เพ็ญสุภา สุขคตะ : รูปลักษณ์ ความเชื่อ “แม่ธรณี” ในรัฐฉานและล้านนา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

การทำรูปเคารพ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ในวัฒนธรรมกลุ่มชน “ไท” เผ่าต่างๆ ทางตอนเหนือสุดของสยามคือกลุ่มล้านนา รวมไปถึงเขตรัฐฉานของพม่าแถวเมืองเชียงตุง เมืองยองนั้น มีรูปลักษณ์และความเชื่อที่แปลกออกไปจากคติการสร้าง “พระแม่ธรณี” (บ้างเรียก “แม่พระธรณี” แต่ชาวล้านนาเรียก “แม่ธรณี” หรือ “นางธรณี”) ผิกแผกแตกต่างไปจากทางสยามพอสมควร

กล่าวคือ ด้านคติการสร้าง “พระแม่ธรณี” ของสยามในอดีตนั้น พบมากบนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร อุโบสถ โดยจัดวางพระแม่ธรณีเป็นส่วนหนึ่งของพุทธประวัติตอนมารผจญ

แต่ของรัฐฉานและล้านนาภาพจิตรกรรมตอนมารผจญกลับไม่นิยมวาดภาพแม่ธรณีให้โดดเด่น

ในทางกลับกัน ได้มีการนำแม่ธรณีแยกออกมาจัดทำในลักษณะรูปปั้นแบบนูนสูงหรือลอยตัวในท่ายืน ไม่นิยมท่านั่งยองๆ กึ่งพับเพียบบิดเอนกาย

ผิดกับท่านั่ง “คลาสสิค” ที่เราคุ้นตาของทางภาคกลาง ดังเช่นภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยที่สุด ณ วัดชมภูเวก นนทบุรี เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว หากเป็นภาพสลักนูนสูงที่ผนังหอธรรม (หอไตร) ด้านนอก มีการจัดวางแม่ธรณีในซุ้มอาคารเคียงข้างกับเทวดาหรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า เทวปุต-เทวตา อื่นๆ ยิ่งในรัฐฉานพบว่ามีการนำรูป “นัต” (ชาวไทยยุคหลังเรียกขานกันแบบผิดๆ ว่า “เทพทันใจ”) มาวางคู่กับแม่ธรณีอีกด้วย

ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงมุมมองอันแตกต่างระหว่างสองแนวคิดสยาม-ล้านนาต่อพระแม่ธรณีว่าเป็นอย่างไรนั้น จำเป็นต้องศึกษาถึงปูมหลังของประวัติการสร้างพระแม่ธรณีในงานพุทธศิลป์ตั้งแต่ยุคแรกสุดก่อน

 

ปฐมสมโพธิกถา ครูบาเจ้าศรีวิชัย

เรื่องราวของฉากตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยต้องบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้าเพื่อฝ่าฟันกองทัพเสนามารที่มาผจญนั้น ในศิลปะอินเดียปรากฏรูปพระแม่ธรณีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ยุคคันธาระหรือที่เรียกว่า Greco-Buddhist ราว พ.ศ.600 แล้ว

แต่เป็นเพียงภาพสลักหินรูปสตรีโผล่พ้นดินขึ้นมาครึ่งตัว ซ่อนอยู่ใต้ม้ากัณฐกะเท่านั้น กระทั่งในยุคคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 9-12 ค่อยๆ พัฒนารูปพระแม่ธรณีมาเป็นรูปหญิงสาวนั่งเบื้องหน้าพระพุทธเจ้าแล้วถือคนโทน้ำเทไหลลงมา

คือยังใช้ “คนโทน้ำ” (หม้อปูรณะฆฏะ) ก่อนจะใช้สัญลักษณ์การ “บีบมวยผม”

นักโบราณคดีชื่อ Luce กล่าวว่าการทำรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมแทนการถือคนโทน้ำมีขึ้นครั้งแรกในศิลปะพม่าสมัยพุกามราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

จากนั้นก็กระจายไปทั่วอุษาคเนย์ บนแผ่นดินสยามพบหลักฐานภาพสลักบนแท่นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่เก่าที่สุดจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี

สมัยอยุธยาตอนปลายเริ่มพบจิตรกรรมฝาผนังภาพพระแม่ธรณีชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม สกุลช่างเมืองเพชรบุรี เป็นต้น

ทว่า หลักฐานด้านลายลักษณ์ที่กล่าวถึงเรื่องราวตอนมารผจญอย่างละเอียดนั้นปรากฏอยู่ในคัมภีร์ “ปฐมสมโพธิกถา” แต่งโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อ พ.ศ.2388

อนึ่ง คำว่า “พระปฐมสมโพธิ์” นั้นถือว่าเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติที่แต่งขึ้นในชั้นหลัง ไม่ใช่คัมภีร์ที่มีมาในยุคดั้งเดิมตั้งแต่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกๆ

เนื้อหาของปฐมสมโพธิกถาฉบับกรมพระปรมานุชิตฯ มีทั้งหมด 29 ปริเฉท เรื่องราวของพระแม่ธรณีบีบมวยผมปรากฏอยู่ในปริเฉทที่ 9 ตอน “มารวิชัยปริวรรต”

นักปราชญ์ด้านภาษาและวรรณกรรมกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า สมัยอยุธยามีคัมภีร์ที่เป็นต้นเค้าให้แก่ปฐมสมโพธิ์ยุครัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว ชื่อ “ชินมหานิทานกถา” เขียนเป็นตัวอักษรขอมบนใบลาน ใช้ภาษาบาลี ไม่ปรากฏชื่อผู้รจนา

ต้นฉบับเดิมไม่เหลือแล้ว มีแต่ฉบับคัดลอกต่อๆ กันมา

น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแผ่นดินล้านนาพบคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์เช่นกัน แม้จะพบเพียง 9 ปริเฉทก็ตาม เนื่องจากมีอายุเก่าแก่กว่าของสยามถึง 260 ปี คือแต่งในปี พ.ศ.2128 เป็นผลงานการรจนาของพระสุวรรณรังษี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ (ต่อมาดำรงตำแหน่งพระสังฆราชที่เมืองเวียงจันทน์)

คัมภีร์ดังกล่าวพบที่วัดพระธาตุแก่งสร้อย จังหวัดตาก ซึ่งปฐมสมโพธิกถาฉบับล้านนาน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับชินมหานิทานกถาของอยุธยา

ต่อมาได้มีการคัดลอกคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์ของพระสุวรรณรังษีสืบต่อๆ กันมา รวมไปถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนาก็คัดลอกไว้หลายฉบับมอบถวายวัดต่างๆ ด้วยเช่นกันระหว่าง พ.ศ.2463-2478

พบว่าใน “คำไหว้บารมี 9 ชั้น” คาถาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยใช้สวดเวลาค่ำคืน มีการเรียกคุณพระแม่ธรณีและคุณทั้งปวงมาคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติอันตรายเสมอ มีข้อความดังนี้

“สาธุ สาธุ พระปัญญาบารมีสามสิบทัศ สาธุพระปัญญาบารมีวัติ (วัติ-รั้ว) แวดล้อม วิริยบารมีอ้อมระวังดี ศีลบารมีบังหอกดาบ เมตตาบารมีปราบแพ้ทั้งปืน ทานบารมีให้เป็นผืนตั้งต่อ อุเบกขาบารมีให้ก่อเป็นลำเวียง (ลำเวียง-รั้วระเบียงหอก) สัจจบารมีแวดระวังดีเป็นไต้ (ไต้-คบไฟ) ขันติบารมีกลายเกิดเป็นหอกดาบบังหน้าไม้และปืนไฟ อธิษฐานบารมีผันปราบไปทุกแห่ง

แข็งแข็ง แรงแรง ปราบฝูงหมู่มาร ผีสาง พรายเปรตทุกทวีปภพ ถีบพังพ่ายหนี นางธรณีอัศจรรย์โสต (โสต-ได้ยิน) เมื่อขณะกำลังสยายผมอยู่คว้างๆ น้ำนทีนองกว้างต่อกว้างแตกตีฟองนองกระฉอกเป็นข้าวตอกดอกไม้ มาถวายบูชาพระแก่นไท้ทรงธรรม์ พระพุทธเจ้าเฮย จงเสด็จมาโปรดจงยกโทษโปรดผู้ข้าแท้ด้วย แม่ธรณีออกมารีดน้ำมวยผมอยู่ที่ธาตุ ช้างร้ายคลายกระชัง (บังสาด) งาสับดิน พ่นน้ำนทีนองพลัดพราย คอพลายหักทบท่าว พญามารร้องอ้าวอ้าว ประหนึ่งกลัว”

เห็นได้ว่า “คำไหว้บารมี 9 ชั้น” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็คือการจำลองภาพเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าถูกมารผจญมาย่อเป็นคำสวดนั่นเอง

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ชาวล้านนารู้จักเรื่องราวของแม่ธรณีผ่านคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์ของพระสุวรรณรังษีตั้งแต่ พ.ศ.2128 หรือราว 400 กว่าปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย

และได้รับการตอกย้ำซ้ำอีกราว 100 ปีที่ผ่านมาโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย

 

Mother Goddess แม่ธรณี ปฤถวี ภูเทวี

พระแม่ธรณีคือใคร

แนวคิดเรื่อง “พระแม่ธรณี” อันที่จริงมีแฝงอยู่แล้วทั่วทุกหัวระแหงในสังคมเกษตรกรรม ผ่านความเชื่อเรื่อง “เทพีผู้คุ้มครองโลก” หรือ “เทพมารดร”

ดังที่ทางสากลเรียกว่า Mother Goddess ในฐานะผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร

คำอธิบายในยุคพระเวทเรียกพระแม่ธรณีว่า “ปฤถวี” หรือ “ปฐพี” (แปลว่าแผ่ขยาย) นางปรากฏกายคู่กับเทพฝ่ายชายชื่อ “ทยาอุส” ผู้ครองชั้นฟ้า ทั้งสองมีโอรสด้วยกันคือ “เทพอัคนี”

หน้าที่ของปฤถวีในยุคแรกสุดคือ การเป็นแม่ผู้เปี่ยมการุณย์ เห็นได้จากการวิงวอนร้องขอให้พระแม่ช่วยแผ่ความกรุณาแก่ผู้คนในช่วงที่ใกล้ตาย ก่อนที่ศพของเขาจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดิน

ต่อมายุคที่ศาสนาพราหมณ์ปฏิรูปไปเป็นศาสนาฮินดูแล้ว ระบุว่า “นางธรณี” มีชื่อว่า “นางภูเทวี” หรือเทพีผู้รักษาแผ่นดิน เป็นธิดาของท้าวหิมวัตและนางเมนกา โดยนางภูเทวียังเป็นพี่น้องกับพระแม่คงคาและพระแม่อุมาเทวีอีกด้วย

นางภูเทวีได้เป็นชายาองค์ที่สองของพระวิษณุ (ชายาองค์แรกคือลักษมีเทวี) สืบเนื่องจากนางถูกยักษ์หิรัณยากษะรังแก พระวิษณุหรือพระนารายณ์จึงอวตารมาเป็น “หมูป่า” (วราหาวตาร) ช่วยแซะธรณีที่ยักษ์ม้วนนางภูเทวีไว้ให้คลายออก

บางตำนานระบุว่า นางภูเทวีมีโอรสกับพระวิษณุ 1 องค์ชื่อ พระอังคาร

ตำนานฝ่ายล้านนาเรียกนางธรณีแบบย้อนกลับไปเป็นชื่อโบราณดั้งเดิมว่า “นางปฤถวี” โดยระบุว่าเป็นลูกของ “ท้าวฤๅราช” เทพที่รักษาอากาศ กับ “นางนาฏกลมทรวง” เทพีผู้รักษาแม่น้ำทั้ง 5 พี่ชายของนางปฤถวีชื่อ “ท้าวพวงธะรี” ทำหน้าที่รักษาขอบจักรวาล ส่วนชื่อนางธรณีหรือปฤถวี เรียกในภาษาถิ่นล้านนาได้ว่า “นางหล้านาฏน้อย” มีหน้าที่รักษาแผ่นดิน

เห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องพระแม่ธรณีของทางล้านนานั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงรับคติดั้งเดิมของคัมภีร์ยุคพระเวทที่ตกค้างมาแล้วอย่างมาก นั่นคือเน้นระบบเครือญาติที่เกื้อกูลกันในกลุ่มธรรมชาติ ดิน น้ำ ฟ้า อากาศธาตุ

ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างนางธรณีกับพระวิษณุตามความเชื่อของฮินดูก็ปรากฏให้เห็น ในตอนที่ชาวล้านนาจะปลูกบ้านแปลงเรือน มักหยิบยกคัมภีร์เล่มหนึ่งชื่อ “พิสนูถามนางธรณี” (พิสนู – อ่านพิดสะหนู หมายถึงพระวิษณุกรรม) มากล่าวถึง โดยพระพิสนูเทพผู้สร้างถามนางธรณีว่า “เหตุใดคนทั้งหลายจึงประสบสิ่งที่ดีหรือเลวในชีวิตแตกต่างกัน”

นางธรณีจะตอบว่า “เป็นเพราะมนุษย์เลือกทำเลทิศทางการสร้างบ้านที่ผิดแผกกันไป บ้างสร้างบนที่สูง บ้างสร้างบนที่ต่ำ บ้างถมหนองน้ำ บ้างทำลายต้นไม้…”

คัมภีร์นี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่คนเราจะอยู่เย็นเป็นสุขได้นั้น มีผลมาจากการรู้จักเคารพดิน น้ำ ฟ้า ต้นไม้ในธรรมชาติ หากผู้ใดไม่เคารพอาจเกิด “ขึด” (หายนะ) ได้ในการดำรงชีวิต

เหตุที่นางธรณีสามารถตอบคำถามพระวิษณุกรรมได้ทุกข้อนั้น ก็เนื่องมาจากการที่นางอาศัยในโลกนี้มานานแล้วนั่นเอง นับแต่เป็นประจักษ์พยานในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ รวมทั้งคอยจดจำการทำบุญของมนุษย์ทุกคนผ่านการ “หยาดน้ำหมายทาน” ส่งผลให้ในวัฒนธรรมล้านนาและกลุ่มคน “ไท” ในรัฐฉานเน้นการทำบุญส่งให้แม่ธรณีมิได้ขาด

ไม่ว่าเทศกาลปีใหม่เมือง (สงกรานต์) เข้าพรรษา ออกพรรษา ยี่เป็ง (ลอยกระทง) หรืองานมงคลต่างๆ หลังจากที่ชาวล้านนาสักการะท้าวทั้ง 4 (ท้าวจัตุโลกบาล ผู้รักษาทิศทั้ง 4 บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา) แล้ว ต้องมีการนำกระทงใส่ข้าวตอกดอกไม้มาเซ่นบวงสรวงบูชาต่อแม่ธรณีเสมอ

หรือมาตรแม้นมีการทำสิ่งสกปรกตกลงสู่พื้นดิน ไม่ว่าการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ โรคระบาด งานเผาศพ ฝังศพ ที่ชาวล้านนาเชื่อว่าทำให้ “ดินเสีย” ชาวล้านนาต้องกล่าวคำขอขมาต่อแม่ธรณีทุกครั้งไป

 

ด้วยเหตุนี้ คติการทำรูปเคารพของแม่ธรณีจึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของพุทธประวัติตอนผจญมารเท่านั้น

ทว่า ชาวล้านนาและชาวไทกลุ่มต่างๆ ยังนิยมสร้างรูปแม่ธรณีติดตั้งไว้เคียงคู่กับรูปเทวดาที่เป็นตัวแทนของท้าวทั้ง 4 ประดับตามผนังหอธรรม ซุ้มสถูป หรือวางไว้ข้างธรณีประตูก่อนก้าวข้ามเข้าไปในวิหารอีกด้วย

ในกลุ่มวัฒนธรรมไทขึนที่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน สหภาพเมียนมา ในรอบ 20-30 ปีมานี้ ได้มีการทำนุบำรุงฟื้นฟูวัด แทบทุกแห่งได้ซ่อมแซมทาสีรูปปั้นพระแม่ธรณียืนบีบมวยผมขึ้นมาใหม่ (จากเดิมที่มีอยู่แล้วแต่ชำรุดทรุดโทรมไป) โดยให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าหน้าผมสวยงามประณีตมากเป็นพิเศษ

และน่าสังเกตว่าแม่ธรณียุคปัจจุบันมีผิวกายขาวผ่อง ไม่ใช่ผิวกายดำแบบที่ระบุถึงรูปโฉมโนมพรรณในคัมภีร์ว่า “แม่ธรณีนี้มีผิวกายดำ” อันสืบเนื่องมาจากการเป็นเทพีพื้นเมืองของชาวทมิฬมาก่อนที่อารยันจะเข้ามาปกครองอินเดีย

เกี่ยวกับผิวกายขาวนี้ เจ้าอาวาสวัดอินทร์ที่เมืองเชียงตุงอธิบายให้ดิฉันฟังว่า “แม้ในคัมภีร์จะระบุว่าแม่ธรณีผิวกายดำก็ตาม แต่การตีความของสล่าชาวไทขึนมองว่าผิวกายที่ขาวนวลนั้น จะให้ความรู้สึกว่าแม่ธรณีอยู่ในวรรณะสูง ให้ความเมตตา อิ่มเอิบด้วยพลังแห่งความดี ซึ่งสีขาวเป็นคู่ตรงข้ามกับสีดำ สีดำน่าจะเป็นสีของพญามารมากกว่า”

จึงเข้าใจได้ว่า ไฉนวัดในวัฒนธรรมไท-พม่าหลายแห่ง เราจึงพบพระแม่ธรณี (ยุคหลังๆ) ในรูปลักษณ์ที่สวยสดงดงามอย่างยิ่ง