ความรุนแรงน่าเป็นห่วง ตลาดล่าง-ตลาดบน และชนบทที่เปลี่ยนไป ในมุมมองอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาช่วยมองภาพรวมของประเทศขณะนี้ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในภาพใหญ่ๆ เท่าที่ผมตามมาทั้งหมด ฟังที่คนระดับใหญ่ให้สัมภาษณ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชนบท

เขายังคิดว่าชนบทอยู่ในค่อนข้างลักษณะเหมือนเดิม เช่น ไปให้สัญญาจะช่วยเหลือเรื่องข้าว เช่น ประกันราคาต่างๆ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งไม่มีตัวบ่งชี้อะไรได้ว่าเขาเข้าใจเรื่องพวกนี้เลย นี่คือปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องตระหนัก

ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งรัฐควรจะเห็นใจคนตัวเล็กตัวน้อยมากกว่านี้ แล้วต้องมองถึงการทำให้เครือข่ายผู้ประกอบการในแต่ละประเภทมีความเข้มแข็งมากขึ้น

แต่วันนี้เขาคิดเพียงแค่ว่าให้ทุนใหญ่ลงไปช่วย ซึ่งมันก็จะกลายเป็นทุนใหญ่คุม แต่ถ้าคิดจากฐานข้างล่าง มองผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มให้ดี มองสายใยสัมพันธ์ของเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความหลากหลาย มันจะช่วยสร้างนาแปลงใหญ่อีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตร

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงคือญี่ปุ่น เขาจะใช้สหกรณ์เป็นฐานในการที่จะแบ่งปันหรือเป็นตัวต่อรองกับบริษัทใหญ่ๆ เพื่อปลูกพันธุ์ข้าวอย่างที่นิกะตะ ข้าวที่ราคาแพงที่สุดเขาจะมีสหกรณ์ในการดูแลเก็บเมล็ดพันธุ์ สหกรณ์ก็จะเป็นของคนในท้องถิ่นนี้ ฐานคิดหลักๆ เขาอยู่กับชาวบ้าน

ถ้ารัฐบาลเข้าใจตรงนี้ผมคิดว่าสามารถคิดต่อยอดไปได้อีกมากมาย

ความเสียหายใหญ่ถ้ารัฐไม่เข้าใจสภาวะนี้ หนักที่สุดคือรัฐบาลกำลังจะทำให้พี่น้องเกษตรกรตกเป็นเบี้ยล่างบริษัทใหญ่ๆ มากขึ้น และทำให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถควบคุมเบ็ดเสร็จ วางแผน เกษตรพันธสัญญา ถ้ายังปล่อยไปอย่างนี้ไป รายเล็กรายน้อยจะตายไปเรื่อยๆ ก็ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทยักษ์ๆ เช่น ต้องสูญเสียที่ดินให้กับไร่สับปะรดจำนวนมากมาย แทนที่จะเป็นรายย่อยๆ กลับต้องเสียให้กับบริษัททำผลไม้กระป๋อง

ดังนั้น คนตัวเล็กตัวน้อยก็หลุดออกจากการเป็นเกษตรกรรายย่อย กลายเป็นแรงงานในภาคการเกษตรแทน นี่คือประเด็นใหญ่

และถ้ายังเป็นแบบนี้ ภาคเกษตรที่ครั้งหนึ่งเคยหล่อเลี้ยงชีวิตของเขา ชีวิตของคนไม่ต่ำกว่า 16 ล้านคนจะกลายเป็นกรรมกรในภาคเกษตร ซึ่งชีวิตของเขา หัวใจเขาก็ย่ำแย่ ก็ขอบอกตามตรงว่าผมก็ไม่มั่นใจรัฐมนตรีชุดนี้เท่าไหร่

เพราะที่ผ่านมาภาคการเกษตรเราใช้การอัดเงิน มันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เป็นการผลักภาระทั้งหมด มันตกอยู่กับพวกเรา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งอาจจะชอบวิธีแบบนี้เพราะเขาสามารถที่จะใช้แรงงานรับจ้าง ปลูกข้าวขาวที่ไม่ต้องการการดูแลมากมาย แล้วพอราคาตกต่ำ เขาก็ผลักภาระนี้มาให้รัฐบาล รัฐบาลก็ได้หน้าในการช่วยเกษตรกร ซึ่งกระบวนการแบบนี้มันไม่ได้ช่วยทำให้ภาคการเกษตรพัฒนาหรือว่าแข็งแรงขึ้นเลย

แทนที่ในวันนี้เราเริ่มมีข้าวตลาดเฉพาะมากขึ้น ถ้านโยบายยังเป็นแบบนี้จะทำให้การสร้างมูลค่าตลาดเฉพาะของข้าว เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว ไม่มีวันได้เติบโต มองจากตลาดข้าวออร์แกนิกทุกวันนี้ก็โตช้ามาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีเดิมๆ มาตลอด อันนี้คือเป็นวิธีมักง่าย แต่ดันกลายเป็นวิธีที่ทำให้การผลิตข้าวของเราสูง แต่เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำลงมาก

ข้าวขาวที่เราไม่ควรจะผลิตแล้วก็ยังคงมีการผลิตอยู่เพราะว่ามีการเข้ามาประกัน

แต่ทำไมเราไม่คิดกลับกันว่า เราคิดถึงการสร้างข้าวตลาดเฉพาะทางให้กระจายมากขึ้น เช่น คนชนชั้นกลางอยากจะกินข้าวที่พิเศษมากขึ้น รัฐก็หาวิธีสร้างหรือหนุนหรือเอื้อให้เกิดทางเลือกมากขึ้นได้

อ.อรรถจักร์ย้ำชัดว่า บริบทของชนบท ณ วันนี้แตกต่างจากในอดีตมาก ยิ่งในช่วงที่มีการเลือกตั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชัด ในสังคมชนบทสมัยก่อนมันเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิด โครงสร้างเดิมผู้นำท้องถิ่นเป็นตัวคอยเชื่อมกับคนข้างนอก กลไกรัฐก็จะลงไปตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านลงมาคุม ทันทีที่ผ่านการเลือกตั้งมา ระบบราชการไม่ค่อยได้ตอบสนองกับชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านเคยบอกว่าขอบ่อน้ำดันได้ถนน ขอถนนดันได้อย่างอื่น โครงสร้างแบบนี้จึงนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การซื้อเสียง” ในที่สุด

แต่วันนี้ชนบทเปลี่ยนไปแล้ว บริบทเปลี่ยนมันมีความไพศาล สังคมชาวนาแบบเดิมไม่มีอยู่อีกแล้ว กระบวนการเปลี่ยนแปลงทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองเขาเป็นอีกแบบหนึ่ง เขาเริ่มมีความเท่าเทียมกับหัวคะแนนมากขึ้น ดังนั้น วันนี้คนจะเลือกเพราะนโยบายไม่ได้เลือกหัวคะแนน ด้วยเหตุผลเพราะว่าเขาเริ่มกลายเป็นกลุ่มย่อยที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของกำนันผู้ใหญ่บ้านแบบเดิมอีกแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งวันนี้การเมืองในระดับท้องถิ่น เรื่อง อบต. อบจ. เทศบาลเปลี่ยนไปแล้ว เขาเลือกที่จะสามารถมีอำนาจกดดันผู้นำท้องถิ่นได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเขาเริ่มต่อเชื่อมกับนักการเมืองในระดับต่างๆ ได้มากขึ้น

ตรงนี้เองผมอยากจะเรียกว่า เป็นประชาธิปไตยจากข้างล่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาล

มุมมองถึงเรื่องความขัดแย้งในปัจจุบัน ผมคิดว่าตัวของความเป็นชนบทจริงๆ ไม่ใช่ความขัดแย้งหลัก เพราะในวันนี้ปัจจัยน่าจะเป็นลักษณะของชนชั้นมากกว่า ผมนึกถึงสิ่งที่กำลังเป็นประเด็น คือคำว่า ตลาดล่าง-ตลาดบน เมื่อก่อนเราใช้ไปในความหมายเชิงเศรษฐศาสตร์ เชิงบริหารธุรกิจ ตลาดล่างหมายถึงตลาดที่คนเยอะๆ แต่วันนี้มันกลายเป็นนัยยะของการดูถูกเหยียดหยาม และพี่น้องตลาดล่างเองก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นตลาดล่างต้องมีความปะทะเกิดขึ้น ในชนบทเองก็มีทั้งตลาดล่าง-ตลาดบน ในเมืองก็มีทั้งตลาดล่าง-ตลาดบน

ดังนั้น ตัวชนบทเองที่ครั้งหนึ่งเคยกลายเป็นตัวหลักในการเกิดความขัดแย้ง แต่วันนี้มันไม่ใช่ มันคละกันไปหมดแล้ว ผมยังรู้สึกเลยว่า ความเป็นชนชั้นจะเริ่มแรงมากขึ้น

ผมค่อนข้างไม่สบายใจทันทีที่ใช้คำว่าตลาดล่าง มันมีนัยยะของการดูถูกเหยียดหยาม ถ้ามันยังเป็นไปอย่างนี้ก็จะมองไม่เห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น

แล้วทฤษฎี 2 นคราของ อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ณ วันนี้มันเก่ามากไปแล้ว คนเป็นชนบทกับเมือง แต่ผมคิดว่าวันนี้ความขัดแย้งเปรียบเสมือน 2 ชั้นของขนมชั้นที่มันซ้อนทับกัน แปะๆ กัน แล้วลอกออกจากกันได้ ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน

นี่คือปัญหาของความขัดแย้งในปัจจุบัน ผมคิดว่ามันมีหน่ออ่อนมาในช่วง 10 กว่าปีมานี้ จากนี้ไปมันจะแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความสลับซับซ้อนมีมากขึ้น ความขัดแย้งหลักของคลาสยังมีความซับซ้อนด้วยความขัดแย้งระหว่างรุ่นเข้าไปอีก เช่น ปรากฏการณ์เลือกพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าชนชั้นนำไทยไม่ได้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน ผมเคยใช้คำว่า Party of Order คือว่าเขารวมกันเพื่อออเดอร์บางอย่างเท่านั้น และแต่ละกลุ่มก็จะเคลื่อนไหวไปในช่วงหนึ่ง พอสถานการณ์เปลี่ยน Party นี้ก็จะแตก ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแท้จริง ในแง่หนึ่งเราก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่า ท้ายที่สุดเขาจะเหยียบคนข้างล่างได้ไม่เต็มเท้า

ความเปราะในชนชั้นนำเริ่มเกิดมากขึ้น การรวมกลุ่มมันไม่ลงรอย ดังนั้น การที่ชนชั้นนำไม่แน่น ทำให้เขาไม่สามารถที่จะขยี้คนข้างล่างได้อย่างเต็มที่

ประการต่อมา ผมเชื่อว่าคนข้างล่างเอง เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ เขาเรียนรู้อดีต รู้การเคลื่อนไหว บางจังหวะเขาจะเดินหน้ามาก บางเวลาก็ต้องถอย ผมก็หวังไว้ว่าความขัดแย้งระหว่างข้างบน-ข้างล่างจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง

คงจะมองเห็นซึ่งกันและกันได้มากขึ้น