วิรัตน์ แสงทองคำ : ค้าปลีกออนไลน์จีน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คน “อดตาหลับขับตานอน” ด้วยอิทธิพลอันมีพลังอย่างเหลือเชื่อ

ปรากฏการณ์ 9.9 (วันที่ 9 เดือนกันยายน) สั่นสะเทือนไปทั่ว ด้วยแผนการโปรโมต โปรโมชั่น “การจับจ่าย” วันเดียวของบรรดายักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์ได้ลามไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลาย ต้องเกาะกระแส ร่วมวง ตามขบวนกันอย่างล้นหลาม

เป็นช่วงเวลาอันคึกคัก ครึกโครม ขยายวง จากผู้ซื้อซึ่งต้องตื่นตัวตั้งแต่เที่ยงคืน ไปยังผู้ค้า ผู้ผลิตและจำหน่าย ทั้งรายใหญ่ รายย่อย จนถึงเครือข่ายโลจิสติกส์ทั้งหลายซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแม้กระทั่งวินมอเตอร์ไซค์

มหกรรมครั้งใหญ่ซึ่งเพิ่งผ่านพ้น ถือว่าเป็นโปรโมชั่นว่าด้วยการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งผู้คนตั้งตารอ ดูคึกคัก เข้มข้นมากกว่าปีที่แล้ว มีผู้สนใจ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้เกี่ยวข้อง ตื่นตัวเข้าร่วมในจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในสังคมไทยเลยทีเดียวก็ว่าได้

ผู้คนซึ่งไม่ต้องเดินทางไปไหน แค่มีเครื่องมือประจำตัวเพื่อใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เครือข่ายสื่อสารสมัยใหม่ สามารถเข้าถึงทุกหัวระแหง โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ เพื่อเข้าถึงตั้งแต่เครือข่ายสังคม (Social media) จนเข้าสู่กระบวนการสำคัญๆ ที่ตามมา

ตามรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA) ให้ข้อมูลเป็นภาพเชื่อมโยง ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

“ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน (2560) มี Mobile Subscriber กว่า 124.8 ล้านราย (2561) ผู้ใช้ Line กว่า 44 ล้านคน (2561) ผู้ใช้ Facebook กว่า 52 ล้านราย (2561) และมีแนวโน้มว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยปีล่าสุดจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท (2561) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชั่นส่งเสริมทางการตลาด ในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงถึง 1.44 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการสั่งซื้อสินค้ากว่า 1.7 ล้านชิ้น ในระยะ 3 วัน” (Thailand e-Commerce Week 2019 เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562)

 

มหกรรมครั้งใหญ่ข้างต้น ขับเคลื่อนอย่างมีพลัง โดยผู้นำค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ 3 ราย ผู้ควบคุมการค้าปลีกออนไลน์ในสังคมไทยไว้ในมืออย่างสิ้นเชิง ได้แก่ Lazada, Shopee และ JD CENTRAL

เรื่องราวทั้งสามรายข้างต้น ย่อมน่าสนใจนำเสนอ ด้วยเชื่อว่าบางทีเราอาจรู้จักไม่มากเท่าที่ควร ตามปกติวิสัยในฐานะผู้ชอบบันทึกประวัติศาสตร์ธุรกิจ ผมมักจะเริ่มต้นนำเสนออ้างอิงเรื่องราวจากต้นแหล่งเสียก่อน

รายแรก-เกี่ยวกับ Lazada

“ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 Lazada เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มสำหรับการช้อปปิ้งและการขายสินค้าออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม ในฐานะผู้ริเริ่มการพัฒนาอีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Lazada ได้ให้การสนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศกว่า 155,000 คน และแบรนด์สินค้ากว่า 3,000 แบรนด์ ให้บริการแก่ผู้บริโภคกว่า 560 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาค…

ด้วยรายการสินค้ามากกว่า 300 ล้านชิ้น… จากหลากประเภทจากหลายหมวดหมู่ ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงของใช้ในบ้าน ของเล่นเด็ก สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์กีฬา และสินค้าอุปโภคบริโภค …ผ่านรูปแบบการชำระเงินที่หลากหลาย รวมถึงการเก็บเงินปลายทาง (Cash-on-Delivery) ศูนย์บริการลูกค้าแบบครบวงจร และอำนวยความสะดวกในการส่งคืนสินค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตรผู้ให้บริการจัดส่งสินค้ากว่า 100 แห่ง ปัจจุบันอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (NYSE : BABA) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของลาซาด้ากรุ๊ป” (https://www.lazada.co.th)

สาระข้างต้นให้ภาพธุรกิจค้าปลีกออนไลน์อย่างกว้างๆ ในระดับภูมิภาค

แล้วปิดท้ายสั้นๆ กล่าวถึงเครือข่ายธุรกิจใหญ่ Alibaba Group Holding

Alibaba เข้ามาใน Lazada ในจังหวะที่ดีในปี 2559 หลังจาก Lazada ผ่านมือผู้ถือหุ้นหลากหลายหลายรายพร้อมๆ กับปัญหาในช่วงต้นๆ Alibaba เพิ่มการลงทุนใน Lazada อย่างกระฉับกระเฉง

จนในที่สุดปี 2560 กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ จาก 51% เป็น 83% ตามมาด้วยการส่งคนของตนเองเข้ามาควบคุมการบริหาร

 

ส่วน Shopee ได้นำเสนอข้อมูลไว้อย่างสั้นๆ อ้างว่า “Shopee เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน” (https://shopee.co.th/) เท่าที่ติดตามพบว่าบางประเทศอย่างมาเลเซียและอินโดนีเชียเป็นผู้นำตลาด ส่วนเมืองไทยยังเป็นรอง Lazada ทั้งนี้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจสั้นๆ เช่นกันอีกว่า

“ในปี 2558 Shopee เปิดตัวในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย”

อันที่จริงเรื่องราว Shopee ที่น่าสนใจมีมากกว่านั้น เป็นที่รู้กันว่าบริษัทแม่ของ Shopee คือ Sea Group ก่อตั้งเมื่อปี 2542 (เจ้าของธุรกิจเกมออนไลน์ การชำระเงินออนไลน์และค้าปลีกออนไลน์) เดินหน้าสู่จังหวะสำคัญเมื่อได้เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) เมื่อตุลาคม ปี 2560 สามารถระดมเงินได้นับพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่กิจการประสบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ในจังหวะนั้นเอง Tencent คู่แข่งรายสำคัญของ Alibaba ในจีนได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน Sea Group ด้วยสัดส่วน 39.7%

 

Alibaba และ Tencent ก่อตั้งในจีน ท่ามกลางช่วงเวลาพลิกผันและสับสนในภูมิภาค ช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และการส่งคืน “ฮ่องกง” ให้ทางการจีน (ปี 2540) โดย Tencent ก่อตั้งขึ้น (ปี 2541) ก่อน Alibaba (ปี 2542) เพียงปีเดียว

ถือเป็นพวก startup เข้ากับกระแสโลก เทคโนโลยีและสื่อสารยุคใหม่

ซึ่งเริ่มต้นในเวทีเฉพาะปิดกั้นไว้เฉพาะภายในจีนไว้อย่างแน่นหนา ขณะตนเองมีโอกาสเปิดกว้าง สามารถก้าวสู่โลกการเงินภายนอกได้อย่างเต็มที่ ภาพย่อยนั้นได้สะท้อนภาพใหญ่ ความเป็นไปทางเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างมหัศจรรย์

ทั้งสองถือเป็นผู้นำ ผู้กำกับ สื่อใหม่ในสังคมจีน เป็นปัจจัยสำคัญ มีส่วนผลักดันให้สังคมจีนก้าวเป็นผู้นำค้าปลีกออนไลน์ระดับโลกอย่างรวดเร็ว

อย่างเรื่องราว Weibo แอพพลิเคชั่น Social media ของ Alibaba เปิดบริการในจีนปี 2552 ว่ากันว่าเหมือนนำ Twitter และ Facebook มารวมกัน ขณะ WeChat ของ Tencent เปิดตัวขึ้นในปี 2554 ว่ากันว่าอีกเช่นกัน มีระบบซึ่งมีส่วนผสมเหมือนนำ Social media และระบบส่งข้อความ (massaging app.) ตะวันตกอย่างหลากหลายมารวมกันทั้ง WhatsApp Facebook Instagram และ Skype

กิจการทั้งสองก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อ Tencent เข้าตลาดหุ้นฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong หรือ HKEX) ในปี 2547 ตลาดหลักทรัพย์หลักแห่งหนึ่งของโลกในซีกโลกตะวันออก ซึ่งนักลงทุนตะวันตกเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก

ขณะที่ Alibaba ก้าวไปขั้นใหญ่เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ในปี 2557 กลายเป็นกรณีครึกโครม

 

อีกราย – JD CENTRAL แม้ว่าให้ข้อมูลค่อนข้างกระชับ แต่เป็นภาพที่กระจ่างชัดกว่าอีก 2 ราย

“JD CENTRAL (www.JD.co.th) เป็นตลาดสินค้าออนไลน์ที่เกิดจากความร่วมมือของสองยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการค้าปลีกอย่างบริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ป จำกัด และบริษัทธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดและมีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจีนอย่าง JD.com ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ค (NASDAQ) สหรัฐอเมริกา” (https://www.jd.co.th/)

ในภาพใหญ่ ค้าปลีกออนไลน์ในจีนและไทย เราอาจคุ้นเคยกับ Alibaba มากกว่ารายอื่นๆ ด้วยมี Jack Ma เป็นตัวชูโรง และเปิดตัวในเมืองไทยก่อนรายอื่นๆ (ปี 2555) ส่วน Shopee มาทีหลัง (ปี 2558) เพิ่งจะตื่นเต้นกันมากขึ้น เมื่อ Ronaldo ซูเปอร์สตาร์นักฟุตบอลระดับโลกมาเป็น Presenter

ส่วน JD.com กับกลุ่มเซ็นทรัลถือว่าเป็นรายล่าสุด มาจากดีลสำคัญในช่วงปลายปี 2560 กลุ่มเซ็นทรัลร่วมมือกับ JD.com

“บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ JD Finance ผู้นำด้านฟินเทคของประเทศจีน ความร่วมมือด้านการลงทุนมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดตัว 2 ธุรกิจร่วมในประเทศไทยในด้านอีคอมเมิร์ซและฟินเทค” (สาระสำคัญถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัลในเวลานั้น)

จนกระทั่งเมื่อกลางปีที่แล้ว (2561) JD CENTRAL (www.JD.co.th) ได้เปิดบริการค้าปลีกออนไลน์อย่างเป็นทางการ

อันที่จริงเรื่องราว JD.com เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับกรณี Alibaba และ Tencent เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ ก่อตั้งในช่วงเดียวกันด้วย (JD.com ก่อตั้งเมื่อปี 2541) และก็สามารถเข้าตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐ (ปี 2557) เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลกเช่นเดียวกัน

 

เรื่องราวข้างต้น มีภาพใหญ่ทางสังคมซ่อนอยู่ สะท้อนวิวัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับอิทธิพลระดับโลก เชื่อว่าเป็นมหากาพย์ใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง

จับภาพสังคมธุรกิจไทยในช่วงประวัติศาสตร์สำคัญจากยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งอิทธิพลตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พ่วงด้วยอิทธิพลตะวันออกบางส่วนจากญี่ปุ่นผ่านสินค้าและบริการ สามารถชักนำวิถีชีวิตสมัยใหม่สู่สังคมไทย ขยายวงกว้างขึ้นจากเมืองหลวงสู่หัวเมือง

อิทธิพลนั้นยังอยู่คงและก้าวไปอีกขั้น หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญจากปี 2540 เครือข่าย ระบบและสินค้าอันแยบยล พัฒนาอีกขั้น เข้ามาเชื่อมโยง เข้าถึงกิจกรรมทางสังคม เข้าถึงพฤติกรรมการบริโภคของปัจเจกชนคนไทยอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อิทธิพลล่าสุดลงลึกมากกว่านั้น มีความหมายมากกว่านั้น สามารถหยั่งรากสู่กิจกรรมสำคัญของปัจเจก นั่นคือการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคโดยตรง

นี่คือฉากตอนในมหากาพย์ใหม่อย่างแท้จริง