นงนุช สิงหเดชะ | ปัญหา ‘ถวายสัตย์’ ไม่ครบ ปัญหาความ ‘อวดเก่ง’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ปัญหา ‘ถวายสัตย์’ ไม่ครบ ปัญหาความ ‘อวดเก่ง’

ปัญหากล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สร้างแรงกระเพื่อมอย่างไม่จำเป็นต่อเสถียรภาพรัฐบาล

ทำให้ขาดความเชื่อมั่น และอาจมีผลกระทบต่อความมั่นใจการลงทุน การบริโภค

เนื่องจากตลอดเวลาที่รอผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ได้สร้างความไม่มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว จะกลายเป็นโมฆะหรือไม่

เผลอๆ รัฐมนตรีทั้งคณะอาจจะซวย ตกงานกันไปหมด

ขณะเขียนต้นฉบับอยู่นี้ การอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านในประเด็นนี้ก็คงผ่านพ้นไปแล้ว (กำหนดไว้ 18 กันยายน) ซึ่งนายกรัฐมนตรีคงตอบรายละเอียดต่างๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่นายกฯ ไม่ยอมพูดเลยตลอดช่วงที่ผ่านมาก็คือทำไมจึงผิดพลาด

เป็นเพราะตัวเองเลินเล่อเอง กล่าวคือ ผู้มีหน้าที่ได้เตรียมคำกล่าวไว้ให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่ตัวเองอ่านข้าม อ่านขาด

หรือว่าเป็นกรณีที่นายกฯ อวดเก่ง อวดรู้ คิดเอาเอง ไม่ปรึกษาใคร คิดว่าจะกล่าวคำถวายสัตย์อย่างไรก็ได้โดยไม่ดูรัฐธรรมนูญ หากเป็นกรณีนี้นับว่าน่าห่วง เพราะหากนายกฯ ไม่นำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน ก็เกรงว่าจะไปทำเลินเล่อ สะเพร่าจนสร้างความเสียหายร้ายแรงในเรื่องอื่นหรือไม่

การเลินเล่อในประเด็นถวายสัตย์ อาจเป็นลักษณะของคนที่เริ่มจะเสพติดในอำนาจ จึงไม่ระมัดระวังตัวเอง เพราะการกลับมาอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดความมั่นใจล้นเกิน พร้อมกันนั้นก็คงเพลิดเพลินติดอกติดใจหลังจากได้เดินทางไปทั่วโลก พบกับผู้นำประเทศนั้นประเทศนี้ อาจจะเริ่มติดใจในรสชาติของอภิสิทธิ์แห่งการเป็นนายกฯ

ความอวดเก่งทั้งที่ไม่รู้อีกอย่างหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คือการใช้ภาษาอังกฤษไม่ถูกต้องบนเวทีใหญ่อย่างการประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า Thank you very much to hear. โดยตั้งใจจะหมายถึงว่าขอบคุณทุกท่านที่ฟัง

หนักไปกว่านั้นก็คือ take your headphone before. ซึ่งนายกฯ กล่าวประโยคนี้ ด้วยตั้งใจจะบอกผู้เข้าร่วมประชุมว่าให้ใส่หูฟังก่อน (เพื่อรับฟังการแปล)

ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ทักษะภาษาอังกฤษของนายกฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่า ที่ถูกต้องควรใช้ Thank you very much for your attention. หรือ Thank you very much for listening. ส่วน take your headphone before. นั้น ที่ถูกต้องเป็น Please put the headphones on. (การใช้ please จำเป็นมากในงานสำคัญเช่นนี้เพราะมันคือคำสุภาพ ส่วนคำว่า take เป็นการออกคำสั่งกับแขก ไม่สุภาพอย่างยิ่ง)

เห็นได้ชัดว่านายกฯ ไม่รู้หลักการของภาษาอังกฤษ การพูดออกมาเช่นนั้นชัดเจนว่า นายกฯ คิดจากภาษาไทยแบบตรงตัว ใช้โครงสร้างประโยคแบบไทย แล้วเข้าใจไปว่ามันจะใช้แทนกันได้หรือสื่อความหมายได้ แต่ที่จริงแล้วโครงสร้างภาษาไทยและอังกฤษต่างกัน ขืนพูดแบบนั้นฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ เพราะประโยคมันไม่สมบูรณ์ อย่างประโยคแรกนั้นจบดื้อๆ ที่ to hear แต่ไม่รู้ว่าจะให้ hear อะไร ส่วนประโยคที่สอง จบดื้อๆ ที่ before แต่ไม่รู้ว่า before อะไร

ภาษาอังกฤษของบิ๊กตู่ในวันนั้น จึงกลายเป็นภาษาอังกฤษแบบพัทยาขำๆ ฮาๆ ไม่ต่างจากอีกหลายประโยคที่คนไทยถูกล้อเลียนมาก อาทิ you know me a little go. (แกรู้จักฉันน้อยไป-ที่ถูกควรเป็น don’t underestimate me) don’t tea cool with me (อย่าเย็นชากับฉัน) don’t soda with me (อย่ามาซ่ากับฉัน)

ฝ่ายนายกฯ และฝ่ายเชียร์นายกฯ พยายามแก้ตัวและแก้ต่างว่า ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น ไม่น่าเห็นใจ เพราะถ้าไม่ถนัดก็ไม่ต้องพูดเลย พูดภาษาไทยก็พอ เนื่องจากมีล่ามแปลอยู่แล้ว และเนื้อหาสุนทรพจน์ทั้งหมดวันนั้นนายกฯ ก็กล่าวเป็นภาษาไทยอยู่แล้ว ดังนั้น นายกฯ อยู่ในสถานะเลือกได้ว่าจะพูดหรือไม่พูดภาษาอังกฤษ

ปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่นายกฯ อยากโชว์ภาษาอังกฤษ ก็เลยพูดออกไปสดๆ แต่อันที่จริงหากอยากจะโชว์ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อย ก็ควรเตรียมเป็นสคริปต์ส่วนตัวสั้นๆ ขึ้นไป โดยให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดู ช่วยขัดเกลา หรืออย่างน้อยก็ควรถามภรรยานายกฯ เองที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ แต่ผิดตรงที่ไม่ทำการบ้าน ไม่ถามผู้รู้ อาจจะเพราะอวดเก่ง อวดรู้ ทั้งที่ไม่รู้ ก็เลยพลาด ดังนั้น ก็สมควรแล้วที่ถูกวิจารณ์

ถ้านายกฯ จำเป็นต้องทักทายกับแขกต่างประเทศคนอื่นๆ เป็นการส่วนตัวด้านล่างเวทีและจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษ การจะพูดผิดบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะได้ยินกันไม่กี่คน ไม่ได้พูดออกไมโครโฟน แต่ถ้าขึ้นพูดบนเวที ออกไมโครโฟน ก็ได้ยินกันทั้งโลก จึงควรทำการบ้านเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ผิดพลาด

แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่แน่ใจว่าความผิดพลาดนี้เป็นแบบเดียวกับปัญหาการถวายสัตย์หรือไม่ กล่าวคือ ผู้เชี่ยวชาญเขาบอกแล้ว เขียนให้แล้ว แต่บิ๊กตู่อวดเก่ง ไม่เชื่อตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ทั้งที่นายกฯ ก็พูดเองว่าเวลาออกงานที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ มีล่ามแปลอยู่รอบตัว 15 คน แต่ทำไมนายกฯ จึงไม่รู้จักถามหรือขอความรู้ ความช่วยเหลือจากล่ามเหล่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์เคารพนับถือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี ก็ควรถือเอา พล.อ.เปรมเป็นแบบอย่างในการบริหารประเทศช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ พล.อ.เปรมนั้น พูดน้อย แต่ฟังมาก จึงเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้รับการจารึกว่าบริหารประเทศได้โดดเด่นโดยเฉพาะเชิงเศรษฐกิจ นั่นเป็นเพราะ พล.อ.เปรมเป็นคนใฝ่รู้ ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ล้นแก้ว ถ้าอยากรู้อะไร โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ท่านไม่ถนัด ท่านก็จะปรึกษาขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

แต่บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นตรงข้าม คือติดจะพูดมาก ก็เลยมีเวลาฟังคนอื่นไม่มากก็เป็นได้ ถ้าพูดมากแล้วรู้จักฟังมากด้วยก็พอทำเนา แต่ส่วนใหญ่แล้วคนพูดมากก็จะมีเวลาฟังคนอื่นน้อยไปโดยปริยาย

บทเรียนเรื่องถวายสัตย์ จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดน้อยลง แล้วฟังมากขึ้น รอบคอบมากขึ้นได้หรือไม่

ยิ่งตอนนี้เป็นรัฐบาลผสม มีหลายก๊กหลายพรรค ทำให้ไม่มีรองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจโดยตรง แต่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะนี้แทน จากเดิมที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นคนดูแล ซึ่งเริ่มมีข่าวออกมาว่าเริ่มมีปัญหาควบคุมทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ เพราะแต่ละพรรคก็จะดำเนินการตามนโยบายของพรรคตัวเอง

คำถามคือ ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ปรึกษาผู้รู้มากพอหรือไม่ รู้จักใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะของผู้อื่นให้เป็นประโยชน์หรือเปล่า