วิเคราะห์ | ปชป.เดินเกมแก้ รธน.กดดัน “บิ๊กตู่” ฝ่ายค้านชิงจังหวะพิสูจน์ความจริงใจ รื้อทิ้งฉบับ “ค่ายกลเจ็ดดาว”

แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

แม้ที่ผ่านมาจะมีความสงสัยอันเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในสังคม ถึงคำว่า “เร่งด่วน” ว่า เป็นเมื่อไหร่

แต่คำตอบที่ได้จาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนหน้านี้ก็เป็นอย่างที่สังคมรับรู้ รับทราบ

“ก็แก้ไขกันไป เมื่อไรก็เมื่อนั้น อยู่ที่จะทำเร็วหรือทำช้า”

จะทำช้าหรือทำเร็ว ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล

แต่ที่ผ่านมาฝ่ายค้านชิงการนำคิกออฟแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วเรียบร้อย

โดยเฉพาะเวที “นอกสภา” ที่คึกคักขึ้นเรื่อยๆ

เพราะไม่เพียงเวที “ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน” สัญจร 4 ภาค จากบทบาทของ 7 พรรคร่วม โดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธานเท่านั้น

หากแต่ยังมีการขับเคลื่อนด้วยการเดินสายเปิดเวที “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ : ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” โดยพรรคอนาคตใหม่อย่างแข็งขันอีกด้วย

แข็งขันแสวงหา “แนวร่วม” จนกระทั่งเวทีที่ จ.ขอนแก่น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องหาสถานที่จัดใหม่กันในนาทีสุดท้าย โดยมีรายงานว่าเจ้าของสถานที่ต้องยกเลิกการเข้าใช้ เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดันอย่างหนัก

นี่ยังไม่นับรวมไปถึงองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ อ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน ก็กำลังจะตั้งเค้าทำงานกันอย่างเต็มที่เช่นกัน

ขณะที่บทบาท “ในสภา” ก็ไม่น้อยหน้า

7 พรรคฝ่ายค้าน โดย 219 ส.ส.ได้เข้าชื่อยื่นเสนอญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560

แต่เหตุที่ยังไม่ถึงคิวพิจารณา เพราะนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการบรรจุญัตติและกระทู้ได้วินิจฉัยว่า ไม่ใช่ญัตติด่วน จึงต้องรอลำดับการพิจารณา เพราะยังมีญัตติค้างรอการพิจารณาอยู่อีกมาก

มากกระทั่งไม่รู้ว่าจะได้พิจารณากันเมื่อไหร่ แม้จะเข้าใกล้ช่วงเวลาของการปิดสมัยประชุมเข้าไปทุกทีๆ แล้วก็ตาม

ดังนั้น “เมื่อไรก็เมื่อนั้น” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นคำตอบของกรณีนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอจะเป็นเพียงขั้นของ “การศึกษา” เท่านั้น

ต้องยอมรับว่า เนื่องด้วยเหตุผลที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ที่สำคัญยังเป็นนโยบายอันเป็น “เงื่อนไข” ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการนำ 53 ส.ส.ยกมือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ด้วย

ดังนั้น กรณีที่ 25 ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยนายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ลงรายชื่อยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์จำต้อง “เงี่ยหู” ฟัง จะมาทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ร้องเพลง “ขอเวลาอีกไม่นาน” ต่อไปอีกไม่ได้

เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากเนื้อในของพรรคร่วมรัฐบาลที่รุกใส่รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” อย่างที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐเคยระบุไว้ด้วย

สำหรับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ท่าทียังแข็งก้าว “วันนี้ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องอุทกภัยกับภัยแล้งกันก่อน วันนี้ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ต่างจากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำฝ่ายบริหาร แม้จะยังแข็งกร้าว ด้วย “เงื่อนไข” แต่โอนอ่อนต่อพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้มีการปลุกระดมประชาชนออกมาบนท้องถนน

ขณะที่ฟากฝั่งสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ภายหลังจากที่ 25 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชิงการนำในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคอื่นๆ ก็เริ่มมีท่าที และนายเทพไทยังออกมาระบุชัดถ้อยชัดคำว่า “การดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบโดยตรง แต่การตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เป็นงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรยกปัญหาน้ำท่วมมาเป็นข้ออ้างในการปิดกั้นการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะทำให้การตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ล่าช้าออกไป”

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา คือรูปธรรมลำดับถัดมา

8 ส.ส.นำโดย นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ยื่นญัตติสนับสนุนการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ก็โนพรอมแพลม หากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วย ก็ไม่มีปัญหา

แต่จังหวะที่นายเทพไทไฟต์ให้ญัตติที่ 25 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วนรอไว้เพื่อเมื่อเปิดสมัยประชุมหน้าในเดือนพฤจิกายนนี้ หรืออีก 2 เดือนข้างหน้า สภาจะได้พิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญทำงานได้ทันที

ฝ่ายค้านหยิบเกมรุกนี้จี้ใจดำพรรคร่วม ขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เลื่อนลำดับนำญัตติที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาพิจารณาในสมัยประชุมนี้ทันที

เล่นเกมพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะเสียงของพรรครัฐบาลเพื่อยกมือสนับสนุนให้เลื่อนญัตติขึ้นมาพิจารณา

นี่จึงเป็น “ไฟต์บังคับ” ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องเริ่มแสดงท่าที โดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประกาศทันทีว่า พร้อมจะยื่นญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

แต่เป็นการยื่นต่อประธานสภาในสมัยการประชุมหน้า

ขยับเล็กน้อย โดยยื้อการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ได้อย่างน้อย 2 เดือน

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ นอกจาก 7 พรรคฝ่ายค้านจะแสดงจุดยืนแล้ว ยังมีอีก 2 พรรคร่วมรัฐบาลที่ยื่นญัตติอย่างเป็นรูปธรรมแสดงความจำนงเพื่อหาแนวทาง

แต่ต้องยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามบทบัญญัติถือเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีกลไกที่ล็อกหลายชั้นไว้

หรือที่นายนิกร จำนง เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับค่ายกลเจ็ดดาว

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากในขณะนี้ นั่นก็คือ กระบวนการได้มาของรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับที่ได้รับการยอมรับว่ามีที่มาจากประชาชนมากที่สุด

แม้วันนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สภาจะแค่แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียว เพื่อไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ก็เป็นเรื่องยากมากกว่าจะฝ่ามาได้

ในฐานะที่มีประสบการณ์ นายนิกรบอกว่า วันนั้นที่สำเร็จได้เป็นเพราะประชาชน เช่นเดียวกับวันนี้ หากไม่มีประชาชนเป็น “มาสเตอร์คีย์” เพื่อสะเดาะค่ายกลเจ็ดดาวก็ไม่สามารถแก้ไขได้

แน่นอน ขณะนี้แต่ละฝ่ายเริ่มดำเนินการแนวทางอันเป็นโมเดลของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้

โดยเฉพาะ 7 พรรคฝ่ายค้าน

แต่การตั้ง กมธ.วิสามัญฯ โดยสภา ก็ถือว่ามีความจำเป็น เพราะสภาถือเป็นกลไกที่ทุกพรรคต้องใช้สำหรับทำงานนี้ร่วมกัน หากทุกฝ่ายไม่พร้อมใจกันทำงานเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอย่างประนีประนอม ก็ยากที่จะทำสำเร็จ

และที่สำคัญ ยังอาจเกิดผลในมุมกลับ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งอีกด้วย