“วรรณกวี อยู่วัฒนา” บัณฑิตสาว “อักษรฯ จุฬาฯ” ผู้เลือกประกอบอาชีพ “โชเฟอร์แท็กซี่”

“เรียนจบตั้งสูง ทำไมไม่ไปทำอาชีพอื่น?”

นี่คือคำถามที่ “แก้ว-วรรณกวี อยู่วัฒนา” ถูกถามอยู่เสมอ หลังจากเธอเลือกประกอบอาชีพหลักเป็น “คนขับรถแท็กซี่รับจ้าง”

ทั้งๆ ที่สาววัย 36 ปีผู้นี้จบการศึกษาจากสาขาวิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังเรียนจบ เธอก็มุ่งมั่นทำงานตามที่ใฝ่ฝันเหมือนเพื่อนนิสิตคนอื่นๆ และตรงกับสายวิชาที่ร่ำเรียนมา นั่นคือ “งานเบื้องหลัง” โดยเริ่มต้นทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเวทีของละครเวทีเรื่องหนึ่ง

การทุ่มเททำงานสุดความสามารถ ทำให้ “แก้ว วรรณกวี” เติบโตในสายงานเบื้องหลังละครอย่างต่อเนื่อง เธอได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของบริษัทออร์แกไนซ์แห่งหนึ่ง ก่อนจะขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

“ตอนทำงานเบื้องหลังละครเวที มีบทบาททั้งการเขียนสคริปต์ การติดต่อประสานงานกับนักแสดง รันคิวบนเวที ได้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ละวันได้ทำงานกับคนหมู่มาก ถือว่าเป็นงานที่สนุกมากๆ แม้จะเหนื่อยมากก็ตาม”

งานเบื้องหลังละคร แม้จะสนุกแต่ก็เป็นภารกิจที่หนักและค่อนข้างทำร้ายร่างกาย ด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันจนวุ่นวายไปหมด เนื่องจากต้องทำงานไม่เป็นเวลา ทำให้การพักผ่อนก็พลอยไม่เป็นเวลาไปด้วย

“บางวันต้องตื่นตี 3 ตี 4 กว่าจะได้นอนก็ตี 2 ตี 3 ครบ 24 ชั่วโมงพอดี และหลายๆ ครั้งก็ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้เสร็จทันตามเวลา ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนตามเวลาที่ควรจะเป็น และไม่มีเวลาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”

เมื่อร่างกายต้องเผชิญงานหนักเกินกำลัง รวมทั้งพักผ่อนไม่เพียงพอ “สัญญาณเตือนครั้งที่หนึ่ง” จึงมาถึง

“แก้ว” เล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งระหว่างทำงานในโรงละครเวทีและจะลุกไปเข้าห้องน้ำ จังหวะนั้น ร่างเธอก็ล้มลงทันที และไม่สามารถขยับตัวได้อีก

“ช่วงนั้นเราทำงานหนักเป็นปกติ อดนอนเป็นปกติ ไฟในการทำงานกำลังแรงเลย ทุ่มเทให้เต็มร้อย รู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีสัญญาณบอกเหตุเลยว่าร่างกายเราไม่ปกติแล้ว มารู้ตัวอีกทีภาพก็ตัดไปแล้ว…”

สภาพของ “แก้ว” ณ ตอนนั้น คือการต้องนอนหมดสภาพอยู่บนพื้น โดยไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้ ทำได้เพียงตะโกนขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

แพทย์ให้ “แก้ว” นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 วัน เพื่อทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดย 2 วันแรก แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ทำให้หญิงสาวหมดสติ

กระทั่งวันที่ 3 คุณหมอตัดสินใจทำอัลตร้าซาวด์และเอคโคหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะส่วนดังกล่าว

ในที่สุดทุกฝ่ายก็เจอต้นตอของปัญหา

แพทย์ระบุสาเหตุที่ทำให้ “แก้ว” หมดสติว่าเกิดจากความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ และไม่น่าจะเป็นมาแต่กำเนิด เพราะก่อนหน้านี้เธอมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมาโดยตลอด

“คุณหมอบอกว่า มันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่สามารถที่จะสรุปได้แน่นอน แต่คาดการณ์ว่าน่าจะเกิดจากที่เราอดนอนทำงานหนัก และความเครียด 2 สิ่งสำคัญที่เป็นบ่อเกิดปัญหา”

เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วย วินาทีนั้น “แก้ว” ช็อกและร้องไห้อย่างหนัก เพราะไม่คาดคิดว่าสุขภาพของตนจะอ่อนแอขนาดนี้ จึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราทำงานไปเพื่ออะไร? เราทุ่มเททำงานหนักทำไม?

“ช่วงเวลาที่ไม่มีเรา งานก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ และเขาก็สามารถหาคนใหม่มาแทนเราได้ แล้วเราได้อะไรจากงานบ้าง เราอาจจะได้เงิน แต่ร่างกายเราที่เสียไป จะหาอะไหล่จากที่ไหนมาทดแทน”

“แก้ว” ตั้งคำถามกับตัวเองมากมายจนเริ่มสับสน แต่ในที่สุดหญิงสาวก็ได้คำตอบว่าการมีชีวิตอยู่ของเธอจะต้องทำเพื่อตัวเองและครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

บัณฑิตอักษรฯ จุฬาฯ ตัดสินใจลาออกจากงานเบื้องหลังละคร ถึงแม้ว่านั่นจะเป็นวิชาชีพที่รัก ไปทำงานเลขานุการ ที่เข้า-ออกบริษัทเป็นเวลาแทน

แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง สุดท้ายเธอก็เลือกหันหลังให้อาชีพสาวออฟฟิศ

จากนั้น “แก้ว” เริ่มค้นหา “ความสุขที่แท้จริง” ครั้งใหม่ โดยหันมามองสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด

และเธอก็ได้เห็นรอยยิ้มของแม่บังเกิดเกล้า ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่รับจ้างเลี้ยงดูลูกสาวมายาวนานหลายปี

“แม่ของแก้วขับรถแท็กซี่มานานกว่า 11 ปีแล้ว แม่ดูมีความสุขที่ได้ออกไปขับรถ เคยบอกให้แม่เลิกทำก็ไม่ยอม ก็เลยตัดสินใจลองไปขับรถดูบ้าง”

วันแรกๆ ของการทำงานใหม่กับอาชีพคนขับรถแท็กซี่รับจ้าง “แก้ว” เล่าว่า ต้องปรับตัวพอสมควร เพราะปกติเวลาขับรถส่วนตัวไปทำงาน ก็จะมุ่งหน้าสู่ที่หมายเพียงอย่างเดียว แต่การขับรถแท็กซี่ต้องขับชิดซ้าย สายตาต้องคอยมองข้างทางตลอดเวลาว่าจะมีผู้โดยสารโบกรถเราไหม

ตอนนี้เธอเลือกขับแท็กซี่เฉพาะเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนนั้นปล่อยรถให้คนอื่นเช่าต่อ เพื่อหารายได้เพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง

เมื่อเริ่มขับแท็กซี่ คนรอบข้างต่างเข้ามาถามว่า “เรียนจบตั้งสูง ทำไมไม่ไปทำอาชีพอื่น” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่ “แก้ว” กลับรู้สึกว่าอาชีพคนขับแท็กซี่ไม่ได้ทำให้เธอเสียเกียรติหรือน่าอับอายตรงไหน เพราะเป็นอาชีพสุจริต ที่ไม่ได้เบียดเบียนใคร ดีกว่าเราไปทำอย่างอื่นแล้วเบียดเบียนตัวเอง ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ซึ่งนับว่าน่าเสียดายเวลามากกว่า

“หลายคนบอกว่าจบจุฬาฯ แล้วมาขับแท็กซี่ เสียดายความรู้ความสามารถ น่าจะไปทำอย่างอื่นที่มันดีกว่านี้ แต่แก้วเห็นว่าอาชีพแท็กซี่มันก็เป็นอาชีพที่มีเกียรติเท่ากับอาชีพอื่นๆ ได้รับส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมายโดยปลอดภัย แค่นี้มันก็มีความสุขแล้ว”

“แก้ว” ยังเห็นว่า การทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร หากงานดังกล่าวเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนผู้นั้น ทำแล้วรู้สึกมีความสุขและสบายใจ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทั้งยังไม่ทุจริต ก็ไม่จำเป็นจะต้องสนใจสายตาหรือคำพูดของคนอื่น

พร้อมฝากถึงคนที่กำลังมีไฟในการทำงานว่า ขอให้หันกลับมามองตัวเองให้มากๆ ว่าเราทำงานไปเพื่ออะไรกันแน่? เพื่อเงินเพียงอย่างเดียวหรือ? มันดีต่อตัวเราและครอบครัวไหม? และเรามีเวลาเหลือไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ หรือไม่?

“การทำงานในบริษัทใหญ่ๆ อาจจะมั่นคง เงินเดือนสูง มีหน้ามีตาในสังคม แต่เราก็เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ของบริษัทนั้น แต่เราคือคนที่สำคัญที่สุดของครอบครัว ถ้าบริษัทขาดเราไปคนหนึ่ง เขาก็หาคนใหม่มาทดแทนได้ แต่ถ้าพ่อ แม่ สามี ภรรยา หรือลูก ขาดเราไป ใครจะแทนที่เราได้”

เมื่อเป้าหมายและมุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป นิยามความสุขของ “แก้ว” ก็ผันแปรตาม

ทุกวันนี้ บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่รับจ้างเป็นงานหลัก

หากยามใดเธอรู้สึกว่ายังมีเรี่ยวแรงมากพอ ก็จะไปรับจ้างเป็นฟรีแลนซ์งานเบื้องหลังละครที่ตนเองรักเพื่อหารายได้เสริม โดยไม่เบียดเบียนสุขภาพร่างกายจนเกินไป