วิเคราะห์ : “ทรัมป์” ล้มโต๊ะเจรจา “ทาลิบัน” อนาคตที่ไม่แน่นอนของอัฟกานิสถาน

สงครามในอัฟกานิสถานที่ก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 หรือเมื่อราว 18 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นเนื่องจากสหรัฐต้องการที่จะโค่นล้มกลุ่มติดอาวุธ “ทาลิบัน” ซึ่งปกครองอัฟกานิสถาน ที่ถูกระบุว่าให้ที่หลบซ่อนตัวแก่พวกเครือข่ายก่อการร้ายอัลเคด้า ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีสหรัฐครั้งใหญ่

สหรัฐจึงได้ส่งกองกำลังทหารเข้าไปจัดการกับกลุ่มทาลิบัน และโค่นทาลิบันลงได้ในที่สุด

หลังจากนั้นอัฟกานิสถานก็ระส่ำระสาย มีสงครามและความรุนแรงเรื่อยมา แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น หากแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ประเทศชาติสงบได้

ตัวเลขของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่ามีพลเรือนอัฟกันต้องจบชีวิตจากสงครามและเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานมากถึงกว่า 32,000 คน

นี่ยังไม่นับรวมบรรดาทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ต้องจบชีวิตลงอีกเกือบ 3,500 นาย

ในจำนวนนี้ เป็นทหารอเมริกันถึงกว่า 2,300 นาย

 

ความรุนแรงที่ดูยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ในอัฟกานิสถาน จึงกลายเป็นที่มาของความพยายามที่จะเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพขึ้น

และที่ผ่านมา ตัวแทนของสหรัฐกับกลุ่มทาลิบันได้หารือกันถึง 9 รอบ กว่าจะกลายเป็นที่มาของการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ จะนั่งโต๊ะเจรจากับนายอาชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานกับผู้นำอาวุโสของกลุ่มทาลิบัน ที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ที่แคมป์เดวิด สหรัฐอเมริกา

แต่ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ทรัมป์ก็ทวีตยกเลิกการเจรจาอย่างกะทันหัน ล้มโต๊ะการเจรจาที่เตรียมการมานานเกือบ 1 ปี

เหตุผลก็คือ ทาลิบันก่อเหตุโจมตีร้ายแรงขึ้นในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 5 กันยายน และทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต มีทหารอเมริกันรวมอยู่ด้วย 1 นาย

โดยทรัมป์ทวีตว่า ทาลิบันยอมรับว่าก่อเหตุโจมตีในกรุงคาบูล และได้สังหารทหารผู้กล้าของสหรัฐไป 1 นาย จึงขอยกเลิกการพบปะและยกเลิกการเจรจาสันติภาพ

นายซาบีฮุลลาห์ มูจาฮิด โฆษกของกลุ่มทาลิบัน ได้ออกแถลงการณ์หลังการยกเลิกการเจรจาของทรัมป์ ว่าการยกเลิกกระบวนการสันติภาพก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในข้อตกลง “เพราะเหตุระเบิดครั้งเดียว” แสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะและประสบการณ์ของสหรัฐ

มูจาฮิดกล่าวด้วยว่า กลุ่มทาลิบันและรัฐบาลอัฟกันตกลงที่จะเจรจากันในวันที่ 23 กันยายนนี้

แต่ยังไม่มีการยืนยันจากรัฐบาลอัฟกันในเรื่องดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ในช่วงการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เมื่อปี 2016 ทรัมป์ได้ประกาศเอาไว้ว่าจะยุติสงครามสหรัฐในอัฟกานิสถาน

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์กลับบอกว่า ต้องการที่จะปรับลดจำนวนทหารในอัฟกานิสถานลงเหลือราว 8,600 นาย ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับจำนวนทหารที่ประจำอยู่ในอัฟกานิสถาน เมื่อตอนที่ทรัมป์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ แต่ตอนนี้สหรัฐมีกำลังทหารอยู่ในอัฟกานิสถานรวมทั้งสิ้น 14,000 นาย

หลังจากนั้นทรัมป์ก็ประกาศว่า สหรัฐจะยังคงกองกำลังทหารไว้ในอัฟกานิสถานต่อไป

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐหลายต่อหลายคนเกรงว่า หากสหรัฐถอนกำลังทหารออกทั้งหมด อาจจะทำให้อัฟกานิสถานตกอยู่ในสภาพขาดซึ่งเสถียรภาพและจะทำให้พวกกองกำลังติดอาวุธทั้งหลาย ใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีชาติตะวันตก

ด้านกลุ่มติดอาวุธทาลิบันเอง ซึ่งปัจจุบันครอบครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานไว้มากที่สุด นับตั้งแต่สหรัฐทำสงครามอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 ยืนยันว่าพวกตนจะไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลอัฟกัน จนกว่าจะมีการตกลงเกี่ยวกับช่วงเวลาที่แน่นอนในการถอนกำลังทหารของสหรัฐ

แต่จริงๆ แล้วกลุ่มทาลิบันเองก็ไม่เคยตกลงที่จะยุติการก่อเหตุรุนแรงที่มีต่อชาวอัฟกันและกองกำลังต่างชาติแต่อย่างใด ในช่วงที่การเจรจาสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป

 

แม้แต่ในช่วงเวลาที่นายซัลเมย์ คาลิลซัด ทูตพิเศษของสหรัฐ เดินทางถึงกรุงคาบูลก่อนหน้าการเจรจาเกิดขึ้น 1 สัปดาห์ ก็ยังคงมีการโจมตีของกลุ่มทาลิบันเกิดขึ้นแบบรายวัน จนสร้างความโกรธแค้นให้แก่อัฟกานิสถานและสหรัฐอเมริกา

และแม้ทาลิบันจะอ้างว่ามีเป้าหมายในการโจมตีเป็นกองกำลังทหาร แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่มีพลเรือนอัฟกันต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

โดยในข้อตกลงใหม่นั้น ทาลิบันก็เพียงแค่ให้คำมั่นว่าจะ “ลดระดับ” ความรุนแรงลง

ตอนนี้ดูเหมือนสันติภาพในอัฟกานิสถาน จึงยังคงดูเลือนราง หากแม้จะมีความพยายาม แต่ก็ไม่คืบถึงไหน

ชีวิตของผู้คนในอัฟกานิสถานจึงต้องตกอยู่ในอันตรายต่อไป