เทศมองไทย : เมื่ออ้อยไม่หวาน น้ำตาลก็พาลขม

เมืองไทยเราได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อุตสาหกรรมน้ำตาลในบ้านเราจึงเป็นอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำเรื่อยมา

แต่น้ำตาลก็เป็นเหมือนอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก แล้วก็อ่อนไหวต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือภาวะโลกร้อน ที่กระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกอยู่ไม่น้อย

ส่งผลให้หลายครั้งในประเทศมีปัญหาน้ำตาลแพงเกินไปบ้าง ถูกเกินไปบ้าง เดือดร้อนกันเป็นครั้งคราวทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิต

ผลผลิตอ้อย หากมีมากเกินไปในฤดูกาลเพาะปลูกหนึ่งๆ จะส่งผลต่อตลาดของฤดูกาลนั้นๆ อย่างเช่นในฤดูกาลนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2018 เรื่อยมาจนถึงกันยายน 2019 ก็ส่อเค้าว่าผลผลิตอ้อยของไทยจะออกมามากกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่ๆ ต่อราคาอ้อยภายในประเทศ

แต่ที่กำลังจะบอกเล่าต่อไปนี้ก็คือว่า นอกเหนือจากประเด็นที่ว่านั้นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยมากที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในระดับโลก

ที่แน่นอนว่ากระทบชิ่งมายังเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งหลายในประเทศอีกไม่ช้าไม่นาน

 

รายงานที่ปรากฏในเฮเลนิกชิปปิ้งนิวส์ เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมานี้ ชี้ให้เห็นหลากหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำตาลคุณภาพสูงของไทย ตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปี

เริ่มจากประมาณการปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ในประเทศในฤดูกาล 2018-2019 นี้เดิมทีนักวิเคราะห์ในแวดวงคาดกันว่าจะอยู่ที่ช่วงต่ำสุดของประมาณการคือระหว่าง 115-120 ล้านเมตริกตัน แต่เอาเข้าจริงผลผลิตอ้อยของไทยกลับออกมามากถึง 131 ล้านเมตริกตัน

ราคาน้ำตาลในตลาดโลก สำหรับน้ำตาลทรายขาว (นัมเบอร์ 5) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าราคาลดลงมาแล้ว 8 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ราว 304.40 ดอลลาร์ต่อเมตริกตัน นับตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้เป็นต้นมา ยิ่งกดดันต่อราคาน้ำตาลของไทยที่ต้องชำระพรีเมียมเป็นเงินสด หรือแคชพรีเมียมมากขึ้นไปอีก

แคชพรีเมียม 45ไอ ของไทยต่อสินค้าในคอนเทนเนอร์ที่ส่งมอบได้ทันทีอยู่ที่ราว 12 ดอลลาร์ต่อเมตริกตัน ลดลงจากที่เคยอยู่ในระดับสูงสุดของปีที่ 20 ดอลลาร์ต่อเมตริกตันเมื่อ 15 เมษายนที่ผ่านมา

ราคาน้ำตาลเอฟโอบี ณ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ตามข้อมูลของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ ลดลงมามากถึง 20 เปอร์เซ็นต์จากระดับราคาสูงสุดของปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

 

เหตุผลของการที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงอย่างสำคัญอยู่ที่ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกลดลง เอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเร็วๆ นี้จีนเพิ่งเข้มงวดกวดขันกับการลักลอบนำน้ำตาลเถื่อนเข้าประเทศ ทั้งจากไต้หวัน, เมียนมา และกัมพูชา ส่งผลให้ความต้องการน้ำตาลจากไทยลดน้อยลงไปด้วย

ทั้ง 3 ประเทศนั้นเคยซื้อน้ำตาลจากไทยมากถึง 284,387 เมตริกตัน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน แต่ในห้วงเวลาเดียวกันของปีนี้กลับลดลงมาเหลือเพียง 120,046 เมตริกตันเท่านั้นเอง

ความต้องการน้ำตาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นความต้องการภายในประเทศนั้นๆ แต่เป็นเครื่องสะท้อนถึงความต้องการในตลาดจีนมากกว่าอย่างอื่น ถ้าจีนไม่ซื้อ ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ซื้อ

อธิบายง่ายๆ ตามคำบอกเล่าของนักค้าน้ำตาลรายหนึ่งในฮ่องกง ก็คือว่า พ่อค้าในประเทศเหล่านี้ซื้อน้ำตาลของไทยแล้วลักลอบเข้าไปขายให้กับพ่อค้าในประเทศจีน โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามปกติเพราะลักลอบส่งมอบกันนั่นเอง

เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรของจีนเข้มงวดมากขึ้น การนำเข้าไปขายอย่างผิดกฎหมายก็ทำได้น้อยลง ทำให้คำสั่งซื้อจากพ่อค้าเหล่านั้นลดลงตามไปด้วย น้ำตาลเถื่อนจากไทยนั้นพบมากที่สุดในน่านน้ำระหว่างไต้หวันกับจีน เป็นการขนด้วยเรือขนส่งสินค้า ส่วนที่ไหลผ่านชายแดนซึ่งอาศัยสิบล้อขนกันเป็นคันๆ จากพม่า หรือกัมพูชา (ผ่านชายแดนลาว หรือเวียดนาม) นั้นก็มีเช่นกันแต่ยังเป็นส่วนน้อย

 

แหล่งข่าวของเฮเลนิกชิปปิ้งนิวส์บอกว่า เมื่อต้นปี ทางศุลกากรจีนตรวจพบเรือสินค้าขนน้ำตาลเถื่อนเต็มลำอยู่ 2-3 ลำ ทำให้เกิดการเข้มงวดกวดขันดังกล่าวขึ้น

ข้อมูลของแพลตส์ที่ได้รับจากแหล่งข่าวก็คือ ปกติแล้วจะมีเรือบรรทุกสินค้าขนน้ำตาลเถื่อนมุ่งหน้าสู่ไต้หวันราวๆ 10 ลำต่อไตรมาส ตอนนี้เหลือแค่ 2-3 ลำเท่านั้นเอง

ข่าวดีนิดหน่อยที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ราคาน้ำตาลในประเทศจีนเริ่มขยับขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการเข้มงวดดังกล่าว

แต่พอบอกข่าวดีก็มีข่าวร้ายมาตบท้ายอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ อินเดียกำลังเข้าฤดูกาลเพาะปลูกน้ำตาลครั้งใหม่ น้ำตาลคุณภาพต่ำของที่นั่นซึ่งเหลือค้างฤดูกาลอยู่มากมายไม่ใช่น้อย กำลังจะถูกระบายออกมาสู่ตลาด

อย่างแย่ก็คือ ยิ่งกดดันให้ราคาน้ำตาลไทยลดต่ำลงไปอีก แต่อย่างที่แย่ที่สุดคือราคาถูกมากๆ ของมันอาจทำให้จีนหันไปซื้อทดแทนน้ำตาลคุณภาพสูงจากประเทศไทย

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อ้อยก็คงไม่หวาน น้ำตาลก็จะยิ่งขมละครับ