กรองกระแส / สัญญาณการเมือง กลิ่น ‘รัฐประหาร’ โชยกรุ่น ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กรองกระแส

 

สัญญาณการเมือง

กลิ่น ‘รัฐประหาร’ โชยกรุ่น

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ปะทุอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนวันประชุมสภาเพื่อเดินหน้าญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 สำคัญ

สำคัญเพราะสะท้อนอารมณ์และความต้องการออกมาอย่างเด่นชัด

อารมณ์หนึ่งสัมผัสได้จากประโยคที่ว่า “ต่อให้เรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมา ก็ทำไม่ได้” ความต้องการหนึ่งสัมผัสได้จากประโยคที่ว่า “จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน”

เป็นการถามบนความเป็นจริงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

รัฐธรรมนูญที่ภายในพรรคพลังประชารัฐสรุปอย่างรวบรัดว่า DESIGN มาเพื่อ “พวกเรา” เป็นรัฐธรรมนูญที่ภายในพรรคพลังประชารัฐตีความออกมาอย่างเป็นรูปธรรมว่า จัดทำขึ้นเพื่อให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่มีทางที่จะเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีทางที่จะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย

ยิ่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แห่งพรรคเพื่อไทย ยิ่งไม่มีทาง

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงโอกาสของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้เข้าไปแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้แทนราษฎร” ในสภา

แล้วเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องถามว่าจะเอา “ผมแบบไหน”

 

สถานการณ์กดดัน

หลังมีนาคม 2562

 

การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นเส้นแบ่งอย่างสำคัญในทางการเมือง แม้ในวันที่ 5 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการขานชื่อจาก 249 ส.ว. และ 251 ส.ส. รวมแล้วเท่ากับ 500 เสียงจากที่ประชุมรัฐสภา

แต่ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความสง่างามหรือไม่

ขณะเดียวกัน คำถามที่แหลมคมมากยิ่งกว่านั้นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยความราบรื่นหรือไม่

เพียงการกล่าวคำถวายสัตย์ในวันที่ 16 กรกฎาคม ก็กลายเป็นประเด็น

เพียงการแถลงนโยบายรัฐบาลในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 163

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 จึงได้ปะทุขึ้น

ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็กลายเป็นปัญหาจากคำพิพากษาของศาลออสเตรเลีย

ความหงุดหงิดจึงปะทุมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

บทเรียนจากอดีต

สฤษดิ์ และถนอม

 

ถามว่ารัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลากรถถังมาโค่นรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร เกิดจากอะไร

เด่นชัดว่า เกิดจากหงุดหงิดต่อ “ระบบรัฐสภา” ที่มาจาก “การเลือกตั้ง”

ถามว่า รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร ลากรถถังมาโค่นรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดจากอะไร

เด่นชัดว่า เกิดจากความหงุดหงิดต่อ “ระบบรัฐสภา” ที่มาจาก “การเลือกตั้ง”

คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างการสัมมนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า “จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน” เกิดจากอะไร

1 เกิดจากหงุดหงิดในการทำงานกระทั่งโพล่ง “ต่อให้เรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมา ก็ทำไม่ได้”

1 เกิดจากหงุดหงิดต่อสถานการณ์การรุกไล่ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จึงนำไปสู่การเสนอคำถาม “จะเอาผมแบบนี้ หรือจะเอาผมแบบก่อน”

แบบก่อนคือก่อนการเลือกตั้ง แบบนี้คือหลังการเลือกตั้ง

นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2562 นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเดือนมีนาคม 2562

เท่ากับสะท้อนความหงุดหงิดต่อ “ระบบรัฐสภา” อันมาจาก “การเลือกตั้ง”

 

สัญญาณการเมือง

ถวิลหามาตรา 44

 

พลันที่มีการเลือกตั้ง พลันที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ความหมายสำคัญ 1 คือ การสิ้นสุดแห่งยุค คสช. และ 1 รูปธรรมก็คือ การสิ้นสุดแห่งอำนาจตามมาตรา 44

ถึงแม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่ก็ถือได้ว่าเริ่มเป็นประชาธิปไตย

อย่างน้อยการเกิดขึ้นของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาผู้แทนราษฎรอันมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็สร้างความแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแปรมาเป็นวุฒิสภา

เพียงไม่กี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มหงุดหงิดและแสดงความถวิลหาอาวรณ์ต่อการดำรงอยู่ในอำนาจในแบบก่อนเดือนมีนาคม 2562

นี่คือสัญญาณอันน่าเป็นห่วงยิ่งในทางการเมือง เพราะใกล้เคียงยิ่งกับสัญญาณการรัฐประหาร