สุรชาติ บำรุงสุข | ปัญหาความมั่นคง 12 ประการ ความท้าทายรัฐบาลไทยปัจจุบัน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สุดท้ายแล้ว เป้าหมายง่ายๆ ก็คือ ความปลอดภัยและความมั่นคง”

Jodi Rell

วันนี้ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลที่กรุงเทพฯ พวกเขาจะเผชิญกับปัญหาความมั่นคงชุดใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า

ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนเห็นได้ชัดเจนถึงภาวะ “โลกล้อมรัฐ” ที่ผู้บริหารรัฐไทยจะต้องเตรียมรับมือกับพลวัตของโลกที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นโจทย์สำคัญ

และในอีกส่วนก็เป็นปัญหาความมั่นคงที่เกิดจากเงื่อนไขภายในของไทยเอง

บทความนี้จะนำเสนอปัญหาความมั่นคงไทย 12 ประการ ดังนี้

ปัญหาความมั่นคงในเวทีโลก

1)ปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ (International Security)

การเดินทางสู่ศตวรรษที่ 21 ของการเมืองโลกนั้น เห็นได้ชัดถึงการเติบใหญ่ของจีน จนวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ถึงความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของจีนในเวทีโลก การก้าวสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่เช่นนี้ย่อมนำไปสู่การต่อสู้และแข่งขันกับรัฐมหาอำนาจเก่าที่เป็นผู้ควบคุมระเบียบระหว่างประเทศไว้แต่เดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับในโลกปัจจุบันแล้วสหรัฐอเมริกาคือมหาอำนาจเก่า ในขณะที่จีนคือมหาอำนาจใหม่

ซึ่งในด้านหนึ่งของปัญหาก็คือ การแข่งขันชุดนี้จะจบลงด้วยสงคราม เช่น กรณีสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา

การต่อสู้ระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

หรือการแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่

ขณะเดียวกัน ถ้าการแข่งขันเช่นนี้ทวีความเข้มข้นมากขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับการเมืองโลก

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลไทยจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรกับปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เป็นแกนกลางของปัญหา

และที่สำคัญ ผู้นำไทยจะต้องไม่พาประเทศไปสู่การมีพันธะกับรัฐมหาอำนาจ จนกลายเป็นการเลือกข้าง และขาดเสรีภาพในการกำหนดนโยบายของตนเอง

2)ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic Security)

ในบริบทการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจเช่นนี้ โลกยังได้เห็นถึงการต่อสู้ในอีกชุดหนึ่งที่เป็นเรื่องของ “สงครามการค้า”

การตัดสินใจของผู้นำสหรัฐที่จะใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือในการกดดันจีน ทำให้การแข่งของรัฐมหาอำนาจดำรงอยู่ทั้งในบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างชัด

แน่นอนว่าสงครามการค้ามีความรุนแรงในตัวเอง เพราะรัฐผู้ใช้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะบีบรัดให้รัฐเป้าหมายยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง

ในอีกด้าน จีนในปีปัจจุบันได้เปิดการตอบโต้ครั้งนี้ด้วยมาตรการทางการเงิน จนการต่อสู้ที่เกิดขึ้นกำลังมีสภาวะของการเป็น “สงครามการเงิน” คู่ขนานกับสงครามการค้า

ผลที่เกิดกับโลกที่น่ากังวลก็คือ เรากำลังเข้าสู่ยุคของ “สงครามเศรษฐกิจ” ในการเมืองโลกอย่างแท้จริง

สงครามเช่นนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกจากช่วงนี้ไปจนถึงปีหน้าย่อมมีอาการถดถอย โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาสดใสอาจจะใช้เวลาอีกระยะ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าสงครามเศรษฐกิจใช้เวลานานและจบยาก ในสภาวะเช่นนี้การกำหนดทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจของไทยจึงมีความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

การเล่น “ไพ่จีน” (China Card) อย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับอนาคต

3)ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security)

ความพลิกผันของสถานการณ์ในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะความตึงเครียดที่เกิดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ที่นำไปสู่ปัญหาในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งพลังงานของโลก

หลายฝ่ายกังวลว่าหากความขัดแย้งดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการลำเลียงน้ำมันที่ผ่านช่องแคบนี้

หรือหากสถานการณ์ทรุดตัวลง ก็มีความกังวลว่าอิหร่านจะใช้มาตรการทางทหารตอบโต้อย่างไร ตลอดรวมถึงความกังวลอย่างมากว่า

สุดท้ายแล้วอิหร่านจะปิดช่องแคบนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ ถ้าปัญหาดังกล่าวขยายตัวมากขึ้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานของโลกอย่างแน่นอน

รัฐบาลปัจจุบันจึงไม่ควรที่จะละเลยต่อปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานของโลก เพราะหากเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัวขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันอาจขยับตัวสูงขึ้น และย่อมส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานภายในของไทย

อันจะกลายเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจไทยในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ปัญหาความมั่นคงภายใน

4)ปัญหาความมั่นคงภายใน (Internal Security)

ประเด็นสำคัญของปัญหาความมั่นคงภายในของไทยเป็นปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งปัญหานี้ดำรงอยู่ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 และนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะสร้างเวทีการเจรจากับผู้เห็นต่าง แต่ก็มิได้ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นลดลงแต่ประการใด

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องแบกรับปัญหานี้ต่อไป

อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดนั้น ยังไม่มีแนวโน้มที่ยุติความรุนแรงได้จริง

และขณะเดียวกันก็ยังไม่เห็นทิศทางในเชิงนโยบายต่อการจัดการปัญหาภาคใต้จากรัฐบาลปัจจุบันแต่อย่างใด

5)ปัญหาความมั่นคงเมือง (Urban Security)

เราคงต้องตระหนักร่วมกันว่า ภูมิรัฐศาสตร์การสงครามในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีความเป็นสงครามชนบท

แต่ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 เป็นสงครามเมือง และในทำนองเดียวกัน เมืองในศตวรรษที่ 21 ได้กลายเป็นพื้นที่ของการก่อเหตุรุนแรง

ดังจะเห็นได้ว่าการก่อการร้ายปัจจุบันมีลักษณะเป็น “การก่อการร้ายในเมือง” (Urban Terrorism)

ผลจากการนี้ทำให้ต้องคิดเตรียมเรื่อง “ความมั่นคงเมือง” ซึ่งในโลกตะวันตกหลังจากเหตุก่อการร้ายใหญ่ในวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้ว

การเตรียมเมืองเพื่อรับกับความรุนแรง/การก่อการร้ายถือเป็นโจทย์ความมั่นคงที่สำคัญ

และวันนี้สังคมไทยเริ่มเห็นมากขึ้นถึงการวางระเบิดในเมือง

อันเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนว่า รัฐและสังคมไทยจะละทิ้งปัญหาความมั่นคงเมืองไม่ได้

6)ปัญหาความมั่นคงทางการเมือง (Political Security)

ความมั่นคงทางการเมืองมีนัยโดยตรงถึงปัญหาเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งผลจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน

ทำให้ประเทศประสบปัญหาเสถียรภาพอย่างมาก และยังส่งผลสืบเนื่องให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่มีความมั่นคงในตัวเอง

ในอีกด้านที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่อย่างมากในสังคมการเมืองไทยนั้น ทำให้การเมืองไทยมีโอกาสที่จะเกิดสภาวะไร้เสถียรภาพได้ง่าย

อีกทั้งการขยายตัวของการใช้สื่อโซเชียลในการสร้างความขัดแย้ง เช่น การสร้างวาจาแห่งความเกลียดชัง (hate speech) ถือเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่ลดระดับลง

ฉะนั้น รัฐและสังคมไทยอาจจะต้องคิดเรื่องการสร้าง “สังคมหลังความขัดแย้ง”

เพื่อเป็นหนทางของการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในอนาคต

ปัญหาความมั่นคงใหม่ (Non-Traditional Security)

7)ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security)

หากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกมีภาวะถดถอยแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ปัจจุบันไม่อยู่ในภาวะขาขึ้นแต่ประการใด

ประกอบกับแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตร มูลค่าการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น ไม่อยู่ในสภาพที่เป็นเชิงบวกแต่อย่างใด

ฉะนั้น สภาวะเช่นนี้อาจจะนำไปสู่การลดการผลิตของภาคอุตสาหกรรม การลดการลงทุนจากภายนอก ตลอดรวมถึงการลดการจ้างงานภายในประเทศ

ซึ่งการลดลงของสามปัจจัยเช่นนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้นในอนาคต

และที่สำคัญ การลดการจ้างงานที่หมายถึงการปลดคนงาน หรือการจูงใจให้คนลาออก อาจนำไปสู่การตกงานที่เป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 1997 (พ.ศ.2540) มาแล้ว

อีกทั้งปัญหาเช่นนี้ยังอาจถูกสำทับจากปัญหาพลังงาน และปัญหาภัยแล้งที่อาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในอนาคต

และในที่สุดปัญหานี้จะกลายเป็นวิกฤตการเมืองและปัญหาความมั่นคงในตัวเองด้วย

8)ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและความมั่นคง (Climate Change and Security)

แม้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศจะดูเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นประเด็นการเคลื่อนไหวในโลกตะวันตก จนอาจทำให้ผู้นำและผู้คนในสังคมไทยบางส่วนไม่ตระหนักว่าปัญหานี้มีผลกระทบด้านความมั่นคงด้วย

หากในระยะที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มสัมผัสมากขึ้นกับผลพวงที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

ดังจะเห็นได้ว่าภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับจำนวนพายุที่มีมากขึ้น หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เห็นถึงความผันแปรของอากาศมากขึ้นเช่นกัน

หรือในกรณีของไทยที่กำลังเผชิญกับภัยแล้งและปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น

ซึ่งความแปรปรวนของอากาศจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างแน่นอน

9)ปัญหาความมั่นคงเรื่องน้ำ (Water Security)

ผลจากภัยแล้งที่มีนัยเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ จะนำไปสู่ปัญหาความขาดแคลนน้ำ และในบางกรณีอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่มีความเกี่ยวกับน้ำ

แม้ในเงื่อนไขภายในของไทย ความขัดแย้งนี้จะยังไม่นำไปสู่สภาวะของ “สงครามน้ำ” เช่นที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

แต่อย่างน้อยในหลายปีที่ผ่าน เมื่อสภาวะภัยแล้งเกิดขึ้น ก็จะเห็นได้ว่ามีความขัดแย้งเรื่องน้ำเกิดมากขึ้นด้วย

ฉะนั้น ภาครัฐและสังคมคงต้องตระหนักร่วมกันถึง การบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน อันจะเป็นเงื่อนไขในการสร้าง “ความมั่นคงเรื่องน้ำ” ให้เกิดขึ้นจริง

รัฐและสังคมคงต้องยอมรับว่า โอกาสที่ไทยจะมีน้ำใช้อย่างบริบูรณ์โดยไม่ขาดแคลนนั้น ไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว

แต่การบริหารจัดการที่ดีต่างหากที่จะเป็นหลักประกันว่า สังคมไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำทั้งในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งน้ำสำหรับภาคเกษตรไทยด้วย

ในอีกส่วนของปัญหาความมั่นคงเรื่องน้ำยังโยงกับแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การใช้และการควบคุมของจีนในฐานะ “รัฐต้นน้ำ” มากขึ้น รัฐในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่รวมถึงไทยล้วนแต่มีสถานะเป็น “รัฐท้ายน้ำ”

การคิดเรื่องความมั่นคงเรื่องน้ำในบริบทของแม่น้ำโขงจึงเป็นปัญหาความมั่นคงอีกประเด็น

10)ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security)

มีความกังวลว่าหากภัยแล้งขยายตัวในช่วงฤดูเพาะปลูกของสังคมไทยแล้ว การทำการเกษตรและ/หรือการผลิตอาหารอาจจะได้รับผลกระทบ

เช่น อาจนำไปสู่ราคาข้าวสารที่แพงมากขึ้น หรืออาจมีผลกระทบต่อพืชอาหารอื่นๆ

ดังนั้น ปัญหาภัยแล้งที่อาจนำมาซึ่งการลดลงของผลผลิตอาหารจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลจะต้องใส่ใจ และอาจจะต้องคิดถึงเช่นนี้ในระยะยาวด้วย

เพราะความผันผวนของสภาวะอากาศเป็นโจทย์ระยะยาวในตัวเอง

11)การอพยพของคนและปัญหาความมั่นคง (Migration and Security)

ประเด็นการอพยพย้ายถิ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงใหม่ของโลกยุคหลังสงครามเย็น

ปัญหานี้มีทั้งบริบทระหว่างประเทศและบริบทภายใน

ในด้านระหว่างประเทศนั้น การอพยพของชาวโรฮิงญายังคงเป็นประเด็นสำคัญในภูมิภาค แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ของเมียนมาดูจะลดความรุนแรงลงในช่วงที่ผ่านมา

แต่ปัญหาผู้อพยพยังคงเป็นประเด็นในภูมิภาค

ในด้านภายใน หากสถานการณ์ความแล้งมีมากขึ้นในชนบท และการทำการเกษตรมีปัญหามากขึ้นแล้ว มักจะทำให้เกิดปัญหา “การอพยพภายใน” คือการอพยพของคนจากชนบทเพื่อเข้ามาหางานในเมือง

ซึ่งก็จะทำให้เมืองต้องรองรับปัญหามากขึ้นด้วย

และโจทย์สำคัญอีกประการคือ การอพยพของชาวจีนในปัจจุบันที่เข้ามาในไทยมากขึ้น

12)ปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security)

ในช่วงปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพที่สำคัญคือ กรณีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แม้ประเด็นนี้อาจจะเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Security) ที่สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมของไทยมีสภาวะที่เป็นมลพิษมากขึ้น

และเมื่อผนวกเข้ากับการก่อสร้างและการทำอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มี “วิกฤตฝุ่น” เกิดขึ้นในสังคมอีก และตามมาด้วยคำถามที่สำคัญว่า ถ้าปัญหาเกิดขึ้นอีกในปีนี้ รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร หรือรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรที่จะเตรียมตัวในการรับมือกับปัญหานี้

โจทย์ความมั่นคง 12 ประการดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นนั้น บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลที่กรุงเทพฯ โจทย์เหล่านี้จะไม่หนีหายไปไหน

และยิ่งนานวันขึ้น โจทย์เหล่านี้จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นด้วย!