทั่วไปเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน

หน่วยงานทั้งสองกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนตรวจสอบรายงานดังกล่าวอยู่ในเวลานี้

นั่นหมายความว่า หากได้รับความเห็นชอบเมื่อใดก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที

 

ไวสิน ลิยา บอกว่า ตามแผนการก่อสร้างควรเริ่มในปี 2020 เป้าหมายก็เพื่อรองรับต่อการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวนานาชาติที่เดินทางเข้ามายังกัมพูชาและจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนสำหรับรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่กัมพูชามีวาระต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2023

ฟังดูก็เข้าท่าดี ตระเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดปัญหาเหมือนในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งกรณีของไทยที่ต้องรอจนเกิดการจราจรติดขัดติดอันดับโลกเสียก่อนถึงได้มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

แต่บางคนก็อดถามไม่ได้ว่า แม้ในปี 2023 ที่ว่านั้น การจราจรในกัมพูชาจะเป็นปัญหาถึงขั้นติดขัดจริงหรือ?

ถนนหนทางทั้งหลายทั้งปวงไม่สามารถขยับขยายได้แล้วหรือ?

หรือทำไปเพียงให้ได้ชื่อว่า พนมเปญก็มีเมกะโปรเจ็กต์กับเขาเหมือนกัน เท่านั้น?

ที่สำคัญ ที่ท่านไวสิน ลิยา บอกเอาไว้เองก็คือ ส่วนยากที่สุดของโปรเจ็กต์มหึมานี้ก็คือปัญหางบประมาณในการก่อสร้างว่าจะหามาจากไหน

เอาไว้มีงบประมาณเหลือเฟือแล้วค่อยว่ากันใหม่อีกทีไม่ดีกว่าหรือ?