เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ม่วนคักคัก มักขอนแก่น

คุณสุมาลี สุวรรณกร หรือคุณหน่อย จัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมสม่ำเสมอที่อีสาน ในฐานะผู้ประสานงานคนสำคัญของกลุ่มศิลปินและผู้ทำงานด้านวัฒนธรรม

นี่ก็เพิ่งเสร็จงานที่ขอนแก่นเมื่อวันเสาร์ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มเปิดงานเมื่อวันที่ 29 รวมสามวัน

ลักษณะงานเป็นลานวัฒนธรรม คือมีซุ้มแสดงงานฝีมือของชุมชนแต่ละอำเภอ กับมีเวทีการแสดง ซึ่งมีทั้งเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ประถมถึงอุดมศึกษา กับกลุ่มแม่บ้านจากบ้านสีฐานและบ้านดอนบม

สถานที่งานคือสวนรัชดานุสรณ์ ซึ่งมีเวทีและลานกว้างขวางเหมาะแก่การจัดกิจกรรมเป็นประจำ ซึ่งใกล้กันนั้นมีตลาดถนนคนเดิน ซึ่งมีประจำทุกวันเสาร์เช่นกัน

ขณะที่ลานวัฒนธรรมและเวทีศิลปะการแสดงมีไม่บ่อยนัก

จําเพาะงานนี้มีชื่อว่า “ม่วนคักคัก มักขอนแก่น” เปิดงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นคือ ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ส่วนวันสุดท้ายปิดงานเมื่อเสาร์ 31 นี้นั้น มีท่านสมาชิกวุฒิสภาแห่งขอนแก่นได้มาร่วมงานด้วย คือ ท่านสุชัย บุตรสาระ อดีตรองผู้ว่าฯ ขอนแก่นนั่นเอง กับมีท่านอื่นมาร่วมงานอีกหลากหลาย เช่น ท่านนายอำเภอเมืองขอนแก่น คือ คุณฉัตรชัย อุ่นเจริญ พร้อมภริยา ท่านนายกเทศมนตรีคนหนุ่มแห่ง ต.ท่าพระ คือ คุณพิสุทธิ์ อนุตรอังกูร

ศิลปินครูหมอลำคนสำคัญของขอนแก่น คือ ครูราตรี ศรีวิลัย ผู้มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นหมอลำจากสำนักการศึกษาต่างๆ ที่มาขึ้นเวทีค่ำนั้นก็มาร่วมขึ้นเวทีด้วย

นอกจากวงดนตรีพื้นบ้านอีสานที่มีทั้งโปงลาง แคน โหวด และการขับลำโดยหมอลำคนหนุ่มสาว รวมถึงการฟ้อนรำจากโรงเรียนต่างๆ แล้ว ยังมีหนังตะลุงอีสานที่เรียก “หนังประโมทัย” จากโรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ ซึ่งแสดงโดยนักเรียนมัธยมล้วนๆ อีกด้วย

งานนี้เป็นหนึ่งในโครงการ “ขอนแก่นแดนศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริหารงานของกองทุน คือ คุณวนิดา วินิจจกูล ได้มาร่วมขึ้นเวทีเสวนาถึงความสำคัญของงานนี้ด้วย

เป็นงาน “เชิงรุก” ด้วยการ “เปิดพื้นที่” สื่อสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม อันนอกเหนือไปจากงาน “เชิงรับ” ที่หน่วยงานมีอยู่

งาน “เปิดพื้นที่” ศิลปวัฒนธรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนในกำกับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือชื่อย่อว่า สสส. นั้น

ไม่จำเพาะที่ขอนแก่นเท่านั้นที่ได้รับสนับสนุนโครงการเปิดพื้นที่วัฒนธรรม หากยังมีอีกหลายจังหวัดที่กองทุนกำลังดำเนินการสนับสนุน ผู้ประสานงานคนสำคัญของหน่วยงานร่วมสนับสนุน นี้คือคุณดนัย หวังบุญชัย ซึ่งร่วมจัดกิจกรรมเครือข่าย ลงพื้นที่อยู่เป็นประจำ รวมทั้งงานในวันนี้ด้วย

พื้นที่วัฒนธรรมเป็นหนึ่งในโครงการปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมที่เริ่มมาแต่สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย มีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน สืบทอดมาถึง สปช. คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ กระทั่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูยฉบับปัจจุบัน ใน “หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ” โดยเฉพาะมาตรา 57

“มาตรา 57 รัฐต้อง

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ข้อความสำคัญจำเพาะวงเล็บหนึ่งของมาตรา 57 นี้คือ “จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งกิจกรรม ศิลปะและวัฒนธรรมนี่แหละเป็นสิ่งที่ต้องจัดให้มีด้วยการเปิด “พื้นที่สาธารณะ”

ดังที่ขอนแก่นได้ทำอยู่นี้

ความสำคัญอีกข้อหนึ่งในวงเล็บหนึ่งของมาตรา 57 นี้ก็คือ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ดังที่ขอนแก่นได้ทำอยู่นี้

และ “พื้นที่” อื่นๆ อีกหลายแห่ง หลายจังหวัดก็กำลังดำเนินการ และจะดำเนินการตามความพร้อมอยู่แล้วนั้น

พิเศษของความในข้อนี้คือคำว่า “มีส่วนร่วม”

สำคัญของการมี “ส่วนร่วม” ก็คือการมีส่วนร่วมของพลังสามภาคส่วน อันมีภาครัฐ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) และภาคประชาสังคม เป็นการ “สานสามพลัง” อย่างได้ดุลยภาพ

ดังที่ขอนแก่นได้เริ่มแล้วนี้

ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งยังไม่มีเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดเคยมีมาก่อนเลย ก็คือ “หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ” ที่บัญญัติให้ “รัฐต้อง” คือรัฐมีหน้าที่ “ต้องทำ” ถ้ารัฐไม่ทำ ก็มีผลบังคับตามมาตรา 51 ทันที

“มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

นี้เป็นดุลอำนาจของพลังสามภาคส่วนโดยแท้