วงค์ ตาวัน | ปู่คออี้-บิลลี่ ในสายตาโลก

วงค์ ตาวัน

การคลี่คลายคดีบิลลี่หรือพอละจี รักจงเจริญ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กำลังจะยกระดับจากคดีคนหายให้กลายเป็นคดีฆาตกรรมนั้น ถ้าทำได้สำเร็จจริง จะส่งผลตามมากับ 2 เรื่องใหญ่

1. การฟื้นความเชื่อถือต่อระบบยุติธรรม เพราะคดีอุ้มหายแล้วเอาศพไปเผาป่นทำลาย แทบจะไม่สามารถคลี่คลายได้เลย เนื่องจากได้ทำลายหลักฐานสำคัญคือศพจนหมดสิ้น ทำให้ตั้งเป็นคดีฆ่าไม่ได้

2. การคลี่คลายปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในสายตาขององค์กรใหญ่ๆ ระดับโลก ที่จับตามองการละเมิดสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมาตลอด นับจากการใช้มาตรการรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการขับไล่ เผาบ้าน เผายุ้งฉาง เมื่อต้นปี 2554 จนนำมาสู่การต่อสู้ฟ้องร้องระหว่างแกนนำกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

จากนั้นยังมีการเสียชีวิตของนายทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด นักการเมืองพรรคเพื่อไทยเพชรบุรีที่เข้าร่วมเรียกร้องให้กับฝ่ายกะเหรี่ยง โดยถูกมือปืนยิงตายในปลายปี 2554

ตามด้วยการหายตัวของนายบิลลี่ในปี 2557 ซึ่งล่าสุดมาพบหลักฐานบ่งชี้ว่าถูกฆ่าเผาแล้ว

“ปัญหาการเผาบ้านและยุ้งฉาง การตายของอาจารย์ป๊อดและบิลลี่ เชื่อมโยงเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ที่องค์กรระดับโลก เช่น ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) และสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ออกแถลงการณ์พูดถึงมาตลอด”

รวมทั้งอยู่ในสายตาขององค์กรยูเนสโก

“โดยยูเนสโกเพิ่งตีตกป่าแก่งกระจานจากการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในการประชุมพิจารณาครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ด้วยการให้ไทยกลับไปทำรายงานแก้ไขใหม่ใน 3 ประเด็น และ 1 ใน 3 ประเด็นคือ การจัดการชุมชนที่ป่าแก่งกระจาน

เท่ากับว่า บิลลี่ผู้สูญหายไปตั้งแต่ 5 ปีก่อนจะได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมาหรือไม่ จะสามารถสรุปได้หรือไม่ว่าถูกฆ่าไปแล้ว และคนที่ก่อเหตุจะต้องถูกนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ถ้าดีเอสไอสามารถทำได้บรรลุผล จะส่งผลทั้งต่อความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม และการคลี่คลายประเด็นสิทธิมนุษยชนในสายตานานาชาติ

ถือเป็นงานการทำคดีที่สำคัญอย่างมาก เป็นงานระดับชาติและระดับโลกจริงๆ!

สมัยก่อนเรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า ชาวเขาส่วนใหญ่ชอบทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลต่อการทำลายป่าอย่างรุนแรง จนผืนป่าสำคัญๆ ตามภูดอยต่างๆ ของประเทศไทยลดน้อยลงไป เพราะพฤติกรรมของชาวเขาเหล่านี้

ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้านนี้ บุกจับกุมหรือขับไล่คนชาติพันธุ์ต่างๆ อพยพให้ออกจากผืนป่าออกจากเขตอุทยานฯ ต่างๆ คนจำนวนไม่น้อยจะพึงพอใจและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์สืบต่อไป

แต่ในระยะหลัง มีนักพัฒนาชนบท มีนักสิทธิมนุษยชน เข้าถึงผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ นำความจริงจากป่าลึกออกมาถ่ายทอดให้คนในเมืองได้รับรู้ในมุมใหม่ เช่น การทำไร่เลื่อนลอยนั้น อันที่จริงคือไร่หมุนเวียน

“ไม่ใช่การบุกรุกถากถางป่าเพื่อทำไร่แบบเลื่อนลอยไปเรื่อยๆ”

แต่คนชาติพันธุ์ต่างๆ มีระบบไร่หมุนเวียน โดยเปลี่ยนพื้นที่ทำไร่ใหม่ตามช่วงเวลา เพื่อให้พื้นที่เดิมได้ฟื้นฟูกลับมาเป็นผืนดินและผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์

รวมทั้งได้รู้กันว่า คนชาติพันธุ์ต่างๆ นั้นมีความเคารพนับถือในผืนป่าอย่างมาก อาศัยอยู่กินอย่างสำนึกในบุญคุณธรรมชาติ ไม่เคยทำลาย มีแต่ดูแลเพื่อให้อยู่กินได้ต่อไปยาวนานท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่ได้ลดน้อยลงไป

“กะเหรี่ยงบางกลอยก็เช่นเดียวกัน มีหลักฐานว่าอยู่ในป่าแก่งกระจานบริเวณนั้นมากว่าร้อยปีแล้ว ก่อนที่ทางการจะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ และมีระบบการอยู่กินที่เคารพธรรมชาติ ไม่เคยทำลาย”

แต่ด้วยนโยบายแข็งกร้าวของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่บางรายบางกลุ่ม จึงใช้ปฏิบัติการขับไล่และเผา เพื่อกวาดต้อนคนออกจากป่า

จึงทำให้เกิดการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนเกิดขึ้น

“ปู่คออี้” ที่เพิ่งเสียชีวิตในวัย 107 ปี เมื่อปี 2561 เอ่ยชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ทั้งในไทยและในสายตาองค์กรโลก

“ขนาดมีการจัดนิทรรศการภาพวาดปู่คออี้ที่หอศิลป์ กทม. ซึ่งมีผู้คนจากทั่วประเทศวาดภาพปู่คออี้ส่งมาร่วมอย่างล้นหลาม”

ปู่คออี้คือผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกขับไล่และเผาบ้าน ยุ้งฉาง เป็นสัญลักษณ์ของการทวงสิทธิชีวิตความเป็นอยู่ ที่สะเทือนใจคนไปทั่ว

ขณะที่ปู่คออี้เสียชีวิตด้วยวัยชรานั้น ยังไม่มีคำตอบว่า “บิลลี่” ผู้เป็นหลานชาย ที่เป็นแกนนำในการต่อสู้ทางกฎหมาย สูญหายไปไหน

ชะตากรรมของปู่คออี้และบิลลี่จึงเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วทั้งสังคม

ถ้าวงการราชการไทยยังไม่เปิดหูเปิดตารับรู้ข้อเท็จจริงใหม่ๆ และถ้ายังไม่มีจิตสำนึกรับใช้ประชาชน แต่ยังวางตัวอยู่เหนือชาวบ้าน พร้อมจะใช้อำนาจในมือจัดการปัญหา โดยไม่สนใจความละเอียดอ่อนซับซ้อน

“ถ้ายังเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยก็จะถูกเฝ้ามองจากนานาชาติในปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้อำนาจรุกรานสิทธิของชุมชนต่างๆ ชนกลุ่มน้อยและคนชาติพันธุ์ต่างๆ และจะถูกจัดอันดับอย่างติดลบต่อไป”

เรื่องป่าแก่งกระจาน ถ้านำไปเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งใหม่ จะผ่านได้หรือไม่

ย่อมขึ้นอยู่กับการจัดการปัญหาสิทธิชุมชนให้ถูกต้องลงตัว

“การคลี่ลายคดีบิลลี่ที่ดีเอสไอกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่ จะเป็นกุญแจดอกแรกในการไขไปสู่การแก้ปัญหาป่าแก่งกระจาน!”

ถ้ารวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถดำเนินคดีข้อหาฆ่าแล้วเผาได้ สามารถนำตัวผู้กระทำผิดขึ้นพิสูจน์ความจริงในศาลได้

จะกลายเป็นคดีที่เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ให้วงการราชการไทยในการจัดการเรื่องชุมชนตามป่าเขาต่างๆ

ลุแก่อำนาจไม่ได้ ใช้มาตรการแข็งกร้าวขับไล่รื้อเผาทำลายไม่ได้

“หรือถ้าชุมชนใช้สิทธิต่อสู้ จะไปปิดปากด้วยวิธีนอกระบบไม่ได้อย่างเด็ดขาด”

ย่างก้าวแรกของการคลี่คลายปัญหานี้

สังคมไทยฝากความหวังไว้ที่ดีเอสไอ!