จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 20-26 กันยายน 2562

จดหมาย

 

0 ขยะ

 

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

ขอพักเรื่องการเมืองก่อน

และขอร่อนจดหมายน้อยนี้มาขอให้ท่านเป็นสื่อกลางเพื่อสอบถาม “ผู้รู้”

เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และกำจัดขยะ และขยะพลาสติก (คุณทวีศักดิ์ บุตรตัน)

เพราะแม้ผู้เขียนจะสนใจที่จะรักษ์โลก

ด้วยการลดใช้ถุงพลาสติก แต่ก็งงๆ อยู่กับมาตรการที่ในความรู้สึกแบบชาวบ้าน

ดูมันจะย้อนแย้งกัน พยายามหาคำตอบหลายเจ้า แต่ไม่เป็นผล

1) ขณะนี้มีการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งก็ดูเหมือนดี

แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าเราไม่รับถุงพลาสติกของห้าง และใช้ถุงผ้าแทน

ผู้เขียนพบว่า ถุงพลาสติกของห้างสามารถนำมาใช้ซ้ำ

REUSE เป็นถุงขยะได้โดยไม่ต้องใช้ถุงดำ ซึ่งน่าจะย่อยยากกว่าถุงพลาสติกที่แจกให้เสียอีก

เพราะถุงพลาสติกของหลายห้างเป็นแบบย่อยสลาย (biodegradable) ได้

อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวว่า ถุงที่ย่อยสลายได้นี้สามารถทำให้เกิด microplastic (จริงหรือไม่)

ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมไม่ใช้ถุงกระดาษ ซึ่งย่อยสลายได้แทน

หรือจริงๆ แล้วการรณรรงค์เรื่องนี้เป็นประเด็นแอบแฝงเรื่องต้นทุน

ผู้เขียนมองว่า ต้นทุนของถุงกระดาษเป็นปัญหาก็น่าจะอยู่ในระดับ “สตางค์” มากกว่า “บาท”

ถ้าบวกเข้าไปในราคาสินค้าก็คงไม่กระเทือนมากนัก

ขอความกระจ่างด้วย

2) ผู้เขียนเห็นการรณรงค์ลดแต่ถุงพลาสติกที่ใส่สินค้าจากห้างเท่านั้น

แต่ไม่เห็นมีการรณรงค์ลดถุงหรือพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

เช่น ถุงกับข้าว กล่องใส่อาหาร พลาสติกห่ออาหาร หรือพลาสติกรองอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยวแห้ง (ทำไมไม่ใช้ใบตองแทน) ฯลฯ

พลาสติกพวกนี้ อาจมีการใช้มากกว่าถุงที่ใช้ตามห้างเสียอีก

และเป็นการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งด้วย

3) การกำจัดขยะ นั้นมีขยะหลายประเภทที่ไม่รู้จะกำจัดอย่างไร

เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเรือน ฯลฯ (อาจมีบางหน่วยงานทำอยู่ เช่น มูลนิธิสวนแก้ว ฯลฯ แต่ก็เป็นในวงแคบ ด้วยข้อจำกัดทางสถานที่/ปริมาณ ที่รองรับ/วัตถุประสงค์)

ทำไมเราไม่ใช้เครือข่าย “ซาเล้ง” มารองรับ ซึ่งจะเกิดภาวะวิน-วิน

ผู้กำจัดได้เงินค่าขาย แม้จะไม่มากก็ตาม

ส่วนซาเล้งก็มีรายได้จากการนำไปให้ผู้ประกอบการที่นำกลับไปเข้ากระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบ

ซึ่งน่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศเรา

เพราะในต่างประเทศ ผู้ส่งกำจัด ต้องเสียเงินในการกำจัด

ผู้เขียนคิดว่า ถ้าตั้งเครือข่ายซาเล้ง และมีการอบรมการแยกและคัดขยะนำไปรีไซเคิลน่าจะเป็นผลดี

เรามีซาเล้งคู่บ้านคู่เมืองมานานแล้ว ทำไมไม่ใช้ประโยชน์

4) ใน กทม. ไม่เห็นมีกระบวนการที่เอื้อต่อการกำจัดขยะ

ที่นอกเหนือจากขยะรายวัน ก็ได้ข่าวว่าบางเขตมีกระบวนการรับขยะเหล่านี้ตามบ้าน แต่เขตที่ผู้เขียนอยู่ไม่เห็นมี

หรือถ้ามีก็คงอ่อนประชาสัมพันธ์

5) ภาครัฐมัวทำอะไรอยู่ ไม่เห็นการรณรงค์การแยกขยะให้ชัดเจน

ผู้เขียนเห็นในต่างประเทศ

เขาแนะนำชัดเจนว่า ขยะอะไรควรแยกอย่างไร ชนิดไหนรีไซเคิลได้/ไม่ได้

ของไทยไม่มีความชัดเจน ให้เอกชนทำไม่พอหรอก

ขอแสดงความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

คําตอบ หรือการร่วมแสดงความคิดเห็น

ในแง่มุมต่างๆ นั้น

โยนให้ทวีศักดิ์ บุตรตัน แห่งคอลัมน์สิ่งแวดล้อม

เป็นผู้สนอง

จะผ่านคอลัมน์ หรืออื่นใด ยินดีสนับสนุน

ว่าที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของเรา แลไปรอบๆ ก็มองเห็นแล้ว

หากเราเริ่มมีจิตสำนึก

และเริ่มลงมือทำจากตัวของเรา

ปัญหาก็จะลดลงระดับหนึ่ง

แต่ที่ไม่ลด เพราะเรามักตะโกนให้คนอื่นทำ

แต่เราก็หิ้วและทิ้งถุงพลาสติกสบายใจเฉิบ

 

0 หักมุม

 

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์

ท่านว่า

1) คนพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย จะขาดความเชื่อถือ

2) ผู้นำไม่รักษาคำพูด จะไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

3) คนโกหกบ่อยๆ คือโมฆะบุรุษ

ไม่นานคนก็รู้ รู้เช่นเห็นชาติ และไม่นานจะเกิดวิกฤตศรัทธา

และจะนำมาซึ่งความหายนะในที่สุด

นี้คือความจริง

จริงหรือป่าว

บักหำน้อย

 

ตั้ง “ลำ” มาเสียดี

พร้อมจะกดปุ่มเห็นด้วยกับสิ่งที่ “ท่านว่า” อยู่แล้วเชียว

แล้วไหงมาหักมุมเลี้ยว

ด้วยคำถาม “จริงหรือป่าว”

เสียดื้อๆ ล่ะพ่อหำน้อย!