ใครฆ่า “บิลลี่” พอละจี? บทพิสูจน์ฝีมือดีเอสไอ

เป็นเวลากว่า 5 ปี การหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ทิ้งปริศนา สร้างความคลางแคลงใจ เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า “บิลลี่หายไป” คนกลุ่มไหนที่เกี่ยวข้องกับหายตัวไป

และที่สำคัญคือ บิลลี่เสียชีวิตแล้วหรือยัง?

3 กันยายนที่ผ่านมา ปมสงสัยก็ได้คำตอบชัดเจนขึ้น เมื่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นพ.วรวีย์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายสว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวจากคดีการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

กลายเป็นคดีฆาตกรรม เมื่อผลการแถลงระบุว่า ดีเอสไอได้ตรวจพบเศษชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ส่วนกะโหลกด้านท้ายทอยค่อนมาทางหูชั้นใน และเป็นชิ้นสำคัญ ซึ่งหากไม่ได้อยู่ในร่างกายแสดงว่าผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว กระดูกมีรอยไหม้แตกร้าว ผลการตรวจดีเอ็นเอ ตรงกับมารดาของนายพอละจี หรือบิลลี่

นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนจาก “คดีบุคคลสูญหาย” กลายเป็น “คดีฆาตกรรม”

จุดเริ่มของคดีหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่นั้น ดีเอสไอเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปี 2561 เนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ให้รับกรณีการหายตัวไปของนายพอละจีเป็นคดีพิเศษ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจีถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัวนายพอละจีพร้อมรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งของกลางออกไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี

ตอนนั้นคดีดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนไปให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน

จากนั้นในเดือนธันวาคม 2561 ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอสอบสวน โดยแยกการสอบสวนออกเป็น 2 สำนวน

คดีแรกเป็นคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ส่งตัวบิลลี่ให้ตำรวจดำเนินคดีข้อหาลักลอบเก็บของป่า และคดีการหายตัวไปของบิลลี่

ซึ่ง น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจีและญาติ เชื่อว่านายพอละจีถูกบังคับให้หายสาบสูญ

ต่อมาดีเอสไอได้แต่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ ร่วมกันสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องมา

จนกระทั่งพบพื้นที่ที่พยานบุคคลระบุพิกัด นำหุ่นยนต์ดำน้ำเก็บหลักฐานตรวจสอบดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ

“บิ๊กดำ” พ.ต.ท.กรวัชร์ มือปราบรถหรูและอีกหลายคดี ได้เข้าไปคลี่คลายลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึก ได้ไล่เรียงเหตุการณ์ว่า ดีเอสไอเริ่มตรวจสอบจากเวลาที่พยานบุคคลอ้างว่าพบบิลลี่ที่บ้านหนองมะเร็ว ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จากนั้นก็ไม่มีใครพบตัวบิลลี่อีกเลย

ดีเอสไอใช้เวลานานมากในการตรวจพยานหลักฐานจนทราบจุดพิกัดที่เชื่อว่าคนร้ายน่าจะนำสิ่งของหรือวัตถุต้องสงสัยไปทิ้ง เพราะบิลลี่หายตัวไปพร้อมรถจักรยานยนต์ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 และวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562 ดีเอสไอได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ใช้โดรนสำรวจทางอากาศร่วมกับหุ่นยนต์ใต้น้ำ หรือยานยนต์สำรวจใต้น้ำ สแกนด้วยคลื่นโซนาร์ เพื่อตรวจค้นวัตถุพยานใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน นาน 6 ชั่วโมง

พบวัตถุต้องสงสัย 3-4 จุด จึงนำนักประดาน้ำจาก ตชด. มนุษย์กบ พบถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง มีการเจาะรู มีลักษณะผุดำ ไหม้เป็นบางส่วน และยังพบเหล็กเส้นจำนวน 2 เส้น ถ่านไม้จำนวน 4 ชิ้น เศษฝาถังน้ำมัน ในถังน้ำมันมีชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น บริเวณใกล้ถังน้ำมันยังพบเศษกระดูกคล้ายกระดูกมนุษย์

รวบรวมส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ พบว่าวัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนหรือถูกเผาด้วยความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่ เป็นไมโตรคอนเดียดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกเท่านั้น จึงยืนยันได้ว่ากะโหลกศีรษะที่พบเป็นของบิลลี่

“บิลลี่” เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมแล้ว

ส่วนถังน้ำมันที่ใช้บรรจุกะโหลกศีรษะของบิลลี่ ดีเอสไอได้ส่งให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐานภาค 7 ตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการผ่านความร้อนและการผุกร่อน ส่งชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีก 20 ชิ้น ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

แม้จะสรุปได้ว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย โดยศพถูกนำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี

แม้จะพอรู้ตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัย แต่ยังขอเวลาให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานให้ชัดเจน และจะเชื่อมโยงวัตถุพยานในที่เกิดเหตุว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบ้าง และที่สำคัญ เหล็กเส้น 2 เส้นจากเสาตอม่อและพฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมาน

ต้องยอมรับว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่หลายกลุ่มให้ความสนใจ และกลายเป็นคดีสำคัญระดับสากลที่มีการหยิบหยกขึ้นมาพูดถึงบนเวทีโลก เพราะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

และยิ่งสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อสำนวนคดีเปลี่ยนเป็นคดีฆาตกรรม ดีเอสไอต้องเร่งตามหาพยานหลักฐาน ที่ดูเหมือนจะเลือนราง เพราะเวลาผ่านไปกว่า 5 ปี เพื่อนำมาใช้ประกอบสำนวนคดีฆาตกรรม และเชื่อมโยงกลุ่มคนที่ลงมือสังหารนายพอละจี

ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ “พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง” ออกมาระบุแล้วว่าคดีนี้จะใช้เวลาคลี่คลายไม่เกิน 3 เดือน รวบรวมพยานด้วยความรัดกุม

คดีนี้เป็นอีกบทพิสูจน์ฝีมือ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” คงต้องรอติดตาม