คำ ผกา : สื่อโลกเก่า vs สื่อโลกใหม่

คำ ผกา
AFP PHOTO / HOANG DINH NAM

“ทุกวันนี้ คนดูยังไม่เห็นเนื้อหาที่แตกต่างของทีวีดิจิตอล ที่คุยกันคำโตก่อนประมูลคลื่น เพราะสุดท้ายแล้ว เกือบทุกๆ ช่องก็ทำเหมือนกัน มีเกมโชว์เหมือนกัน มีประกวดร้องเพลงในช่วงก่อนไพรม์ไทม์เหมือนกัน มีรายการเล่าข่าวเหมือนกัน ผ่านมาระยะหนึ่ง พวกเขาก็พบความจริงว่า เกมโชว์และความบันเทิงนั้นคือเนื้อหาที่ครองใจคนส่วนใหญ่ และพยายามทำให้เหมือนเขา แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะหรือแชร์ส่วนแบ่งบันเทิงจากรายการหรือช่องบันเทิงดั้งเดิมที่แข็งแกร่งได้

ความแข็งแกร่งของช่องข่าว ถูกลดทอนด้วยรายการเกมโชว์ และบันเทิง ในขณะที่ช่องบันเทิง ก็พยายามสร้าง brand awareness เรื่องข่าว คล้ายให้รู้ว่าไม่ใช่มีเพียงบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น หากยังมีความเข้มข้นของข่าวอยู่ด้วย แน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะเมื่อจับดารา เซเลบทั้งหลายมานั่งอ่านข่าว แต่ไม่เข้าใจเรื่องข่าว หรือแม้กระทั่งความคาดหวังในผู้ประกาศข่าวที่เชื่อว่าจะเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดผู้คนได้ แต่ไม่ลึกซึ้งเรื่องข่าว

ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ผลประกอบการกลุ่มทีวีดิจิตอล ที่อยู่ในตลาดหุ้น ไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนกันโดยทั่วหน้า โดยเฉพาะช่องข่าวที่เคยฝันว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ เหลือเพียงช่อง 3 เวิร์คพอยท์ และอาร์เอสเท่านั้น ที่ยังมีกำไรต่อเนื่อง ส่วนทีวีดิจิตอลในกลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ไม่มีข้อมูล

ความล่มสลายขององค์กร แยกไม่ออกจากตัวคน เมื่อ กสทช. ตีธงเขียว ให้สัญญาณเริ่มแข่งขันเมื่อเดือนเมษายน 2557 ปรากฏการณ์ “มนุษย์ทองคำ” ย้ายค่าย ตั้งราคาต่อรอง ก็คึกคักยิ่ง เพราะในขณะเริ่มต้นทีวีดิจิตอลนั้น คนข่าวระดับชำนาญการที่สามารถเริ่มต้นงานได้มีน้อยอย่างยิ่ง ไม่แตกต่างไปจากปรากฏการณ์มนุษย์ทองคำช่วงก่อนหน้าปี 2540 ที่คนข่าวหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยถูกซื้อตัว

ยังไม่ต้องกล่าวถึงคนข่าวจำนวนหนึ่งที่ถูกยกขึ้นเป็นระดับชำนาญการ โดยที่อายุราชการยังน้อย ความสามารถไม่ถึง ความรู้เรื่องข่าวมีปัญหา ความสำนึกเรื่องจริยธรรมต่ำ แต่กว่าจะรู้ความจริงก็สายเกิน”

https://www.facebook.com/jr.ethics/?fref=nf&pnref=story

ข้อความข้างต้นมาจากเพจในเฟซบุ๊กชื่อ จริยธรรมวารสารศาสตร์ ในหัวข้อ “ความตายของทีวีดิจิตอล” ซึ่งเมื่ออ่านแล้วให้ “ขำ” หนักมาก

และจะขอชี้แจงความขำไปตามที่จะนึกออกดังต่อไปนี้

บทความนี้บ่นว่า ก่อนประมูลทีวีดิจิตอล มีการคุยโวว่า จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่เมื่อมีทีวีออกมาหลายสิบช่องก็ไม่เห็นจะมีอะไรแตกต่าง ทุกช่องก็มีประกวดร้องเพลง เกมโชว์ เล่าข่าว เหมือนกันหมด

สิ่งที่ฉันอยากจะถามคือ แล้วรายการทีวีในโลกนี้มีกี่ประเภทกันล่ะ รายการทีวีในโลกนี้มันก็มีประกวดร้องเพลง ประกวดทาเลนต์ มีเล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว มีสารคดี แล้วก็มีเกมโชว์ ทั้งนั้นมิใช่หรือ?

แต่ถ้าจะบอกว่า รายการทั้งหมดนี้มันด้อยคุณภาพ ซึ่งฉันยอมรับว่าจริง

แต่ถามหน่อยเถอะว่า สมัยที่มีทีวีผูกขาดไม่กี่ช่อง เราเคยมีรายการประกวดร้องเพลง เล่าข่าว เกมโชว์ที่มีคุณภาพกว่านี้หรือ?

บอกตามตรงว่าสมัยก่อนมีทีวีดาวเทียม สมัยก่อนมีทีวีดิจิตอล นั่งดูรายการข่าวทีวีไทย นั้นมีความเย็นยะเยียบและมีความเชยระดับดูซอมบี้อ่านข่าว ออกมาเป็นบล็อก เป็นแพตเทิร์น เป็นแอ๊กติ้งยุคหลังสงครามเย็นขั้นสุด

จนเมื่อมีความพยายามปฏิวัติวงการข่าวบ้าง โดย ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กับกำเนิดของไอทีวี แต่เมื่อเทียบกับทีวีประเทศโลกที่หนึ่งของเราก็ยังดูเป็น “ทีวียุคสงครามเย็น” อยู่นั่นแหละ ไม่ต้องพูดไวยากรณ์ข่าวแบบสถานีวิทยุแห่งประเทศที่ตรึงเราไว้ด้วยเพลงปลุกใจอย่างหนักแผ่นดินเอย อะไรเลย : น่ากลัวน้อยหรือนั่น

เมื่อมีทีวีดาวเทียม มีทีวีดิจิตอล ต่อให้คุณภาพยังห่วยแตกขนาดไหน อย่างน้อยก็มีทางเลือก และความกล้าหาญจะแหวกออกจากขนบเดิมๆ บ้าง

และขออนุญาตยกหางตัวเองว่า รายการข่าวของช่องวอยซ์ทีวีและรายการดีว่าส์คาเฟ่ คือรายการแรกที่ให้ผู้หญิงพูดเรื่องซีเรียส พูดเรื่องการเมือง โดยแต่งตัวเปิดเผยผิวหนัง ล้างความเชื่อที่ว่า ความน่าเชื่อถือมาพร้อมกับสูท (ยุคหลังสงครามเย็น) แถมยังนั่งไขว่ห้างให้คนด่า จนคนเลิกด่าและยอมรับได้ในที่สุดว่านี่คือท่านั่งแบบสากล

จนในที่สุด เดี๋ยวนี้ผู้ประกาศข่าว สวมเดรส แขนกุดกันในหลายช่อง และเลิกทำหน้าแบบมนุษย์ยุคต้านคอมมิวนิสต์เสียที หรือเลิกใส่แอ๊กติ้งเว่อร์ๆ แบบคุณวิทวัสยุคอ่านข่าวพยากรณ์อากาศยุคแรก

ส่วนประเด็นช่องข่าวจะกระเสือกกระสนไปทำรายการบันเทิง ช่องบันเทิงจะลองกระเสือกกระสนทำรายการข่าวให้ได้ดี ก็ขอถามหน่อยว่า มันไม่ดีตรงไหน?

ช่องข่าวมีรายการวาไรตี้ ช่องวาไรตี้มีรายการข่าวตามสัดส่วนที่ กสทช. กำหนด ก็ถูกต้องแล้ว ทำได้ดี หรือทำแล้ว แป้ก ทำแล้ว เฟล ก็เป็นเรื่องที่แต่ละช่องค่อยๆ เรียนรู้ ปรับปรุง

ที่แน่ๆ คนดูเป็นคนตัดสิน คนทำทีวีเอกชนที่ไม่มีประชาชนมาค้ำยัน ไม่มีใครเอาเงินมาเผาทิ้งกับรายการที่ “เฟล” ทำแล้วเฟลก็ปรับออก สร้างรายการใหม่ คนไหนทำแล้วเฟลก็ปรับออก เป็นกลไกการตลาดแบบชัดเจน

ส่วนช่องไหนอยากจะบริหารงานแบบช่องราชการ เน้นเด็กเส้น เน้นคอนเน็กชั่นก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ทำแล้วไม่มีคนดู ทำแล้วเจ๊ง แต่ละช่อง แต่ละนายทุนก็ต้องรับผิดชอบผลงานการบริหารของตัวเอง

ไม่เหมือนช่องทีวีเก่าๆ ที่ทำแล้วเจ๊ง ทำแล้วไม่มีคนดู แต่ก็ยังอยู่มาได้ เพราะมีเงินอุดหนุน

ส่วนจะเอาดารามาอ่านข่าว จะเอาแม่เหล็กที่ไม่เข้าใจข่าวมาอ่านข่าว มันก็เป็นกลยุทธ์ของแต่ละช่อง และเรื่องแบบนี้ “คนดู” จะเป็นคนตัดสิน ไม่ต้องให้เจ้าพ่อเจ้าแม่จริยธรรม จริยศาสตร์ที่ไหนมาตัดสิน เพราะฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เจ้าพ่อ เจ้าแม่จริยศาสตร์เหล่านั้นใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าใครเข้าใจข่าว ใครไม่เข้าใจข่าว ว่ากันให้ถึงที่สุด

รายการข่าวที่เรตติ้งสูงมากๆ ทุกวันนี้ ก็เป็นรายการเล่าข่าว ตามวัฒนธรรมมุขปาฐะแบบที่คนไทยคุ้นเคย เช่น อ่านข่าวประโยคหนึ่งซ้ำไปมาประมาณห้ารอบ เดินหน้าแล้วถอยหลังกลับมาพูดประโยคเดิม แล้วก็เล่าแบบเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีประเด็น ไม่ต้องมีธีม ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรลึกซึ้ง

รายการเล่าข่าวเรตติ้งดีๆ บางรายการ เสนอเนื้อหา ฉ้อฉล บิดเบือน พลิกสีขาวเป็นสีดำ พลิกสีดำเป็นสีขาว แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็ไม่เห็นว่าเราจะต้องไปรังเกียจรังงอนอะไรเขา เพราแต่ละคน แต่ละช่อง ก็มี “วาระ” มี “อุดมการณ์” ของตัวเอง จะอ่านดี อ่านห่วย จะวิเคราะห์ แบบเป็นร่ายชาดก พูดไปเรื่อยๆ ให้หมดเวลา แล้วคนดูก็ชอบเพราะฟังเพลินไม่ต้องตั้งใจฟังมาก อาศัยเสียงเป็นเพื่อน – เหล่านี้ก็ปล่อยให้สังคมคัดสรร จัดการไปตามวุฒิภาวะของสังคมนั่นแหละ

ถ้าสังคมไทยเจริญก้าวหน้าทางปัญญาขึ้นมากๆ ไอ้รายการอ่านข่าวเหมือนร่ายชาดกเหล่านี้ วันหนึ่งมันก็จะล้มหายตายจากไปเอง ไม่ต้องมาอาศัยมือผู้พิพากษาทางจริยศาสตร์สื่อที่ไหนมาเที่ยวตัดสินคนนั้นคนนี้ตามรสนิยมของตน

แล้วฉันก็ยังอยากยืนยันอีกครั้งว่า ต่อให้ตอนนี้มีสื่อฉ้อฉล สื่อเลือกข้าง สื่อเล่าข่าวบิดเบือนมากขนาดไหน แต่ก็ยังดีกว่าสมัยที่เรามีแต่สื่อที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาล ดังเช่นโทรทัศน์ในยุคเผด็จการตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา มีสื่อเลวๆ มากช่องที่มีอิสระ ยังดีกว่ามีสื่อสองสามช่องแต่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาลทุกช่องไม่ใช่หรือ?

เพราะในอิสรภาพของสื่อและผู้เสพสื่อ ท้ายที่สุดมันก็จะเกิดการแข่งขัน ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ จนสื่อที่ไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเองอยู่ไม่ได้

แต่สมัยที่เรามีแต่สื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐสิ – ใครจะกล้าหือ แถมยังถูกปิดหูปิดตาหลงเชื่อว่า ไอ้ที่พูดในทีวีของรัฐนั้นคือความจริงแท้ – โคตรน่ากลัว โคตรสยองสมอง

ไล่ลงมาอีกนิด บทความนี้บอกว่า คนข่าวถูกยกให้ผู้ชำนาญการ โดยที่อายุราชการยังน้อย

เดี๋ยวนะ อะไรคืออายุราชการ???? ทีวีดิจิตอล ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ พนักงานไม่ใช่ข้าราชการ ทำไมใช้คำว่าอายุราชการล่ะ หรือว่าอยู่ในระบบราชการจนชิน? เอาเป็นว่าหมายถึง “อายุงานใช่ไหม?” ขอยกมาอ่านกันอีกรอบเลย

“ยังไม่ต้องกล่าวถึงคนข่าวจำนวนหนึ่งที่ถูกยกขึ้นเป็นระดับชำนาญการ โดยที่อายุราชการยังน้อย ความสามารถไม่ถึง ความรู้เรื่องข่าวมีปัญหา ความสำนึกเรื่องจริยธรรมต่ำ”

ถ้าใช้ภาษาในโลกโซเชียล ก็ต้องบอกว่า “พูดอย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอ?” การที่อายุงานน้อย เท่ากับความสามารถไม่ถึง เท่ากับความรู้เรื่องข่าวมีปัญหา เท่ากับสำนึกเรื่องจริยธรรมต่ำ จริงหรือ?

อ่านแล้วเลยอยากรู้ อายุราชการของผู้เขียนบทความ ว่ามีอายุราชการเท่าไหร่ จึงสามารถเขียนหนังสือบนตรรกะเช่นนี้ได้

อายุงานน้อย อาจจะประสบการณ์น้อย แต่ไม่ได้แปลว่าจะมีความสามารถน้อยตามไปด้วย

ไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาเข้าใจ “โลกสมัยใหม่” มากกว่าคนรุ่นเก่า การเข้าใจโลกสมัยใหม่คือหัวใจของคนทำงานสื่อ คนที่อายุงานยาวนานจำนวนมาก ที่สักแต่ทำงานมานานแต่อาจจะไม่เคยมีพัฒนาการใดๆ ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ยังใช้มโนทัศน์เดิมๆ ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ใหม่ๆ ไม่รู้จักสื่อใหม่ ไม่รู้จักนักคิด นักเขียนร่วมสมัย ไม่เข้าใจวัฒนธรรมป๊อป ฯลฯ

คนเหล่านี้ต่างหากที่หากไม่ปรับตัว ไม่ขยันติดตามเทรนด์ของโลกในแง่วุฒิปัญญา ในไม่ช้า พวกเขาก็จะกลายเป็นฟอสซิลที่ก่นด่าว่าคนรุ่นใหม่หยาบช้า เกินกว่าจะเข้าใจงานเขียนของพวกเขาแล้วเฝ้าสะอื้นกับตัวเอง

อายุงานน้อย มีสำนึกเรื่องจริยธรรม – ประโยคนี้ยิ่งวิบัติในเชิงตรรกะ อายุน้อย อายุราชการน้อย อายุการทำงานน้อย ไม่เกี่ยวอะไรกับจรรยาบรรณวิชาชีพหรือ สำนึกเรื่องจริยธรรม ทุกวันนี้เราเห็นคนรุ่นเก่าๆ ในวงการสื่อที่อายุงานยาวนาน ทรยศต่อจริยธรรมสื่อ รับใช้ระบอบเผด็จการทำลายประชาชนหน้าด้านเยอะแยะไปหมด แล้วแบบนี้ยังจะกล้าพูดว่า อายุงานน้อย ขาดสำนึกด้านจริยธรรม

คนถ้าจะขาดสำนึกจริยธรรม จะมีอายุงานน้อยหรือมากก็ขาดได้ทั้งนั้น

สุดท้ายสิ่งที่บทความนี้ไม่ได้พูดเลย เหตุแห่งความตายของสื่อดิจิตอล และสื่ออื่นๆ ทั้งหมดคือ “เสรีภาพสื่อ” ซึ่งแทบจะไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมไทย

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ วิทยุ ที่ถูกผูกขาดโดยระบบสัมปทานมานานหลายทศวรรษ ทำให้สื่อโทรทัศน์เป็นซากศพมาโดยตลอดอยู่แล้ว การเปิดเสรีทีวีดาวเทียมและดิจิตอลต่างหากที่คืนชีวิตให้สื่อ แต่ก็น่าเสียดายที่หลังจากมีทีวีดิจิตอล เสรีภาพที่ว่าก็ถูกพรากไปพร้อมประชาธิปไตย

การเซ็นเซอร์และการอยู่ภายใต้กฎหมายแบบมาตรา 17 ของ จอมพลสฤษดิ์ คือ สุสานของสื่อ

ไม่ใช่เรื่องการไม่มีบุคลากร หรือการมีช่องทีวีมากเกินไป บลา บลา บลา

สื่อผูกขาด สื่อที่ปราศจากการแข่งขันคือสุสานที่แท้จริงของสื่อ ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมสื่อ

ไม่ต้องห่วงหรอกว่า มีสื่อหลายๆ ช่องแล้วจะพากันเจ๊ง นายทุนจะเจ๊งก็ปล่อยเขาเจ๊งเถอะ จะไปห่วงเขาทำไม เงินเราก็ไม่ใช่ แต่คนไทยคงไม่สามารถย้อนวันเวลาไปเสพสื่อผีดิบแบบสื่อยุคผูกขาดของโลกหลังสงครามเย็นได้อีกต่อไปแล้ว

โลกเสรีนิยม ใครอยากผลิตสื่อห่วยๆ คอนเทนต์ห่วยๆ ก็ให้ผู้บริโภคตัดสิน รสนิยมเขาจะห่วยแค่ไหน เราไม่มีสิทธิไปปิดกั้น

เสรีภาพ ประชาธิปไตย วุฒิภาวะของประชาชน เหล่านี้มันจะเดินไปด้วยกัน

วันไหนประเทศไทยมีเสรีภาพ ไม่มีรัฐบาลและสื่อที่คอยล้างสมองประชาชน วันนั้น ประชาชนก็ฉลาดขึ้นเอง และสื่อห่วยๆ ก็จะล้มหายตายจากไปเอง

เชื่อฉัน