ธงทอง จันทรางศุ | เกษียณและ “แก่” อย่าง “เกษม”

ธงทอง จันทรางศุ

นี่ผมเพิ่งเดินทางกลับจากการไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดในรัศมีใกล้ๆ กับกรุงเทพฯ กับเพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นปีหนึ่งในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2516 มาเมื่อวานนี้ (1 กันยายน 2562)

ไม่ได้ไปไหนไกลหรอกครับ ไปแค่จังหวัดสระบุรีและลพบุรีนี่เอง

ขากลับมีการแวะไปกินข้าวกลางวัน ที่ร้านในอำเภอเมืองสิงห์บุรีเสียหน่อยหนึ่งด้วย

ทัวร์ที่จัดกันเองแบบนี้ แต่แรกก็ขมีขมันมีคนว่าบอกจะไปด้วยสัก 40 คน

ประธานรุ่นก็เลยคิดการใหญ่ว่าถ้าอย่างนั้นชวนคนนอกไปด้วยอีก 40 คน รวมเป็น 80 คน ผมซึ่งเป็นมัคคุเทศก์เห็นจะรับมือไหว

เอาเข้าจริงจาก 80 คน เหลือสมาชิกเดินทาง 18 คนครับ

คนวัยเกษียณมาสี่ห้าปีแล้วจะมาเอานิยมนิยายอะไรกันล่ะครับ

มาได้แค่นี้ก็ถือว่าบุญโขแล้ว

ระหว่างทางที่นั่งรถไปด้วยกันมาสองวัน ผมสังเกตดูว่าเรื่องที่สนทนามีเนื้อหาหลักที่วนเวียนกลับมาให้ได้ยินอยู่เสมอ คือเรื่องสุขภาพอนามัยและหยูกยาทั้งหลาย

ขึ้นต้นแต่ละคนก็อธิบายว่าตัวเองมีโรคอะไรประจำตัวบ้าง ต่างคนก็มีมาอวดคนละโรคสองโรค ฟังดูแล้วก็ยังดีครับ ที่ไม่มีใครเป็นโรคอันตรายนักหนา เช่น โรคมะเร็งหรืออะไรทำนองนั้น

เพื่อไม่ให้น้อยหน้าผมก็มีไปอวดกับเขาสองโรคเหมือนกัน

โรคหนึ่งคือกรดไหลย้อน ข้อนี้เป็นมานานเกือบ 20 ปีแล้ว ใกล้ตายมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกเพราะยังไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ เลือดออกเกือบหมดตัว ทำท่าเป็นจิวยี่ไปรากเลือดอยู่กลางสยามดิสคัฟเวอรี่ ยังดีที่เขาหามส่งโรงพยาบาลจุฬาฯ ทัน

ส่วนครั้งที่สองนั้นโดยความประมาท เดินทางไปต่างประเทศแล้วกินยาไม่สม่ำเสมอตามกำหนด กลับมาถึงเมืองไทยก็เกือบตายไปเหมือนกัน

ส่วนอีกโรคหนึ่ง คือโรคความดันสูง อันนี้ผมมีไว้ประดับบารมีเฉยๆ กินยาควบคุมเสียวันละหนึ่งเม็ดก็จัดการได้อยู่หมัด

เพื่อนคนอื่นก็มีโรคนั้นโรคนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่ตลอดสองวัน คุยเรื่องโรคแล้วก็ต่อไปจนถึงเรื่องยา แค่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่ากินยาอะไรแล้วจะนอนหลับดีก็คุยกันอยู่ครึ่งชั่วโมงแล้ว

แต่การสนทนาตอนนี้ผมไม่ค่อยได้ยินนะครับ เพราะผมนั่งหลับไปเสียก่อนโดยไม่ต้องกินยา แหะ แหะ

เห็นได้ชัดทีเดียวว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวกับเพื่อนในวัยเดียวกันอย่างนี้ นอกจากความสนุกสนานที่ได้เจอเกลอเก่าแล้ว ยังได้มรณานุสติกำกับการเดินทางอยู่เสมอ

จะเป็นด้วยหยูกยา หรือการดูแลรักษาสุขภาพ หรือคุณหมอสมัยนี้เก่งกว่าสมัยก่อน หรือจะเป็นด้วยเหตุผลอื่นใดอีกร้อยแปดพันเก้า

สิ่งที่แน่นอนคืออายุเฉลี่ยของคนรุ่นปัจจุบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

เมื่อตอนผมเป็นเด็กนั้น เห็นผู้ใหญ่อายุ 70 ปีกว่าก็รู้สึกว่าท่านแก่เหลือเกิน

จะหาผู้ใหญ่อายุ 80 กว่าปีขึ้นไปก็มีเพียงไม่กี่ท่าน

แล้วมาดูสมัยนี้สิครับ อายุ 80 ปีนี้ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก

วันก่อนผมไปประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา โอกาสเหมาะได้พบกับคุณหญิงนันทกา สุประภาตนันทน์ ท่านเพิ่งฉลองอายุครบ 100 ปีไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

พอพบหน้ากันปุ๊บท่านก็ทักผมปั๊บได้ทันที แปลว่าสมองของท่านยังแม่นยำอยู่มาก

จะมีที่ช้าลงไปบ้างก็คือการเดินเหินของท่านเท่านั้น

ที่ปรารภเรื่องนี้ขึ้นมาในครั้งนี้ เพราะเห็นคนอื่นอายุยืนยาว ก็เริ่มเป็นห่วงตัวเองขึ้นมาบ้าง

“ห่วง” ในที่นี้ไม่ได้ห่วงว่าจะอายุสั้นนะครับ

ผมจะแปลกกว่าคนอื่นหรืออย่างไรก็ไม่รู้ แต่ห่วงว่าตัวเองจะอายุยืนครับ

ผมรู้สึกว่า อายุยืนมีความเสี่ยงที่ต้องพบในวันข้างหน้าอีกมาก

คิดดูง่ายๆ ก็แล้วกัน ถ้าอายุยืนแล้วมีปัจจัยแวดล้อมเพียบพร้อม ตั้งแต่มีสุขภาพยังพอใช้ได้ มีปัจจัยบริบูรณ์เพียงพอไม่ขาดแคลน มีลูกหลานหรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลประคบประหงม แบบนี้มันก็น่าอายุยืนกับเขาเหมือนกัน

แต่ใครเล่าจะมารับประกันว่าเราอายุยืนแล้วจะได้แบบนั้นครบทุกข้อ

เอาแค่ข้อแรกก็กลุ้มหนักแล้ว อายุเท่าผมก็ต้องขยันตรวจสุขภาพหน่อย หมอสั่งอะไรก็ต้องทำ หมั่นออกกำลังกายพอเหมาะพอควรสมกับอายุ

ที่พูดนี่ผมพูดได้ทั้งนั้นครับ แต่ไม่ได้แปลว่าผมทำได้ หรือแปลว่าผมได้ทำ

ผมก็คนธรรมดานี่แหละครับ ถ้าไม่จวนตัวจริงๆ ก็ปล่อยเลยตามเลยไปก่อน

หันมาดูข้อสองกันบ้าง อายุเลยวัยทำงานแล้วรายได้ย่อมหดถดถอยลงไปเป็นธรรมดา

ผู้สูงอายุก็ต้องรู้จักปรับตัว จับจ่ายใช้สอยให้พอเหมาะกับรายได้ที่ได้รับ

ตอนทำงานเป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวงได้เงินเดือนมาก พอเกษียณแล้ว บำนาญที่ได้รับรายเดือนลดลงเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียวของเงินที่เคยได้ก่อนเกษียณ

ที่เคยกินหูฉลามสองชามก็ต้องลดลงเหลือชามเดียว อะไรทำนองนั้น

ถ้ากินสองชามเหมือนเดิม แต่มีคนออกสตางค์เลี้ยงก็ไม่เป็นไรหรอกครับ คิดหน้าคิดหลังก่อนสั่งชามที่สองก็แล้วกัน

ส่วนข้อสามคือการที่มีคนอยู่ช่วยดูแลประคบประหงม ถ้ามีได้อย่างนี้มันก็ดีหรอกครับ แต่ก็ต้องเผื่อใจเอาไว้บ้างเพราะโลกสมัยนี้ ครอบครัวก็มีสมาชิกจำนวนน้อย เด็กที่เป็นลูกหลานของเรา เขาก็มีชีวิต มีภาระของเขา

เราคงต้องหัดพึ่งตัวเองให้มากขึ้น อยู่ด้วยตัวเราเองให้ได้

พยายามอย่าไปยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจ

แย่งกันหายใจไม่ดีหรอกครับ

ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเวลานี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ผมเปิดปฏิทินดูนี่ก็เดือนกันยายนจะกลางเดือนอยู่แล้ว สำหรับคนเป็นข้าราชการ วันที่ 30 กันยายนก็สิ้นปีงบประมาณ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์แล้วก็จะได้อยู่ในฐานะเป็นคนเกษียณอย่างเกษมเต็มภาคภูมิ ในฐานะผู้ที่เกษียณแบบเป็นเรื่องเป็นราวมาครบสี่ปีบริบูรณ์ ขอกล่าวต้อนรับน้องใหม่ผู้เกษียณอายุในปีนี้ด้วยความยินดี

เคยมีคนบอกผมว่า เมื่อเกษียณแล้ว สิบปีแรกเราจะติดเที่ยว เพราะคราวนี้จะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องส่งใบลาบอกใคร

พออายุ 70 ปี สิบปีต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของติดบ้าน คือใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือละแวกใกล้บ้าน

พออายุขึ้นเลข 80 เราก็จะติดห้อง คือเดินวนเวียนอยู่ในห้องเพียงแค่สองสามห้อง ได้แก่ ห้องนอนและห้องอยู่ใกล้ห้องนอน

สิบปีต่อมาเมื่ออายุ 90 แล้ว เราอาจจะต้องติดเตียง ไปไหนได้ไม่ไกลเกินเตียงครับ

คำกล่าวนี้จริงเท็จประการใดต้องรอพิสูจน์ ตอนนี้ผมอยู่ในช่วงติดเที่ยว ขอไปเที่ยวก่อนนะครับ พอเที่ยวครบสิบปีแล้วจะมาส่งข่าวว่าเป็นอย่างไร

เพื่อนฝูงส่งเสียงหน่อยว่า ทริปหน้าจะไปไหนกันดี

ถ้ามียาดี หมอดีมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหน่อยนะคร้าบ