คุยกับทูต โลเรนโซ กาลันตี อิตาลีจับมือไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน (จบ)

คุยกับทูต โลเรนโซ กาลันตี อิตาลีจับมือไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน (จบ)

“ปัจจุบัน อิตาลีไม่ได้เป็นคู่เจรจากับอาเซียน (ASEAN) แต่เรากำลังพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับอาเซียนผ่านคลังสมอง (Think Tank) ในอิตาลีที่เรียกว่า Ambroseti หรือ The European House ซึ่งจัดงานระดับสูงเป็นประจำทุกปี”

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและเครือข่ายกับอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลานให้รายละเอียดว่า Ambrosetti ที่กล่าวมานั้นเป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1965

ปัจจุบัน มีสำนักงานในอิตาลี 7 แห่ง และในอีก 11 ประเทศทั่วโลก

โดยให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ 200 ราย ในเรื่องการจัดการระดับสูง การบริหารจัดการของภาครัฐ การวางยุทธศาสตร์ การจัดการด้านอุตสาหกรรม การฝึกอบรมด้านวิชาชีพ นวัตกรรมและเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ การบริการด้านการตลาดและการขาย การบริการด้านการวิจัย StartUp การจัดการประชุม workshop และอีเวนต์ต่างๆ แก่ภาครัฐและเอกชนกว่า 400 รายทั้งในอิตาลีและทั่วโลก

Ambrosetti ได้รับการจัดอันดับจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ให้เป็นคลังสมอง (Think Tank) อันดับหนึ่งของประเทศอิตาลี

และอยู่ในสิบอันดับแรกในยุโรป

การจัดการประชุมที่สำคัญคือ Ambrosetti Forum ณ เมืองเชอร์นอบบิโอ (Cernobbio) เกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองของโลก การวิเคราะห์การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลกระทบต่ออนาคตของธุรกิจและสังคม ภายใต้กฎชัตแธม เฮาส์ (Chatham House)

ไร่องุ่น Valdobbiadene แหล่งมรดกโลก โดยยูเนสโก 2019

โดยเชิญผู้เข้าร่วมระดับสูง ได้แก่ ผู้นำประเทศ รัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล และผู้บริหารระดับสูงสุด (CEO) รวมถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจของสถาบันและระดับประเทศ เพื่อเป็นการสร้างกลุ่มเครือข่ายระหว่างประเทศในระดับสูงสุดของแต่ละภาคธุรกิจ

“การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นที่สิงคโปร์ ส่วนปีนี้ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม และผมหวังว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ ในปีหน้า โดยจะเป็นการมาชุมนุมกันของกลุ่มนักธุรกิจอิตาลีและอาเซียนเพื่อประชุมหารือกันเป็นเวลาสองวัน ซึ่งมักจะมีสมาชิกของประเทศเจ้าภาพและรัฐบาลอิตาลีร่วมด้วย นับเป็นวิธีการที่น่าสนใจในการพัฒนาความสัมพันธ์แบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) กับอาเซียน แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ของเรากับอาเซียนอยู่ในกรอบของสหภาพยุโรป อิตาลีไม่มีสถานะของคู่เจรจา อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในตอนนี้ แต่อาจจะเป็นในอนาคต”

ท่านทูตโลเรนโซชี้แจง

ความคืบหน้าในการเจรจาต่อรองข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับอิตาลี

เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย 2

“เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาทางการเมือง เพราะในที่สุดก็ได้รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งผมเห็นว่าสำคัญยิ่ง เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ถืออำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44″ อย่างกว้างขวางซึ่งเป็นความแตกต่าง ดังนั้น เราจึงยินดีต้อนรับการพัฒนาในเชิงบวกดังกล่าว และการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้”

“เพราะเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นางเฟดเดอรีกา โมกรีนี (Federica Mogherini) ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป มาเข้าร่วมประชุมอาเซียนในกรุงเทพฯ”

นางเฟดเดอรีกา โมกรีนี ยังได้ยืนยันอีกด้วยว่า อียูเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่สุดของอาเซียน มูลค่าการค้าระหว่างกันเมื่อปีที่แล้วสูงถึง 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับสอง รองเพียงจีนเท่านั้น

โดยยอมรับว่า การเจรจาเอฟทีเอ (FTA)ในนามอียู-อาเซียน (EU-ASEAN) เมื่อปี ค.ศ.2007 “ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างสร้างสรรค์” ในระยะใกล้

แต่การเจรจาเอฟทีเอกับไทยและอินโดนีเซียจะกลับมาเดินหน้าต่อไป

ขณะเดียวกัน อียูกำลังพิจารณารื้อฟื้นการเจรจาแบบเดียวกันกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ แม้เคยล้มเหลวไปหลายปีแล้วก็ตาม

“เนื่องจากสหภาพยุโรป ประเทศไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างสนับสนุนแนวคิดทางการค้าโดยชอบธรรมตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะประเทศไทยและอิตาลีซึ่งมีความสนใจที่จะพัฒนาการค้าระหว่างกัน ไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับภาษีเท่านั้น แต่ในแง่มุมอื่นๆ อีกมากด้วย”

“ดังนั้น การเจรจาจึงอาจใช้เวลานานถึงสองสามปี แต่ผมคิดว่า เป็นความพยายามที่คุ้มค่า ในขณะที่เรายังได้มองไปถึงข้อตกลงที่กว้างขึ้นระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน”

น้ำพุเทรวี่ กรุงโรม แหล่งมรดกโลก โดยยูเนสโก

ความสัมพันธ์และความร่วมมือในอนาคต

“อิตาลีมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนและรัฐสมาชิก โดยคลังสมองของเรา (Ambrosetti) ร่วมกับสมาคมอาเซียน-อิตาลี (Italy-ASEAN Association) จัดงานประชุมประจำปี เรียกว่า การเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูงของอาเซียน-อิตาลี (High Level Dialogue on ASEAN-Italy Economic Relations) ที่เมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเราหวังว่าจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานที่กรุงเทพฯ ในปีนี้หรือปีต่อไป”

การปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ท่านทูตได้ตั้งเป้าหมายอันเป็นการวางเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ

“ในเรื่องของการพัฒนาความร่วมมือให้แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามกรอบข้อตกลงที่มีอยู่ คือหนึ่งในเป้าหมายที่ผมต้องการให้เกิดผล ซึ่งในไม่ช้าจะมีการส่งเสริมสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการวิจัยร่วม รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier technologies) และนวัตกรรมอาหาร”

“ผมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบัน มีข้อตกลง 29 ข้อใน 7 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และ 19 มหาวิทยาลัยในอิตาลี”

“นอกจากนี้ เรายังมีการหารือกันในเรื่องความร่วมมือกับประเทศไทยด้านพลังงานทดแทน โดยผ่านบันทึกข้อตกลงทวิภาคี”

สถานทูตอิตาลีในกรุงเทพฯ นับเป็นสถานทูตขนาดกลาง ที่รวมแผนกกงสุล ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประมาณสามสิบคน ซึ่งมีทั้งคนในท้องถิ่นและชาวต่างชาติ

“เราจัดโปรแกรมตลอดปี ค.ศ.2019 ในกรอบของ Italian Festival in Thailand 2019 มีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การประกวดงานด้านวรรณกรรม การแสดงดนตรีแจ๊ซ การแสดงดนตรีคลาสสิค การแสดงดนตรีบาโรก (Baroque) นิทรรศการศิลปะ เทศกาลภาพยนตร์ (Italian Film Festival Bangkok 2019) เทศกาลอาหาร และการบรรยาย ซึ่งผมอยากจะเน้นว่า เป็นโอกาสสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ ที่จะได้มาพบปะและสร้างความสัมพันธ์ทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มั่นคงแข็งแกร่ง”

เนื่องจากอิตาลีเป็นผู้นำทางด้านศิลปะการทำอาหาร การตกแต่งภายใน แฟชั่น การออกแบบกราฟิก ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมต่างๆ จึงมีผู้กล่าวว่า “4 Fs” คือสินค้าส่งออกของอิตาลีซึ่งเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ได้แก่ อาหาร (Food), แฟชั่น (Fashion), เฟอร์นิเจอร์และการออกแบบ (Furniture and design) และระบบอัตโนมัติในโรงงาน (Factory automation)

“การสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับอิตาลี ก็คือการสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เป็นการนำคนที่มีความสนใจคล้ายกัน มารวมกัน คือสิ่งที่สถานทูตนำเสนอเป็นของขวัญแก่ชาวไทย”

สนามกีฬาโคลอสเซียม (The Colosseum)

การดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ที่มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว ทำให้ท่านทูตโลเรนโซมีภารกิจเดินทางไปสองประเทศนี้เป็นประจำ

หากโอกาสอำนวย ท่านทูตมักไปเยี่ยมชมสถานที่หลายแห่งนอกกรุงเทพฯ กับครอบครัว ได้แก่ อยุธยา เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต และเกาะกูดใกล้กับกัมพูชา แต่การเดินป่า (hiking) ในอิตาลีก็เป็นเรื่องที่ท่านทูตชื่นชอบเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ด้านดนตรี

ท่านทูตอิตาลีซึ่งคงความสูงเพรียวที่โดดเด่นเป็นสง่าถึง 198 เซนติเมตร เปิดเผยแกมหัวเราะอย่างมีความสุขว่า

“นอกเหนือจากชอบอ่านหนังสือแล้ว ผมยังชอบเล่นกีตาร์ด้วย เพราะมีความหลงใหลในเอลวิส เพรสลีย์ มานานแล้ว”

ด้วยความหวังว่า เราจะได้ฟังและชมการแสดงเพื่อสืบสานตำนานเพลงร็อกแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ ของท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี ในเวลาอีกไม่นาน ตามสัญญา

ก่อนอำลา ท่านทูตทิ้งท้ายว่า

“มีชาวอิตาลีหลายคน ซึ่งรวมทั้งผม มีความรักในวัฒนธรรม ประเพณี และประเทศไทย เพราะเราชื่นชมในความกระตือรือร้นของคนไทยที่มีต่อประเทศของเรา ทั้งในด้านภูมิทัศน์ ศิลปะ อาหาร วิถีชีวิตและภาษา เป็นการแสดงถึงจิตวิญญาณที่มีความเคารพและความอยากรู้อยากเห็นซึ่งกันและกัน”

“จึงทำให้การเสริมสร้างมิตรภาพและการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเป็นไปอย่างแข็งแกร่งในทุกด้าน ทั้งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย การลงทุนข้ามพรมแดน และ-สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด-การกีฬา”

“นี่เป็นความมุ่งมั่นของผมในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาประเด็นเหล่านี้ต่อไป ผมขอขอบคุณ อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) คณะกรรมาธิการการค้าของอิตาลีในประเทศไทย (Italian Trade Commission Thailand) หอการค้าไทย-อิตาลี (Thai-Italian Chamber of Commerce) และสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งอิตาลี (Italian Agency for Tourism Promotion : ENIT) ที่ช่วยทำให้การสร้างความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของไทยและอิตาลีเจริญก้าวหน้าไปด้วยดี”

เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย 2

ประวัติเอกอัครราชทูตโลเรนโซ กาลันตี

H.E. Mr. Lorenzo Galanti

ปี 1968 เกิดที่เมืองสตุตการ์ด (เยอรมนี)

ปี 1992 จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิตที่เมืองฟลอเรนซ์

ปี 1993 เริ่มรับราชการแผนกวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศอิตาลี

ปี 1994 เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ในกองทัพอากาศอิตาลี

ปี 1995 ประจำสำนักงานสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศอิตาลี

ปี 1997 เป็นเลขานุการเอก (First Secretary) ประจำสถานทูตอิตาลี ณ กรุงดามาสคัส (ซีเรีย) ดูแลงานด้านการค้า การพัฒนาความร่วมมือ และงานกงสุลเป็นหลัก

ปี 2001 ประจำสถานทูตอิตาลี ณ กรุงดาคาร์ (เซเนกัล) มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเซเนกัล เคปแวร์เด แกมเบีย กีนีบิสเซา กีนีคอนาครี มาลี และเมาริทาเนีย ในตำแหน่งรักษาการแทนที่ปรึกษาและรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต (Acting as Counsellor and Deputy Head of Mission)

ปี 2005 ประจำกรมทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณ และนวัตกรรม (Directorate General for Human Resources, Budget and Innovation)

ปี 2007 เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการ (Head of the Office of the Secretary General)

ปี 2010 ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในตำแหน่งที่ปรึกษาเอก (First Counsellor) รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิทยาศาสตร์

ปี 2014 เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่คณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี ส.ว.เบเนเด็ตโต เดลลา เวโดวา (Head of the Office of the Under Secretary for Foreign Affairs and International Cooperation Sen. Benedetto Della Vedova) มีภารกิจปฏิบัติงานยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปี 2016 เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม (Minister Plenipotentiary)

ปี 2018 เป็นเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย มีอาณาเขตครอบคลุมราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Ambassador to the Kingdom of Thailand, accredited also in the Kingdom of Cambodia and Lao P.D.R. He is also Italy”s Permanent Observer to UNESCAP)

พูดภาษาอิตาลี อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส

สมรส มีบุตรสาว 2 คน และบุตรชาย 1 คน