ศิลปินภาพถ่ายผู้ยืนอยู่บนพรมแดนระหว่างศิลปะและอนาจาร

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินร่วมสมัยอีกคนที่มีบทบาทอย่างสูงต่อวงการศิลปะ คราวนี้เป็นศิลปินที่ทำงานในสาขาภาพถ่าย ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

โนบุโยชิ อารากิ (Nobuyoshi Araki)

ศิลปินภาพถ่ายร่วมสมัย ผู้ทรงอิทธิพลและอื้อฉาวที่สุดของญี่ปุ่นและของโลก

เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากภาพถ่ายอีโรติกที่วางตัวอยู่บนพรมแดนระหว่างศิลปะและอนาจาร ทั้งภาพถ่ายของหญิงสาวที่เปลือยเรือนร่างอย่างจะแจ้ง

บ่อยครั้งพวกเธอมักถูกมัดตรึงด้วยเส้นเชือก ในรูปแบบของศิลปะการมัดเชือกของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “คินบากุ” (Kinbaku 緊縛)

ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดเชิงสังวาสของญี่ปุ่นในยุคศตวรรษที่ 17 ที่เรียกว่า “ชุงกะ” (Shunga 春画) (อ่านเกี่ยวกับชุงกะได้ที่นี่ https://bit.ly/2lvhKIa)

ภาพถ่ายเหล่านี้ของเขาถูกนำเสนออย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งจนเกือบจะวิตถาร

ทำให้หลายคนมองว่าไม่ต่างอะไรกับภาพโป๊ลามก

แต่ในขณะเดียวกัน ภาพถ่ายของเขาก็เต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและศิลปะแห่งความงดงามเย้ายวนอย่างปฏิเสธไม่ได้

อารากิยังทำงานถ่ายภาพในเชิงสารคดีที่บันทึกสิ่งรอบตัวทั่วไป เหมือนเป็นการบันทึกชีวิตประจำวันของตัวเองในรูปแบบคล้ายไดอารี่ ที่เรียกว่า ชิ-ฉะชิน (Shi-shashin หรือ I-Photograps) ที่แปลว่า “ภาพถ่ายตัวฉัน” ไม่ว่าจะเป็นภาพท้องฟ้า, ก้อนเมฆ, ดอกไม้, ของเล่น, ภาพทิวทัศน์เมืองโตเกียวที่เขาอาศัยอยู่

ภาพบรรยากาศอันเปี่ยมชีวิตชีวาในบาร์คาราโอเกะที่เขาไปเที่ยว ไปจนถึงภาพถ่ายคนธรรมดาสามัญ ที่ถ่ายออกมาอย่างเรียบง่าย สบายๆ ตามสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา

โนบุโยชิ อารากิ หรือที่คนเรียกกันในชื่อเล่นว่า “อารากิ” เกิดในปี 1940 ที่โตเกียว

เขาจบการศึกษาในสาขาภาพถ่ายและภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยชิบะในปี 1963

ก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัทเอเยนซี่โฆษณาชื่อดังอย่างเดนท์สุ (Dentsu)

ที่นี่เองที่เขาได้พบกับพนักงานสาวชื่อโยโกะ อาโอกิ (Yōko Aoki) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของเขา

เธอนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มต้นทำงานถ่ายภาพอย่างจริงจัง

ในปี 1972 อารากิลาออกจากบริษัทโฆษณาเพื่ออุทิศตัวให้กับศิลปะการถ่ายรูปอย่างเต็มตัว

ตลอดอาชีพการทำงาน อารากิตีพิมพ์หนังสือรวมผลงานภาพถ่ายออกมาเป็นจำนวนมากกว่า 500 เล่ม

หนังสือเล่มแรกๆ ของเขาก็คือ Sentimental Journey (1971) ที่เป็นเสมือนหนึ่งไดอารี่บันทึกชีวิตรักของอารากิและภรรยา นับแต่ครั้งที่พวกเขาเริ่มต้นชีวิตคู่

ไม่ว่าจะเป็นภาพการเดินทางไปฮันนีมูน

หรือแม้แต่ภาพถ่ายเขาตอนเขากำลังมีเซ็กซ์กับเธออย่างใกล้ชิด

อารากิถ่ายภาพของเธอจนกระทั่งวันที่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1990 เขายังถ่ายทอดวันเวลาช่วงสุดท้ายในชีวิตของเธอออกมาในหนังสือ Winter Journey (1991) อีกด้วย

รวมถึงผลงานที่โดดเด่นของเขาอย่าง Tokyo Lucky Hole (1990) หนังสือรวมผลงานภาพถ่ายที่เจาะลึกแหล่งโลกีย์ของญี่ปุ่นอย่างถึงแก่น

และหนังสือที่สำรวจเรื่องราวของตัวตน ชีวิต และความตายจากภาพรวมของอาชีพการทำงานกว่า 40 ปีของเขาอย่าง Self, Life, Death (2005)

ผลงานของอารากิเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้สังคมมองเห็นคุณค่าของงานภาพถ่าย และยกระดับให้กลายเป็นงานศิลปะเทียบเคียงกับศิลปะแขนงอื่น ภาพถ่ายของเขากระตุ้นความสนใจของผู้คนอย่างทรงพลัง ทั้งจากสายตาคนในประเทศและคนทั่วโลก ด้วยการทำงานอันแหกขนบ ท้าทายกฎเกณฑ์เดิมๆ ของการถ่ายภาพ และค่านิยมเก่าๆ ในสังคมญี่ปุ่น

ถึงแม้ผลงานของเขาจะอื้อฉาว หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายควบคุมสื่อลามกอนาจารในญี่ปุ่น จนทำให้เขาถูกจับกุมและต้องเผชิญหน้ากับตำรวจหลายต่อหลายครั้ง

แต่อารากิก็รอดพ้นจากการถูกจำคุก (เพียงแค่โดนค่าปรับบ้างบางครั้ง) และยังคงเป็นศิลปินที่ได้รับความนิยมและส่งอิทธิพลต่อช่างภาพรุ่นหลังเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เขายังคิดค้นแนวทางใหม่ๆ ในศิลปะการถ่ายภาพ ด้วยการผสมผสานงานภาพถ่ายเข้ากับภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ งานจิตรกรรม และศิลปะการเขียนตัวอักษรด้วยมือ (Calligraphy)

จนกลายเป็นผลงานในรูปแบบใหม่ที่ไม่หยุดอยู่กับการถ่ายภาพนิ่งเท่านั้น

ไม่เพียงแต่ในวงการภาพถ่าย ผลงานของอารากิยังเป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินต่างสาขามากมาย อาทิ นักดนตรีสาวอาร์ตตัวแม่ชาวไอซ์แลนด์อย่างบียอร์ก (Björk) ที่หลงใหลได้ปลื้มผลงานของอารากิจนมาเป็นนางแบบให้เขาถ่ายภาพ

และยังขอให้เขาถ่ายภาพเธอลงปกอัลบั้มรีมิกซ์ Telegram (1996) ของเธอ

หรือแม้แต่ศิลปินสาวมอนสเตอร์ตัวแม่อย่างเลดี้ กาก้า (Lady Gaga) ก็ยังมาเป็นนางแบบให้อารากิถ่ายภาพ

ซึ่งในจำนวนนั้นมีภาพเปลือยแบบมัดเชือกอยู่ด้วย (โอ้!)

ผลงานของอารากิถูกสะสมอยู่ในคอลเล็กชั่นของหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก ทั้งพิพิธภัณท์ศิลปะสมัยใหม่ เทต โมเดิร์น ในลอนดอน, พิพิธภัณฑ์ภาพถ่าย Fotomuseum Winterthur ในสวิตเซอร์แลนด์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งซานฟรานซิสโก (SFMOMA)

เขายังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัล Sun Prize ในปี 1964, รางวัล Society of Photography Award ในปี 1990 และรางวัล Japan Inter-Design Forum Grand Prix ในปี 1994

อารากิยังเป็นที่รู้จักอย่างอื้อฉาวจากการเข้าถึงเนื้อถึงตัว และมีความสัมพันธ์กับนางแบบที่เขาถ่ายภาพอย่างใกล้ชิด

เขากล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขามักได้แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพจากเรื่องเซ็กซ์นั่นแหละ

ในปี 2018 ก็มีข่าวฉาวเกี่ยวกับอารากิ โดยหญิงสาวชื่อคาโอริ ผู้เคยเป็นนางแบบให้เขาในปี 2011-2016 ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเกี่ยวกับการทำงานของเธอกับอารากิ

โดยเธอกล่าวว่า เขาเอารัดเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์จากเธอ ทั้งในทางศิลปะและการเงิน

เธอกล่าวว่า เธอทำงานโดยไม่มีสัญญาว่าจ้าง และถูกบังคับให้ถ่ายรูปเปลือยอย่างโจ่งแจ้งต่อหน้าคนแปลกหน้ามากมาย โดยไม่ได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม

แถมภาพเปลือยของเธอยังถูกนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเธอ

ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เธอมีบาดแผลทางใจและมีปัญหาทางสุขภาพจิต

จนเมื่อเกิดกระแส Me Too ขึ้นในปี 2018 เธอจึงรวบรวมความกล้าออกมาพูดเรื่องนี้ต่อสาธารณะ

ข้อกล่าวหานี้ทำให้เกิดคำถามอย่างมากเกี่ยวกับบทบาทอำนาจที่ศิลปินและช่างภาพชื่อดังทั้งหลายปฏิบัติต่อนายแบบและนางแบบของพวกเขา

ในเดือนธันวาคม 2018 กลุ่มนักกิจกรรม Angry Asian Girls Association ออกมาประท้วงในงานเปิดนิทรรศการภาพถ่ายของอารากิ ที่หอศิลป์ C/O Berlin เยอรมนี เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้

ปัจจุบันอารากิมีอายุ 79 ปี ถึงแม้เขาจะเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพอย่างหนักหน่วง และสูญเสียการมองเห็นของตาขวาจากการอุดตันหลอดเลือดจอประสาทตามาตั้งแต่ปี 2013 (ซึ่งเขาหยิบเอาแรงบันดาลใจในการสูญเสียการมองเห็นครั้งนั้นมาทำเป็นนิทรรศการ Love on the left eye (2014) ที่แสดงผลงานภาพถ่ายที่ถูกแต่งให้เบลอหรือทาบทับด้วยแถบสีดำสนิททางด้านขวา ราวกับเป็นการล้อเลียนการมองไม่เห็นของตัวเอง)

หากแต่ผลงานของเขาก็ยังคงเปี่ยมล้นไปด้วยพลังชีวิต และแสดงออกถึงความหลงใหลในการถ่ายภาพในทุกลมหายใจ

ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “การถ่ายภาพคือการมีชีวิต เช่นเดียวกับการหายใจและการเต้นของชีพจร”

มิตรรักแฟนศิลปะรุ่นใหม่ๆ หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า อารากินั้นเคยมีผลงานแสดงเดี่ยวในบ้านเรามาแล้ว ในช่วงปี 1998-1999 ในนิทรรศการ “Story Portrait” by Nobuyoshi Araki ที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่อย่าเพิ่งเสียดายที่พลาดโอกาสกันไป

เพราะตอนนี้คอศิลปะชาวไทยมีโอกาสได้ดูผลงานจริงชุดล่าสุดของเขาอีกครั้ง ในนิทรรศการ Life by Film by Nobuyoshi Araki ที่ Leica Gallery Bangkok ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม-27 พฤศจิกายน 2562 (10.00-20.00 น.)

สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใครสนใจจะไปชมก็ติดตามรายละเอียดได้ทาง www.facebook.com/leicagallerybangkok กันได้ตามสะดวก

ขอบคุณภาพจาก Leica Gallery Bangkok