ปชช.ส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็นว่า ต้องแก้ไขกติกาที่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจก่อน

“ปากท้อง” กับ “รัฐธรรมนูญ”

ถึงวันที่ไม่มีใครไม่ยอมรับแล้วว่าประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ อันมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น แม้แต่คนในรัฐบาลเอง

ก่อนหน้านี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมักจะยืนกรานเสียงแข็งว่า อนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มไปในทางที่ดี

มีความเชื่อว่าเพราะนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นให้ “ทุนใหญ่” เข้มแข็ง จะทำให้เกิดการลงทุน และส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างกำลังซื้ออันเป็นเครื่องมือหมุนเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปในทางที่คนในทุกระดับมีความหวัง

แต่ถึงวันนี้ค่อนข้างชัดแล้วว่า นโยบายส่งเสริม “ทุนใหญ่” เช่นนั้น ยิ่งทำให้การบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมมีความซับซ้อน จัดการได้ยากลำบากขึ้น

ภาพรวมของเศรษฐกิจเติบโต แต่ความร่ำรวยไปกระจุกตัวอยู่ที่ “ทุนใหญ่” คนระดับกลางและระดับล่างมีชีวิตที่ยากลำบากในการทำมาหากินมากขึ้น

“ความเหลื่อมถ่างกว้างขึ้นมากมาย” จนภาพของ “นรก” กับ “สวรรค์” แยกออกจากกันชัดเจนขึ้นทุกทีเมื่อมองผ่านการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่มีนโยบายเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม การออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศ ที่สืบทอดอำนาจของกลุ่มคนที่ไม่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมของประชาชนด้วยการ “ดีไซน์รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมายลูก” ให้เอื้อกับการผูกขาดอำนาจ พร้อมกับ “วางตัวบุคคลในกลไกที่จะใช้อำนาจ” ให้ตอบสนองการสืบทอดนั้น โดยใช้อำนาจที่มาจาก “รัฐประหาร” บังคับจัดการให้เป็นไป

ทำให้เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับนโยบายที่เอื้อทุนใหญ่ ไม่ได้รับการสนองตอบ

เมื่อเป็นเช่นนี้การเรียกร้องให้ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” จึงเกิดขึ้น

แต่แม้จะยกเหตุผลมากมายมาชี้ให้เห็นว่าประเทศเดินหน้าไปในทางทำให้ผู้มีอำนาจคิดถึงประชาชนส่วนใหญ่เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ “กติกาโครงสร้างการบริหารประเทศ” ยังเอื้อต่อการผูกขาดอำนาจ

ก็ถูกตอบโต้เพื่อชี้นำประชาชนให้คิดไปในทำนองว่าวาระเร่งด่วนของประเทศคือ “ไม่ใช่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ” ต้อง “แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน”

เหตุผลที่ว่า “การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน” ถูกหยิบขึ้นมาอธิบายต่อเนื่อง และดูจะได้ผล

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจดีขึ้น?”

แม้ในคำถามที่ว่า “สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจปัจจุบันมีปัญหาคืออะไร” คำตอบ 5 อันดับแรก คือร้อยละ 46.67 จะบอกว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไข, ร้อยละ 29.21 เห็นว่าเพราะสินค้าแพง รายได้ต่ำ, ร้อยละ 24.13 เห็นว่าเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก, ร้อยละ 22.54 ชี้ว่านักการเมืองไม่สนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง, ร้อยละ 20 บอกว่าเป็นเพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

อันสะท้อนชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นอยู่ว่า เป็นเพราะความสามารถในการบริหารของรัฐบาล

ทว่า เมื่อถามว่า “เชื่อหรือไม่ว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น”

กลับกลายเป็นว่า การชี้นำความคิดเรื่อง “ปัญหาปากท้องเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนกว่า” ดูจะสำเร็จ

ร้อยละ 32.14 ไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 22.14 ไม่ค่อยเชื่อ รวมที่ออกไปในทางไม่เชื่อมีร้อยละ 54.28 ขณะที่บอกว่า เชื่อมากมีร้อยละ 16.43 ที่ค่อนข้างเชื่อร้อยละ 22.38 รวมแล้วที่เชื่อมีร้อยละ 38.81 ที่เหลือเป็นพวกไม่ตอบ ไม่แน่ใจ

หมายความว่า ทั้งที่รู้ปัญหาว่าเกิดจากการบริหารของผู้ที่มาจากการสร้างกลไกผูกขาดอำนาจ

แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็นว่า ต้องแก้ไขกติกาที่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจให้กลับมาสู่การฟังเสียงประชาชนมากขึ้นก่อน