การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/สูญสิ้นความเป็นคน ตอนที่ 4 แล้วก็ไม่มีใครเห็นหรือได้ยินเขาอีกเลย

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สูญสิ้นความเป็นคน ตอนที่ 4

แล้วก็ไม่มีใครเห็นหรือได้ยินเขาอีกเลย

 

การ์ตูนญี่ปุ่น สูญสิ้นความเป็นคน ผลงานของจุนจิ อิโตะ จากงานเขียนของโอซามุ ดะไซ แปลไทยโดยรักพิมพ์พับลิชชิ่ง มาถึงเล่ม 2

หลังจากที่โอบะ โยโซ และสาวบาร์สึเนโกะชวนกันไปกระโดดน้ำตายแล้วฝ่ายหญิงตายคนเดียว เมื่อคดีคลี่คลายแล้ว และตระกูลโอบะได้พยายามเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงินแก่โยโซแต่ก็ไม่สำเร็จ โยโซหวนกลับไปดื่มเหล้าอย่างหนักและอาศัยอยู่กับแม่ม่ายลูกติดคนหนึ่ง

ไม่มีเหตุผลอะไรที่แม่ม่ายคนนี้ นากาโนะ ชิสึโกะ ซึ่งสามีเสียชีวิตไปแล้วจะรับโยโซมาอยู่ด้วย ฝากงานให้เขาเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์ และให้ลูกสาวเรียกเขาว่าพ่อ โยโซมีลักษณะของเด็กชายตัวน้อยที่โหยหาแม่อยู่ตลอดเวลากระมังที่ดึงดูดสตรีเข้ามาอุ้มชูเขาอยู่เรื่อยๆ

และแม้ชิสึโกะจะดีต่อเขามาก เขาก็ยังคงดื่มเหล้า เที่ยวโสเภณี และบางคืนไม่กลับบ้าน

จุนจิ อิโตะ เขียนรูปคางคก และเปรียบเปรยว่าโยโซเห็นตนเองต่ำต้อยเหมือนคางคกที่คอยหลบหลีกก้อนหิน

โอซามุ ดะไซ เขียนตอนนี้ ด้วยสำนวนแปลของวิภาดา กิตติโกวิท ความว่า

และแล้ววันพรุ่งทำซ้ำในเรื่องเดิม

ด้วยกฎเดิมเดียวกันกับวันวาน

เพื่อหลีกลี้ความเริงร่าที่บ้าคลั่ง

เพื่อหลบหนีความทุกข์โศกอันใหญ่หลวง

เฉกเช่นคางคกอ้อมหินใหญ่ที่ขวางทาง

จากงานเขียนของกวีชาวฝรั่งเศส ชาร์ลส์ โครส์ (1842-1888) แปลโดยกวีชาวญี่ปุ่น เอดะ บิน (1874-1916) เชิงอรรถโดยวิภาดา กิตติโกวิท เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นกวีอายุน้อยทั้งสองคน

ทำไมคนคนหนึ่งถึงทำซ้ำกับเมื่อวานนี้ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ดี

 

ในกรณีของโยโซซึ่งติดเหล้างอมแงมนี้ หากเป็นสมัยใหม่เราจะวินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้โดยไม่ยาก และอธิบายพฤติกรรมกินเหล้าว่าเพื่อกลบเกลื่อนอาการทั้งหมดของโรคซึมเศร้านั้น

สำหรับจิตวิเคราะห์เราเรียกว่า repetition compulsion เป็นการกระทำซ้ำเพื่อตอกย้ำว่าโลกที่ตนเองอยู่นี้ยังคงเหมือนเดิม เหมือนวัยเด็กที่พ่อ-แม่ทอดทิ้งแต่ก็รอดชีวิตมาได้แล้วก็จะรอดชีวิตอีก

ความท่อนนี้อิโตะเขียนเช่นนี้ แปลไทยประกอบภาพคางคกน่าเกลียดตัวใหญ่คับกรอบว่า “วันวานทำเช่นไร วันใหม่จักทำเช่นนั้น หากแม้นหลีกเลี่ยงความสุขฉาบฉวยฉันใด มหันตทุกข์ย่อมมาไม่ถึงฉันนั้น” ตามด้วย “คางคกยังเลี้ยวผ่านหินขวางทาง นั่นแหละคือตัวผม ไม่เกี่ยวกับว่าสังคมจะให้หรือไม่ให้อภัย ผมนั้นเป็นสัตว์ที่ต่ำต้อยยิ่งกว่าหมา-แมว เป็นได้แค่คางคกที่คลานต้วมเตี้ยมไปมา”

เมื่ออ่านทั้งหมดจะมีความหมายเพียงว่าโยโซหลีกเลี่ยงความสุขเพียงเพื่อจะไม่ต้องพบความทุกข์ ทำนองว่าไม่รักใครจะได้ไม่ต้องเจ็บ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยพยายามรักพ่อ-แม่แล้วเจ็บปวดมาแล้ว

“คุณแม่ หากได้ผูกพันกับคุณแล้วละก็ ผมอาจไม่กลายเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้วก็ได้” อิโตะเขียน

 

ชีวิตของโยโซช่วงนี้ทั้งในหนังสือและในการ์ตูนมีอะไรให้ตีความมากมาย เช่น เรื่องว่าวทาเคอิจิที่ตามหลอกหลอนเขา กิริยารุกรานของโฮริกิที่ไม่ยอมเลิกรา ความเมตตาของแม่-ลูกชิสึโกะที่ล้นเหลือ และกระต่ายขาวที่กระโดดออกจากกล่องในตอนท้ายซึ่งทำให้โยโซรู้ตัวว่าถึงเวลาต้องไปจากบ้านหลังนี้เสียที

เมื่อออกจากบ้านของสตรีที่ดีกับเขามากมาย เขาไปอาศัยอยู่กับคุณนายเจ้าของบาร์อีกคนหนึ่งแล้วดื่มต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบสาวน้อยโยชิโกะ (หนังสือใช้ชื่อว่าเรียวโกะ) เขาสัญญาว่าจะไม่ดื่มอีกแล้ว แต่เขาก็ดื่มเหล้าเมาเช่นเคย โยชิโกะเห็นอยู่ก็พูดว่าเขาแกล้งเมาต่างหาก

“ขอโทษนะ โยชิจัง ดื่มอีกแล้ว” โยโซว่าตาเยิ้ม

“แหม ไม่เอาสิ แกล้งเมาอย่างนี้” โยชิโกะยิ้มตอบ

“เปล่าเลย นี่พูดจริงๆ ไม่ได้แกล้งเมา”

“แสดงเก่งจังเลยนะเนี่ย…เมื่อวานสัญญากันไว้แล้วว่าจะไม่ดื่มไม่ใช่เหรอคะ แถมเกี่ยวก้อยสัญญากันแล้วด้วย”

“มะ ไม่ใช่แค่นั้น ผมเคยนอนกับมาดามมาแล้วด้วย” หมายถึงคุณนายเจ้าของบาร์ที่เขาอาศัยอยู่

“แหม โกหกสินะ”

“แล้วก็ทำให้ผู้หญิงตายจากการฆ่าตัวตาย อันนี้น่าจะรู้เพราะมีลงหนังสือพิมพ์ด้วย”

“โกหกๆๆ”

เขามิใช่คนอีกแล้ว พูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อทั้งนั้น เขาขอโยชิโกะแต่งงาน แล้วไปบอกคุณนายเจ้าของบาร์ คุณนายเจ้าของบาร์ก็มิได้ถือโทษอะไร บัดนี้เขาสูญสิ้นความเป็นคน – no longer human

 

ชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้คือ No Longer Human เล่ามาทั้งหมดนี้ถึงตอนต้นของการ์ตูนเล่ม 2 และทราบว่าจะมีเล่ม 3 ต่ออีก สำหรับฉบับหนังสือเท่ากับจบบทที่ 1 แล้วยังมีบทที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของโฮริกิ ตามด้วยปัจฉิมบท

ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นนวนิยายที่ไม่ยาว เป็นเพียงเรื่องสั้นขนาดยาวแต่มีความหมายแฝงเร้นแทบทุกย่อหน้า

นักเขียนคือโอซามุ ดะไซ กระโดดน้ำตายเมื่อปี 1948