วิเคราะห์ : กู้ผ่านแบบมีเงินทอน ทางเลือกชนชั้นกลางฝ่ากฎเข้ม

เรื่องการควบคุมคุณภาพสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้มาตรการ LTV คุมเข้มตั้งแต่ 1 เมษายนเป็นต้นมา

แม้ ธปท.จะผ่อนคลายให้ผู้กู้ร่วมที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย สามารถกู้ซื้อได้ใหม่โดยไม่มีภาระใดแล้ว

แต่เรื่องสินเชื่อรายย่อยอสังหาฯ ยังไม่จบ

เพราะยังมีรายงานข่าวในแวดวงโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียมไม่เป็นทางการว่า ขณะนี้มีอาชีพใหม่รับเคลียร์เครดิตให้กับลูกค้าที่ยื่นกู้ไม่ผ่าน ช่วยดำเนินการให้กู้ผ่าน และรับผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งเงินทอนที่ลูกค้าจะได้รับมาจากสถาบันการเงิน

วิธีการมีอยู่ว่า คนกลุ่มนี้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในระบบระเบียบกลไกการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นอย่างดี จะเข้าไปขอรายชื่อลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัย ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด บ้านเดี่ยว แต่ยื่นกู้กับธนาคารไม่ผ่าน

คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปช่วยเคลียร์ปัญหา เช่น เคลียร์หนี้บัตรเครดิต ปลดหนี้บางอย่าง เพื่อให้สามารถกู้ได้ในที่สุด

เมื่อกู้ผ่านชำระเงินให้กับบริษัทอสังหาฯ เจ้าของโครงการแล้ว มีเงินกู้เหลือที่เรียกว่าเงินทอน ก็จะขอแบ่งส่วนนี้กลับไปเป็นผลตอบแทน

ผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตในวงการนี้เป็นห่วงว่า ปัจจุบันวิธีการที่ว่า ทำให้คนอยากได้ที่อยู่อาศัยกู้ซื้อได้ตามต้องการ โครงการที่ต้องการขายก็สามารถขายได้ตามต้องการ และคนกลางก็ได้รับผลตอบแทนจากส่วนแบ่งเงินทอน อาจจะยังไม่มีผลกระทบอะไรที่ร้ายแรง

แต่หากวิธีการแบบนี้ขยายตัวต่อไป จะกลายเป็นว่า คนยื่นกู้แค่เพื่อต้องการเงินทอนไม่ใช่อยากได้ที่อยู่อาศัย เมื่อกู้ได้แล้วเผ่นหนี ธนาคารก็จะได้หนี้เสีย โครงการก็ต้องเอาบ้านมาขายใหม่

กลายเป็นปัญหาของเศรษฐกิจได้

 

ปัญหาดังนี้ หากพิจารณาจากภาพรวมเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดเจนว่า เกิดขึ้นเนื่องจาก

1. ประชาชนคนชั้นกลางซึ่งเป็นผู้ซื้อส่วนใหญ่ในตลาดที่อยู่อาศัย มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง มีปัญหาเครดิตทำให้บางส่วนไม่สามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ บางรายจึงพร้อมที่จะรับข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้กู้ได้

2. ธนาคารมีสภาพคล่องมาก ต้องการปล่อยกู้ แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่มี การลงทุนเอกชนยังน้อย ส่วนประชาชนก็มีปัญหาหนี้ครัวเรือน ติดปัญหาเครดิต ธนาคารจึงมีทางเลือกการปล่อยกู้ไม่มากนัก ดังนั้น เมื่อมีช่องทางใดที่สามารถปล่อยกู้ได้ จึงเกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรงด้วยการให้วงเงินสูงๆ

ดังนั้น ตราบใดที่สภาพปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ การปล่อยกู้แบบมีเงินทอนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในจุดที่ปล่อยกู้ได้

ธนาคารมีเงินเหลือมาก ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่สามารถหาเงินทุนได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่การกู้ธนาคาร เหลือแต่คนชั้นกลางที่ต้องการกู้ แต่ก็มีปัญหาเครดิตเพราะมีหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แล้ว

เศรษฐกิจของประเทศเข้ามาอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากครั้งอดีต

เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวมีปัญหา ขณะที่สภาพคล่องไม่ได้ตึงตัว อัตราดอกเบี้ยไม่ได้สูง ตรงข้ามสภาพคล่องมีมาก อัตราดอกเบี้ยต่ำ จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยก็ยากจะได้ผล เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว

เศรษฐกิจต่างประเทศเจอความผันผวนจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้ปริมาณเงิน ค่าเงินผันผวน การส่งออก การท่องเที่ยวเจอปัญหาใหญ่

ดูเหมือนเวลานี้ เศรษฐกิจจะบิดเบี้ยวยังไงๆ พิกลอยู่

ต่อให้เป็นนักบริหาร นักเศรษฐศาสตร์มือระดับโลก ก็ใช่ว่าจะแก้โจทย์นี้ได้ง่ายๆ

แล้วถ้าเป็นมือบ้าๆ บอๆ บอกได้เลยว่า ตัวใครตัวมัน 55