วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ย้อนประวัติ ‘นายกฯ ลิ้นทอง’ หนีปฏิวัติ

วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ย้อนประวัติ ‘นายกฯ ลิ้นทอง’ หนีปฏิวัติ

ห้วงเวลาเปลี่ยนไปอีกปี และอีกปี นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ฉบับปกในตัวด้วยกระดาษ “นิวส์ปรินส์” เดินหน้าเข้าสู่ปีที่สองที่สาม ต้นฉบับทั้งของนักเขียนประจำ “กาแฟดำ” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “สหจร” เจญ เจตนธรรม สุรีย์ ภูมิภมร การ์ตูน “พิจารณ์” กวี กระวาด ยังเข้มข้นแข็งขัน

แลลอดเลนส์ เริ่มฉบับแรกจากฝีมือ ชาญ ผดุงคำ (หัวหน้าช่างภาพมาตั้งแต่สมัยประชาชาติ) ในชื่อ “เห็นพระไม่เห็นพระ” พร้อมบทกวีของนักกลอนที่คงทนมานาน แต่ไม่เปิดเผยชื่อ ร่ายบทกลอนว่า

 

ซื้อพระส่องพระไม่เห็นพระ         เห็นแต่ดิน โลหะ เป็นรูปร่าง

บอดด้วยทิพย์แห่งธรรมถูกอำพราง             หวังแต่รูปที่จะสร้างอิทธิฤทธิ์

หวังเมตตา, ปาฏิหาริย์ให้คนรัก      ให้หนังเหนียว, มีดหัก, ยิงผิด

ดีชั่วอยู่กับตัวต่างไม่คิด                             หยิบดินทรายศักดิ์สิทธิ์ขึ้นบูชา

 

เป็นภาพแผงจำหน่ายพระแบกะดิน มีชายหนุ่มแก่นั่งยองส่องพระด้วยแว่นเลนส์อย่างตั้งใจจริงจัง

คอลัมน์ “มุมห้อง” จาก เดช ภราดา สถาปัตยกรรมไทยมหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนทั้งมุมห้องและมุมเมืองเพื่อความร่มรื่นน่าอยู่ของบ้านของเมืองด้วยสายตาสถาปนิกหนุ่มผู้รักธรรมชาติและไม่ดูถูกคนจน

ทำหนังสือ หากินกับหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์จึงไม่ขาดความรู้เรื่องและความเคลื่อนไหวในวงการหนังสือและนักเขียนรวมผู้อ่านจากนามปากกา เมฆ วรรณกรรม กับพวก

ดังที่บอกกล่าวมาแล้วว่า ข่าวคราวเรื่องคน ใน “คนๆๆ” ฝีมือ “หญิงเล็ก” ที่คลุกคลีในวงไฮโซและเจาะลึกในวงการนักการเมือง นายทหาร นายตำรวจ จึงหยิบสิ่งละอันพันละน้อยมาเรียงร้อยเรื่องราวให้ผู้อ่านได้อ่านแสบๆ คันๆ

รวมถึงเรื่องอาหารการกิน และตำรับตำราอาหารของใครบางคนน่าสนใจไม่น้อย

 

เมื่อเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ต้องมีคอลัมน์ให้ครบครัน ทั้งกีฬา บันเทิง ในประเทศและต่างประเทศ ไม่ละทิ้งศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งเป็นรากของบ้านเมือง ดังนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ “คนดีศรีอยุธยา” ที่เข้มข้นลึกลงไปในเหตุการณ์รอยต่อระหว่างตอนปลายกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ยามบ้านแตกสาแหรกขาด ฝีมือระดับปรมาจารย์ เสนีย์ เสาวพงศ์

หรือนักเขียนมือใหม่ที่เป็นทั้งหนอนหนังสือและผู้ติดตามเหตุการณ์ทางการเมือง เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เวลาร่าย “จดหมายถึงพ่อเปรม” จากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “สี่แผ่นดิน” เฉพาะเรื่อง “พ่อเปรม” ที่ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” หยิบเหตุการณ์ระหว่างรัชกาลที่ 7 จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง “ยอน ละเมียด” หยิบมาเขียนล้อในห้วงเวลาที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อเนื่องจากมติชนรายวัน คือสัมภาษณ์บุคคลของผู้มีตำแหน่งหน้าที่ขณะที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องกันมานำเสนอในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ เริ่มด้วย พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ผู้ได้รับฉายาจากหนังสือพิมพ์ว่า “นายกฯ ลิ้นทอง”

หนึ่งใน “คณะราษฎร” ทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 แล้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490

ในแต่ละการรัฐประหาร บุคคลสำคัญที่คณะรัฐประหารต้องจับกุมให้ได้คือนายกรัฐมนตรี

“นายกฯ ลิ้นทอง” รับคำถามอยากทราบเหตุการณ์ตอนจอมพล ป. ปฏิวัติล้มรัฐบาลที่ท่านเป็นนายกฯ

คำตอบมีว่า

 

ตอนนั้นโรงเรียนสายปัญญาจัดงานหาทุนช่วยคนอดข้าว หลานสาวผมเป็นครูที่โรงเรียนนั้นก็ให้ผมไปช่วย ตอนนั้นผมอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง มีหลวงประดิษฐ์ และหลวงอดุลย์ ก็นั่งคุย

ผมบอกว่า ได้ข่าวว่าทหารปฏิวัติกันไม่ใช่หรือ หลวงอดุลย์บอกโอ๊ย ไม่หรอก ตราบใดที่แกเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกจะไม่ยอมให้มีการปฏิวัติ พอบ่ายผมก็มาที่สวนอัมพร ระหว่างนั่งคุยอยู่กับทูตทหารอังกฤษ เดี๋ยวนี้แก่มาก แกมาอยู่เมืองไทยได้ภรรยาเป็นคนไทย เลี้ยงผึ้งที่ศรีราชา แกบอกมีรถถังไปที่บ้าน ผมก็รู้ว่าปฏิวัติ ผมก็เลยแล่นรถอยู่ในถนนทั้งคืน

(ท่านไปหลบอยู่ที่ไหนหรือ) เปล่า ผมแล่นรถไปตามถนน พอรุ่งเช้าจะไปบ้านญาติที่บางนา แล่นรถถึงบางกะปิ พบรถถังแล่นสวนก็จอดบังเงาอยู่ที่สถานทูตอังกฤษ ไปยืนบังเงาอยู่ที่ตึกซึ่งเป็นที่อยู่ของที่ปรึกษา ที่ปรึกษาทูตแกเปิดหน้าต่างเห็นผมยืนหลบอยู่ แกก็ลงมาถามว่ามายืนทำไม แกก็พาไปรับประทานอาหารเช้า บอกว่าแกส่งโทรเลขไปที่อังกฤษแล้วบอกว่าผมลี้ภัยอยู่ที่นี่ ผมบอกไม่ได้หรอก

มิสเตอร์ดอลล์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลังก็ชวนผมไปพักที่บ้านแก ผมก็ไปที่บ้านเขา ก็…ที่หน้าบ้านเขามีตำรวจยืนรักษาการณ์อยู่ 2 คน ผมได้ยินวิทยุประกาศให้ค่าตัวผมเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ผมอยู่จนเย็นแล้วก็ขอตัวออกไปพักตามบ้านเพื่อนที่บ้านคุณปฐม โพธิ์แก้ว อยู่บ้านคนโน้นคืน คนนี้คืน

คุณพระพินิจชนคดีแกไปคุยกับคุณหญิงละเอียดว่า วันนี้แกต้องจับตัวผมได้แน่ๆ แกบอกว่าแกให้สันติบาลสืบดูรู้ที่อยู่แล้ว–ตอนนั้นผมไปอยู่บ้านหลานที่ประตูน้ำ

(ท่านระหกระเหินนานไหม) ตั้งเดือนหนึ่ง ผลสุดท้ายผมไปลงเรือที่สาทร เผอิญผมมีเรืออยู่ลำหนึ่ง ซื้อเอาไว้ เวลานั้นส่งลูกไปเรียนนอกคิดว่าจะได้ค่าเช่าเอาไว้ส่งลูก ก็เลยได้ใช้เรือไปนอก

(ไปไหนบ้าง) ก็ลงเรือไปตามเกาะแก่งทางตะวันออก ไปซื้อปลาจับปลาขายห้องเย็น พวกประมงบางจังหวัดเขาก็รู้ บางคนยกเมฆเอาว่าผมไปอยู่ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง

(ท่านไปช่วยจับปลาบ้างหรือเปล่า) ไปดูเขา นายท้ายเรือเป็นบ๋อยประจำตัว อยู่สัก 2-3 อาทิตย์ก็ไปขึ้นเรือไปไหหลำ อยู่ชั่วคราวก็ไปกวางตุ้ง และฮ่องกงอยู่ปีหนึ่ง

(อยู่ต่างประเทศลำบากไหม) คิดถึงบ้าน ไม่ลำบากแต่คิดถึงบ้าน ผมมีเพื่อนอยู่ที่นั่น

(ตอนท่านกลับมารัฐบาลมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง) ไม่มี คุณเผ่าไปรับ แกบอกว่าอย่าเพิ่งไปอยู่บ้านเลย มีมือที่สามจะมาทำร้ายผม จะจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แกก็ชวนผมไปนอนที่วังปารุสก์

(ยังติดตามข่าวคราวของกองทัพไหม เช่น พวกยังเติร์ก) ก็ยังติดตามอยู่ พวกยังเติร์กก็เป็นพวกที่มีความคิดรุนแรง สมัยผมเห็นจะไม่มี

การทำหน้าที่หนังสือพิมพ์ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ถูกปฏิวัติ ได้รับคำตอบซึ่งนำมาเขียนบันทึกไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์เช่นนี้ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว

เช่น เหตุการณ์การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พบว่า ทั้งผู้ปฏิวัติและผู้ถูกปฏิวัติมักไม่ผูกใจเจ็บ ถูกยึดอำนาจแล้วก็แล้วกันไป

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนได้ ดังที่ว่า การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นนิรันดร์