วิกฤติศตวรรษที่ 21 | เปิดสาเหตุ-ปัจจัยที่จีนเลิกเกรงใจสหรัฐ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (15)

เหตุปัจจัยที่จีนเลิกเกรงใจสหรัฐ

กรณีที่เร่งให้จีนเลิกเกรงใจสหรัฐ เกิดขึ้นเมื่อทางการทรัมป์ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 300 พันล้านดอลลาร์จากจีน ทั้งที่ตกลงกันว่าจะไม่ขึ้นภาษีระหว่างกันอีกในช่วงการเจรจา เรียกได้ว่าผิดคำสัญญา ขัดต่อค่านิยมในยุทธภพจีนที่ว่า “ลูกผู้ชายพูดคำไหนคำนั้น”

จีนยังมีบทเรียนจากมิตรประเทศตั้งแต่รัสเซียจนถึงเกาหลีเหนือว่าสหรัฐมักบิดพลิ้วคำสัญญาอยู่เนืองๆ และยิ่งเห็นชัดในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

กรณีรัสเซีย ต้องเผชิญหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยกอร์บาชอฟ ผู้นำการปฏิรูปสหภาพโซเวียต ถึงสมัยปูติน จนรัสเซียได้เลิกเกรงใจสหรัฐ เมื่อทรัมป์ออกข่าวว่า มีความคิดเชิญรัสเซียเป็นสมาชิกกลุ่ม 7 อีกครั้ง

ทางรัสเซียก็ไม่ได้แสดงความยินดีสนใจ กล่าวว่า รัสเซียขณะนี้อยู่ในกลุ่ม 20 และกลุ่มบริกส์ที่เป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่สบายดีอยู่แล้ว

กรณีอิหร่าน สหรัฐโดยทรัมป์เป็นผู้ฉีกสัญญาข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เห็นชอบแล้ว และลงมือกดดันอิหร่านจนถึงขีดสุด

ทางอิหร่านปฏิเสธการเจรจากับสหรัฐอีก เว้นแต่สหรัฐยอมรับข้อตกลงเดิมและเลิกแซงก์ชั่น

กรณีเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อทรัมป์เป็นผู้ริเริ่มเองในการเปิดการเจรจาสุดยอดกับเกาหลีเหนือหลายครั้ง โดยสหรัฐยุติการประชุมก่อน ไม่มีข้อตกลงเป็นชิ้นเป็นอัน

เกาหลีเหนือก็เลิกเกรงใจสหรัฐ ทดลองขีปนาวุธพิสัยใกล้หลายครั้ง และสร้างเงื่อนไขในการกลับเข้ามาเจรจา

เช่น กล่าวว่า นายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ไม่มีวุฒิภาวะ ควรเปลี่ยนตัวผู้เจรจาใหม่ และยังว่านายปอมเปโอเป็น “หญ้าพิษที่ตายยาก” ของการทูตสหรัฐ

นายปอมเปโอผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอ ระหว่างปี 2017-2018 เขากล่าวในปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสแบบติดตลกว่างานของซีไอเอ คือ “เราโกหก เราโกง และเราขโมย” (ดูข่าวชื่อ Mike Pompeo says “We lied, We cheated, We stole in CIA” ใน msn.com 23/07/2019 กล่าวจริงกลางเดือนเมษายน)

การถูกละเมิดคำสัญญา และพันธมิตรเลิกเกรงใจสหรัฐ ย่อมเป็นเหตุให้จีนเลิกเกรงใจสหรัฐด้วย แต่สงครามการค้านี้เป็นเรื่องระดับโลก ซับซ้อนและส่งผลกระเทือนเป็นอันมาก จึงย่อมมีเหตุปัจจัยอื่นประกอบที่ทำให้จีนแสดงท่าทีเลิกเกรงใจสหรัฐ เหตุปัจจัยดังกล่าว

ได้แก่

1)การออกอาการอ่อนแอโลเลของสหรัฐหลายประการ ได้แก่ ในทางเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เข้มแข็งจริง ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูสวยงาม เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทำลายสถิติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี อัตราการว่างงานของสหรัฐในสมัยทรัมป์ก็ต่ำกว่าครั้งใดในระยะใกล้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็สูงมาก โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2019 แต่พบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยทรัมป์ โดยทั่วไปก็ไม่ได้ดีกว่าสมัยโอบามา (ดูบทความของ Steven Rattner ชื่อ Trump cannot beat Obama on economy ใน nytimes.com 29/07/2019)

งานที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มั่นคง รายได้น้อยแทบไม่พอกิน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็แกว่งตัวรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์ทำสงครามกับจีนเต็มขั้น มีการทำนายหนาหูขึ้นว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

หนี้สินของรัฐบาลพุ่งพรวดปีละนับล้านล้านดอลลาร์ และหลังจากทำสงครามการค้ามาปีเศษ การขาดดุลการค้าก็ไม่ได้ลดลงและยังคงเพิ่มขึ้น

ทรัมป์เองได้กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงให้มากๆ ซึ่งวิเคราะห์กันว่าถ้าเศรษฐกิจดีจริงควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยในปี 2007 ก่อนเกิดวิกฤติใหญ่ที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 5

ในเดือนสิงหาคม 2019 ที่มีการยกระดับความตึงเครียดในสงครามการค้าขึ้น ถึงขั้นว่าอาจจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ทรัมป์เปลี่ยนน้ำเสียงให้อ่อนลง (แต่ไม่ได้เปลี่ยนยุทธวิธีในการกดดันจีนถึงขีดสุด) ให้สัมภาษณ์ช่วงการประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ที่ฝรั่งเศสว่า เจ้าหน้าที่จีนโทรศัพท์ถึงเจ้าหน้าที่สหรัฐถึงสองครั้ง ย้ำว่าต้องการเปิดปรึกษาหารือกับสหรัฐในด้านการค้า ซึ่งสหรัฐก็จะเข้าเจรจาด้วย

ฝ่ายจีนตอบโต้ทันควัน ครั้งแรกโดยผ่านบรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์วงใน “โกลบัล ไทม์” ของจีนว่า เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายของจีนไม่เคยโทรศัพท์ถึงเจ้าหน้าที่สหรัฐ มีเพียงการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่จีนในระดับเทคนิคกับสหรัฐในเรื่องรายละเอียดว่าจะปรึกษาหารือในเรื่องอะไร อย่างไร ไม่ใช่การแสดงท่าที

ต่อมาจีนได้สำทับอีกโดยผ่านเจ้าหน้าที่ชั้นสูงขึ้นคือโฆษกกระทรวงต่างประเทศ แถลงว่า “ผมไม่ได้ยินเรื่องสถานการณ์ที่ว่ามีโทรศัพท์จากจีนสองครั้งตามที่สหรัฐกล่าวถึงในวันสุดสัปดาห์”

และว่า “เราหวังว่าสหรัฐจะมีความสงบใจ กลับมาสู่ความมีเหตุผล ยุติการปฏิบัติที่ผิดพลาด และสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการปรึกษาหารือ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาค และผลประโยชน์ร่วมกัน”

สำนักข่าวซินหัวออกบทวิจารณ์ว่า “(สหรัฐ) กำลังเล่นลูกไม้เก่าในการระรานและการกดดันขั้นสูงสูด โดยการเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าครั้งแล้วครั้งเล่า และพยายามบีบให้จีนยอมรับข้อเรียกร้องที่ไร้เหตุผล” และว่า “จีนไม่ได้ยอมแพ้และจะไม่ยอมแพ้” (ดูบทรายงานชื่อ China insists it is unaware of calls to Trump and says tariffs are “extreme pressure” and “not constructive at all” ใน cnbc.com 27/08/2019)

ในทางการเมือง เกิดความแตกแยกรุนแรงภายในชนชั้นนำสหรัฐ แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องในการหยุดยั้งการเติบโตของจีนอย่างจริงจัง

แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติอย่างลวกๆ บ้าบิ่นต่อจีนอย่างที่กระทำอยู่

ทั้งไม่ต้องการให้ทรัมป์ใช้อ้างเป็นความสำเร็จเพื่อการเลือกตั้ง ความแตกแยกนี้สร้างความยากลำบากในฝ่ายบริหารของทรัมป์ ในการปฏิบัตินโยบายต่างๆ รวมทั้งการทำสงครามการค้าของทรัมป์

การสำรวจประชามติล่าสุดพบว่าคะแนนนิยมของทรัมป์ในหมู่สาธารณชนอยู่ในแนวลดต่ำลง แสดงว่ากลเม็ดทางการเมืองในการสร้างข่าว การปลุกระดม การกล่าวโทษว่าผู้อื่น เป็นต้นตอของปัญหาขณะที่เขามาแก้ไข เริ่มไม่ได้ผล

2)ความรวนเรในพันธมิตรสหรัฐ พันธมิตรวงในของสหรัฐอยู่ในสโมสรกลุ่ม 7 (มีการประชุมสุดยอดครั้งแรกปี 1975) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-การเงินของประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เริ่มจากวิกฤติน้ำมันปี 1973 กลุ่ม 7 นี้มีสหรัฐเป็นแกนเหมือนผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ประเทศที่เหลือมีสภาพคล้ายบริวารเป็นผู้โดยสารชั้นสองและสาม

ในกลุ่ม 7 ประกอบด้วยสามกลุ่มย่อยด้วยกัน ได้แก่

ก) กลุ่มยุโรป มีเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลีเป็นผู้นำ

ข) กลุ่มเอเชีย มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ

ค) กลุ่มอเมริกา มีแคนาดาเป็นพันธมิตรพกพาของสหรัฐ ความรวนเรไม่ลงรอยกันในหมู่พันธมิตรสหรัฐแสดงออกชัดในการประชุมสุดยอด ซึ่งครั้งหลังสุดมีที่เมืองตากอากาศเบียร์ริตซ์ของฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2019 การประชุมสิ้นสุดลงด้วยการไม่มีแถลงการณ์ร่วม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในการประชุมสุดยอดปีก่อนนี้ แต่ก็ยังดีที่สามารถออกคำประกาศแสดงความเป็นเอกภาพในระดับหนึ่ง มีความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ พูดถึงบางประเด็นอย่างกว้างในเรื่องการค้าโลกและองค์การการค้าโลก ปัญหาอิหร่าน เป็นต้น อย่างสั้นๆ

สำนักข่าวจีนออกบทความวิเคราะห์ว่า เมื่อลงลึกในเนื้อหาแล้วจะเป็นรอยร้าวลึกในหมู่กลุ่ม 7 (ดูบทความของ Liu Fang และเพื่อน ชื่อ G7 summit declaration cannot conceal deep U.S.-EU rift ใน xinhuanet.com 27/08/2019)

ในด้านความรวนเรขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับกลุ่มยุโรป แสดงออกใน 3 เรื่องใหญ่ด้วยกัน ได้แก่

ก) การพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายกรณี ที่สำคัญได้แก่ ระเบิดใหญ่ที่สหรัฐคุกคามว่าจะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรรถยนต์จากยุโรปในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง วิเคราะห์กันว่าถ้าหากสหรัฐเปิดสงครามการค้ากับยุโรปเพิ่มขึ้นอีกสมรภูมิ ก็จะก่อความเสียหายแก่สหรัฐมากยิ่งกว่าการพิพาทระหว่างสหรัฐกับจีนเสียอีก

ทั้งนี้เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐ-ยุโรป มีการพึ่งพาโยงใยกันแน่นแฟ้น เช่น การควบรวมกิจการระหว่างบริษัททางเคมีไบเออร์ของเยอรมนีกับบริษัมมอนซานโต ด้านพัฒนาพันธุ์พืชของสหรัฐ และยุโรปเป็นตลาดสินค้าใหญ่กว่าของสหรัฐ

ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ในปี 2018 ระบุว่า สหรัฐนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมูลค่ารวม 683.9 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าจีนซึ่งอยู่ที่ 557.9 พันล้านดอลลาร์ แต่ในด้านส่งออก สหรัฐส่งออกสินค้าและบริการไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าถึง 574.5 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าส่งออกไปจีนซึ่งอยู่ที่ 179.2 พันล้านดอลลาร์หลายเท่าตัว รวมการค้าทั้งนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการที่สหรัฐทำกับสหภาพยุโรปมีมูลค่าสูงกว่าที่ทำกับจีนมากกว่าร้อยละ 70

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-สหภาพยุโรป จะก่อความเสียหายแก่บรรษัทข้ามชาติสหรัฐและตลาดใหญ่ในสหภาพยุโรป ในขณะที่เศรษฐกิจทั้งของสหรัฐและสหภาพยุโรปอยู่ในอาการไม่ดีเลย

(ดูบทความของ Silvia Amaro ชื่อ A trade war with Europe would be larger and more damaging than Washington”s dispute with China ใน cnbc.com 22/08/2019)

ข) สงครามค้าสหรัฐ-จีนที่รุนแรงขึ้นจนเหมือนควบคุมไม่ได้

แม้สหภาพยุโรปจะต้องการขัดขวางการรุ่งเรืองของจีน แต่ไม่ใช่ในรูปของการทำสงครามการค้าใหญ่โตอย่างที่เป็นอยู่

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ได้ชื่อว่าพยายามวางตัวเป็นพันธมิตรพิเศษกับสหรัฐ กล่าวในการแถลงข่าวช่วงประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ว่าอังกฤษได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีเป็นเวลายาวนานถึง 200 ปี และว่า เขาต้องการสันติภาพการค้ามากกว่าสงครามการค้าทางออก

ในการพิพาททางการค้า สหภาพยุโรปเห็นว่าควรปฏิรูปกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ไม่ใช่ทำให้การค้าโลกอยู่ในภาวะไร้ระเบียบ มีผลให้ทรัมป์เปลี่ยนน้ำเสียงต่อจีน

ค) ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่สหรัฐฉีกสัญญาทิ้ง ซึ่งสามประเทศใหญ่ในยุโรปแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผย แต่ก็ยังไม่กล้าหักหาญกับสหรัฐ

ในการประชุมสุดยอดที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ประธานาธิบดีมาครงได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านเป็นแขกเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับอนาคตข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างลับๆ ก่อความตะลึงแก่การประชุมในระดับหนึ่ง (มาครงแจ้งเรื่องนี้แก่ทรัมป์ล่วงหน้าเป็นการส่วนตัว) การเชิญมาครั้งนี้ฝรั่งเศสดูไม่หวังผลอะไร เพียงแต่เป็นการตอกย้ำท่าที

และแสดงว่าปัญหาข้อตกลงอิหร่านเป็นเรื่องทางใครทางมัน ไม่นำมาเป็นข้อบาดหมางกัน อาจมีผลให้ทรัมป์เปลี่ยนน้ำเสียงที่มีต่ออิหร่านในท้ายการประชุม

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านก็ไม่ได้หวังผลอะไร หลังการปรึกษาหารือกันที่ฝรั่งเศส เขาได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีนในทันที เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับโรดแม็ปของแผนพันธมิตรยุทธศาสตร์ 25 ปีระหว่างจีน-อิหร่าน

ในด้านกลุ่มพันธมิตรเอเชียที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ คล้ายผู้นำในฝูงห่านบิน แต่บินไปนานเข้า เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์เมื่อจีนกลายเป็นผู้นำฝูงแทน และสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ-การเงินบางแห่งคาดว่าในเวลาไม่นาน อินเดียจะขึ้นมาอยู่อันดับสองแทนที่ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ญี่ปุ่นยังคงถือว่าเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐ และรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันไว้ได้ แต่ความรวนเรยั้งไม่อยู่ ญี่ปุ่นหันมาก่อสงครามการค้ากับเกาหลีใต้เสียเอง

สำหรับพันธมิตรพกพาของสหรัฐคือแคนาดา ที่มีพรมแดนติดกับสหรัฐ มีทรัพยากรมากแต่มีประชากรน้อย เพียงราว 37 ล้านคน สุดที่จะต้านทานแรงกดดันจากสหรัฐได้

ในปลายปี 2018 แคนาดาได้ทำการใหญ่ตามคำร้องของสหรัฐ เข้าจับกุมผู้บริหารการเงินระดับสูงของบริษัทหัวเว่ยเพื่อส่งตัวไปยังสหรัฐ ซึ่งจีนได้ตอบโต้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง

นายทรูโดนายกรัฐมนตรีเหมือนถูกขึงพืดทางการเมือง จะตอบโต้จีน เรื่องก็จะไปกันใหญ่ จะยอมจีนก็ถูกโจมตี

สุดท้ายแถลงว่าแคนาดาทั้งไม่เร่งความตึงเครียดและไม่ยอมอ่อนข้อต่อจีนในทางการทูต การที่แคนาดาถูกตอบโต้จนกระทั่งไม่สามารถแสดงบทบาทเด่นทางการเมืองระหว่างประเทศเหมือนเดิม เป็นการส่งสารว่าผู้เดินตามรอยสหรัฐเพื่อเล่นงานจีนจะประสบชะตากรรมอย่างไร

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงระเบิดทำลายร้ายสูงทางการค้าของสหรัฐและการรับมืออย่างสงบของจีน