หนุ่มเมืองจันท์ | “เวลา” ที่หายไป

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน สัมภาษณ์คุณอนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บนเวทีในหลักสูตร ABC

แม้จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์บ่อย

แต่ผมก็ได้ความรู้ใหม่ๆ ทุกครั้ง

“อนันต์” นอกจากเป็นนักธุรกิจที่เก่งแล้ว เขายังเก่งมากเรื่องการบริหารคน

ที่ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” และบริษัทในเครือไม่มีกลิ่นไอของธุรกิจครอบครัว

เพราะไม่มีลูกหรือญาติพี่น้องของคุณอนันต์ทำงานเลย

มีแต่ “มืออาชีพ”

หลักการบริหารของเขา คือ อย่ากลัวลูกน้องเก่งกว่า

ยิ่งเก่งกว่ายิ่งดี เพราะบริษัทจะได้เติบโต

ยิ่งคิดแตกต่างยิ่งดี

เพราะถ้า “ลูกน้อง” คิดเหมือนกับเราทุกเรื่อง

องค์กรจะไม่พัฒนา

คุณอนันต์บอกว่า เจ้าของกิจการเหมือนกับเจ้าของสโมสรฟุตบอล

หน้าที่ของ “เจ้าของ” ไม่ใช่ลงไปเตะบอลในสนาม

แต่มีหน้าที่หา “นักเตะ” เก่งๆ

องค์กรที่ไม่เติบโตเพราะ “เจ้าของ” ชอบลงสนามเอง

ชอบลูกน้องที่เก่งน้อยกว่าตัวเอง

เพื่อจะได้รู้สึกว่าตัวเองเก่ง

บทพิสูจน์แนวคิดของคุณอนันต์ที่ดีที่สุด นอกจากผลประกอบการของบริษัทแล้ว

“มืออาชีพ” ที่ทำงานที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์และบริษัทในเครือล้วนเป็น “ลูกหม้อ” ที่ทำงานกับเขามายาวนาน

และที่สำคัญ “ลูกน้อง” แต่ละคนรวยมาก

ที่นี่จะมีการให้ “โบนัส” เป็น “หุ้น” แก่ผู้บริหารเรื่อยๆ

เพราะนอกเหนือจาก “เงินเดือน” และ “โบนัส” ปกติที่ได้ทุกปีแล้ว

ถ้า “มืออาชีพ” ทำให้บริษัทมีกำไรและเติบโตมากเท่าไร

ราคาหุ้นก็ขยับตัวขึ้นตามผลประกอบการ

เมื่อ “หุ้น” มีราคาสูงขึ้น สินทรัพย์ของแต่ละคนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เป็นการสร้าง “แรงจูงใจ” รูปแบบหนึ่ง

เชื่อไหมครับว่า หุ้นของผู้บริหารสูงสุดของ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์-คิวเฮ้าส์-โฮมโปร” และ “ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” แต่ละคนมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท

บางคนถึงระดับพันล้านบาท

ระดับ “เศรษฐี” และ “มหาเศรษฐี” กันทั้งนั้น

แต่ทำไมคนที่มีเงินเป็นร้อยหรือพันล้านยังยอมเป็น “ลูกน้อง” คุณอนันต์

นี่คือ “คำตอบ” เรื่องฝีมือการบริหาร “คน” ของเขา

ทำให้คนทำงานมีความสุข

มีอำนาจการตัดสินใจ

และได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ของ “ซีพี” ก็มีความคิดเรื่องการบริหารคนคล้ายกัน

วันที่ไปสัมภาษณ์ที่สถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์

คุณธนินท์เล่าเรื่องหลักสูตร “เถ้าแก่ใหญ่”

เขาดึงผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทในเครือทั้งหมดมาอบรมที่นี่

แบ่งเป็นกลุ่มทำกิจกรรมหรือโครงการร่วมกัน

ทุกคนจะได้รู้จักกันข้ามบริษัท

เพราะนับวัน “ซีพี” จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ผู้บริหารระดับสูงแต่ละบริษัทแทบไม่รู้จักกันเลย

คุณธนินท์เล่าว่า รุ่นแรกไม่ค่อยดีนัก

เพราะทุกคนยังห่วงงานที่รับผิดชอบ

ไม่ทุ่มเทกับการอบรมเท่าไรนัก

พอรุ่นต่อมา คุณธนินท์สั่งให้ทุกคนเลิกทำงานประจำ

อบรมอย่างเดียว

ให้ “ลูกน้อง” ทำงานแทน

บางคนก็แย้งว่า กลัวงานที่รับผิดชอบจะมีปัญหา

เพราะ “ลูกน้อง” ยังไม่เคยทำหลายเรื่องที่เขารับผิดชอบอยู่

คุณธนินท์ประกาศเลยว่า ถ้าคุณไม่อยู่แล้ว “ลูกน้อง” ทำงานแทนไม่ได้

คุณเป็นแค่ “เจ้านาย”

ไม่ใช่ “ผู้นำ”

“ผู้นำ” ต้อง “ใจกว้าง” กล้าสร้างคนขึ้นมาทดแทนตำแหน่งตัวเอง

เมื่อ “ท่านประธาน” ประกาศแบบนี้

ผู้บริหารทุกคนก็ต้องยอมทิ้งงานประจำที่รับผิดชอบอยู่

ปล่อยมือให้ “ลูกน้อง” บริหารแทน

คุณธนินท์บอกว่า หลังจากอบรมเสร็จ ผู้บริหารหลายคนเดินมาสารภาพว่าพอเขายอมปล่อยมือให้ “ลูกน้อง” มีอำนาจบริหารและตัดสินใจ

“บางเรื่องเขาทำได้ดีกว่าผมอีก”

“ธนินท์” เชื่อเหมือน “อนันต์”

ยิ่ง “ลูกน้อง” เก่งกว่าเรายิ่งดี

เพราะถ้าเขาไม่เก่งกว่า

องค์กรก็จะมีแต่ “ทรง” และ “ทรุด”

วันนั้น ตอนสัมภาษณ์คุณอนันต์ มีคำถามหนึ่งจากนักเรียน ABC

เขาถามว่าคุณอนันต์บริหารจัดการ “เวลา” อย่างไร

คาดว่าคนถามคงอยากได้คำตอบแบบ HOW TO

จัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องอย่างไร

ตื่นนอนกี่โมง จากนั้นทำอะไรบ้าง

ออกกำลังกายบ้างไหม

เข้านอนกี่โมง

อะไรประมาณนั้น

คุณอนันต์คิดอยู่แวบเดียว แล้วตอบแบบที่ผมนึกไม่ถึง

“คนเรามักเสียเวลาไปกับความไม่ไว้ใจ”

เขาบอกว่าพอเราไม่ไว้วางใจลูกน้อง ไม่เชื่อใจคนอื่น

เราจะเสียเวลากับการตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก

หรือพยายามสร้างระบบขึ้นมาให้ยุ่งยาก

เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ

ทั้งหมดเกิดจากความไม่เชื่อใจ

ไม่ไว้ใจคนทำงาน

ครับ คุณอนันต์กำลังบอกว่า ถ้าเราจัดการเรื่อง “ความไม่ไว้ใจ” เปลี่ยนเป็น “เชื่อใจ” ลูกน้องมากขึ้น

เราจะมี “เวลา” มากขึ้นในการทำสิ่งอื่นๆ

ที่ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” คุณอนันต์ให้อำนาจกับผู้บริหารระดับสูงทุกคนเต็มที่

เขาเคยบอกว่า ถ้าไม่ไว้ใจ ก็อย่าให้ทำงาน

ทำงานกันมาตั้งนาน ต้องเชื่อใจกัน

รู้ไหมครับว่าที่นี่ “กรรมการผู้จัดการ” มีอำนาจการอนุมัติเงินเท่าไร

ลองทายดูสิครับ

กี่ล้านบาท

คำตอบก็คือ “ไม่มี Limit”

อาจมีคนเซ็นชื่ออนุมัติร่วมด้วย

แต่ไม่ต้องผ่านคุณอนันต์

นั่นคือเหตุผลที่ “อนันต์ อัศวโภคิน” เชื่อว่าการบริหารจัดการเวลาที่ดีที่สุด

คือ “เชื่อใจ” ลูกน้อง

อย่าเสียเวลากับ “ความระแวง” หรือ “ความไม่ไว้วางใจ”

“คำตอบ” นี้ของคุณอนันต์คาดว่าจะถูกใจผู้ชายหลายคน

เขาคงอยากให้ “ภรรยา” คิดแบบนี้บ้าง