นักการเมืองกับข้าราชการ (3) | มนัส สัตยารักษ์

นักการเมืองกับข้าราชการ (3)

หลังจากเกิดกรณี “วิวาทะ” ระหว่างนักการเมือง (นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ) กับตำรวจ (พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รอง ผกก.ป. สภ.กะรน จ.ภูเก็ต) ผมประเมินได้ว่าประดาสื่อทั้งหลายโดยเฉพาะสื่อโซเชียลต่างรุมถล่มพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของฝ่าย ส.ส. ราว 99.8 เปอร์เซ็นต์

มีที่ตำหนิฝ่ายตำรวจเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ หรือแค่ 2 ราย แต่ก็ตำหนิไปที่ผู้บังคับบัญชาของรองประเทือง

รายหนึ่งหงุดหงิดที่มีข่าว ผกก.สภ.กะรน พ.ต.อ.ประวิทย์ สุทธิเรืองอรุณ ขอโทษนายสิระ จึงโวยวายมาในสื่อโซเชียลว่า “ไปขอโทษมันทำไม?”

พ.ต.อ.ประวิทย์ต้องออกมาปฏิเสธและชี้แจงว่าไม่ได้ขอโทษ เพียงแต่ไปปรับความเข้าใจการทำหน้าที่ของตำรวจเท่านั้น

รายหนึ่งคอมเมนต์ด้วยความหงุดหงิดที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไม่พูดถึงกรณีนี้เลย ปล่อยให้รองโฆษก สตช. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ออกมาแสดงความชื่นชม รอง ผกก.ป.สภ.กะรน โดยไม่เอ่ยถึงความกร่างของ ส.ส.แต่อย่างใด

แต่ผมกลับเห็นด้วยที่ ผบ.ตร.ไม่ลดตัวลงไป “ชน” กับนักการเมืองแบบนี้ และเห็นด้วยที่รองโฆษก สตช.ไม่เอ่ยถึงพฤติกรรมกร่างของของ ส.ส. เพราะท่าน ส.ส.ยังอยู่ในฐานะที่คนระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ฯลฯ ยังต้องเกรงใจ!

แค่ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมือง (โดยไม่จำต้องมีตำแหน่งแห่งหนอะไร) ก็อาจจะมีพฤติกรรม “กร่าง” ได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร

ขวัญชัย ไพรพนา ชื่อจริงคือ นายขวัญชัย สาราคำ ทำรายการวิทยุเสียงสามยอด จังหวัดขอนแก่น เป็นเจ้าของรายการ “คลื่นมวลชนสัมพันธ์” เชียร์นักร้องลูกทุ่ง

ต่อมาในยุคที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายขวัญชัยเข้ามามีบทบาทเชียร์และปกป้องรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

เป็นแกนนำคนสำคัญของ นปช.อุดรธานี และขึ้นป้าย “อาณาจักรคนเสื้อแดง” ไว้ในที่สาธารณะ

นปช.เป็นคำย่อของ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” ในยุคที่เฟื่องฟู นายขวัญชัยสามารถระดมคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมได้เป็นหมื่นคน

นายขวัญชัยไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในทางปกครองตามกฎหมาย แม้กระทั่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหรือ ส.ต. (สอบตก)

แต่มีอิทธิพลโดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของพรรคการเมือง “ไม่ปฏิเสธ” หรือ “ไม่กล้าปฏิเสธ” จึงแสดงอาการกร่างได้อย่างย่ามใจ

นายขวัญชัยเคยแต่งเครื่องแบบคล้ายหรือเหมือนตำรวจ ตชด.ชั้นนายพล เป็นภาพข่าวเผยแพร่ไปทั่ว สื่อให้นามเชิงล้อเลียนว่า “พลตำรวจจัตวา” (ซึ่งเคยมีอยู่จริงและเลิกใช้ไปนานแล้ว)

ครั้งหนึ่งนายขวัญชัยแต่งเครื่องแบบลักษณะนี้เข้าไปในสภา แม้จะถูกสมาชิกพรรคฝ่ายค้านโจมตีอย่างรุนแรง แต่นายขวัญชัยก็ไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

นายขวัญชัยเคยประกาศว่า “ตำรวจระดับผู้บังคับการในพื้นที่ภาคอีสานเหนือ หากใครจะย้ายต้องคุยกับนายขวัญชัยก่อน”

ผลของพฤติกรรมกร่างจะเป็นจริงหรือไม่-ไม่ทราบ แต่ก็มีนายตำรวจระดับใหญ่ ไป “ต้อนรับและดูแล” (อย่างที่ ส.ส.ในยุคนี้บางคนต้องการ)!

ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า การวางตัวของข้าราชการตำรวจให้มีความสัมพันธ์กับนักการเมือง เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อตัวตำรวจเองหรือไม่อย่างไร เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ทั้งที่ได้ดิบได้ดีตามคาดหวัง โตเร็วและได้อยู่ในตำแหน่งที่มีผลประโยชน์ กับอีกพวกหนึ่งที่ “ว่างเปล่า” โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย นอกจากเสียงประณามจากเพื่อนร่วมอาชีพ

แต่ราชการและบ้านเมืองนั้นเสียหายแน่นอน เป็นที่ประจักษ์ชัดกันมานานแล้วว่าปรากฏการณ์เชิงลบเหล่านี้สร้างความเสื่อมเสียมาทุกยุคสมัย

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงบัญญัติไว้ในมาตรา 185 กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ไว้อย่างค่อนข้างรัดกุม ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องต่างๆ

รวมถึงเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน หรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการประจำ

ดูรายละเอียดจากมาตรา 185 นี้แล้วประเทศเราไม่น่าจะมีปัญหาระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำ แต่ดังที่ตระหนักกันดีว่า ประเทศเราใช้ระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรมในการบริหาร… การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการมีอิทธิพลกว่า!

เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2561 มีผู้อ่านท่านหนึ่งบ่นมาทาง gmail ด้วยความสงสัยว่า “ทำไมสื่อประโคมข่าวการทำงานของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล (ยศขณะนั้น) อย่างมากจนผิดสังเกต (และน่ารำคาญ)”

ผมไม่ได้ตอบ gmail ดังกล่าวด้วยอคติที่ชอบประวัติและการทำงานของบิ๊กโจ๊ก ประกอบกับยังไม่ไว้ใจสื่อว่า “ประโคม” ข่าวจริงหรือข่าวปลอม ผมมาเขียนถึงการ “โตเร็วผิดปกติ” ของเขาที่คอลัมน์นี้ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 21-27 กันยายน 2561 เมื่อประจักษ์ชัดว่าเขาโตเร็วผิดปกติเพราะนักการเมืองระดับรองนายกรัฐมนตรี

ปิดท้ายคอลัมน์ว่า “ไม่ต้องเป็นห่วงบิ๊กโจ๊กหรอกครับ เว้นแต่ว่าต่อไปจะมีรัฐบาลชุดใหม่มาแทนรัฐบาล คสช. แล้วรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาที่รัฐบาล คสช.ทำไว้ ต้องใช้วิธีเดิมที่ทำมาทุกรัฐบาล…แขวน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นที่ปรึกษาที่ไหนสักแห่ง…เป็นที่น่าเสียดาย”

เพื่อนนายตำรวจที่อ่านคอลัมน์ของผม ไลน์มาวิจารณ์ว่า “ไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่เขียน” หลังจากนั้นเพียงไม่นาน บิ๊กโจ๊กก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการและเลื่อนยศเป็น พล.ต.ท.

ทำให้ผมไม่สบายใจอยู่พักหนึ่ง เพราะเท่ากับเขียนให้ร้าย “การเมืองแบบ คสช.” และเหมือนแช่งบิ๊กโจ๊ก

ครั้นแล้ววันที่ 9 เมษายน 2562 “สถานการณ์แปรผันอย่างรวดเร็ว” (สำนวนของกิมย้ง) หน.คสช. ก็มีคำสั่ง ม.44 ให้บิ๊กโจ๊กพ้นสถานะตำรวจ ไปเป็นข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรํฐมนตรี ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่!

และผมก็กลายเป็น สว. (สูงวัย) วาจาสิทธิ์มาแต่บัดนั้น (ฮา)

จากเหตุการณ์ ตามสำนวน “สถานการณ์แปรผันอย่างรวดเร็ว” ที่เกิดขึ้นเป็นประจำซ้ำซาก ผมจึงเห็นด้วยที่ ผบ.ตร. และรองโฆษก สตช. ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ไม่เอ่ยถึง ไม่ชน และไม่สัมผัสกับนักการเมืองที่ได้ชื่อว่า “กร่าง” กับข้าราชการตำรวจ

นักการเมืองไม่ว่าจะระดับไหน มีตำแหน่งหรือไม่มีก็ตาม ล้วนมีอิทธิฤทธิ์ที่คาดไม่ถึงให้รัฐบาลต้อง “แปรผันอย่างรวดเร็ว” อยู่เสมอ