ทำไมอัดฉีดเงินสามแสนล้าน แต่เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น ? | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนบ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี

และถึงแม้ประชาชนจำนวนมากจะเห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจประเทศพังพินาศแบบนี้ห้าปีแล้ว

รัฐบาลหรือข้าราชการระดับสูงก็ยังดันทุรังประโคมข่าวว่าเศรษฐกิจไทยดีมากไม่สิ้นสุด ต่อให้ความเป็นจริงในกระเป๋าสตางค์ประชาชนจะไม่เป็นแบบนั้นก็ตาม

ล่าสุด ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจวันนี้ไม่ได้ “ถดถอย” อย่างที่ประชาชนพูดกัน

เพราะตามนิยามของนักเศรษฐศาสตร์นั้น “ถดถอย” คือภาวะที่จะเศรษฐกิจต้องขยายตัวติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส

ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ที่มีขยายตัวมากขึ้นและน้อยลงสลับกันไป

ไม่ว่าคุณวิรไท สันติประภพ จะแสดงความเห็นที่คล้ายศรีธนญชัยเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะอะไร

แนวทางอธิบายแบบคุณวิรไทกลายเป็นต้นแบบให้รัฐบาลและกองเชียร์ฝ่ายต่างๆ จำไปพูดต่อราวคณะจำอวดเป็นอันมาก

จากนั้น คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และรัฐมนตรีหลายคนก็เริ่มประกาศว่าเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยแม้แต่นิดเดียว

ในคำสัมภาษณ์ต่อสื่อหลายแขนงในช่วงต้นเดือนสิงหาคม คุณสมคิดถึงกับระบุว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ฟื้นขึ้นแล้ว ประชาชนเองต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายดิ้นรนช่วยตัวเองบ้าง จะรอแต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไม่ได้

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่คุณสมคิดเคยโวยวายหลายครั้งว่าทำไมภาคเอกชนไม่ยอมลงทุน

โดยปกติคำพูดของรองนายกฯ และผู้ว่าการธนาคารชาติควรมีอิทธิพลต่อประชาชน แต่การสำรวจความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจโดยโพลสำนักต่างๆ กลับปรากฏว่าคนส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจตรงข้ามกับคุณสมคิดและคุณวิรไทแทบทั้งสิ้น

คำพูดของรองนายกฯ และผู้ว่าการธนาคารชาติจึงไม่มีผลต่อความเชื่อถือแม้แต่นิดเดียว

เฉพาะในช่วงต้นเดือนกันยายน สถาบันการศึกษาสี่แห่งสำรวจความเห็นประชาชนแล้วได้ผลตรงกันหมด

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในปัจจุบันต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ชี้ว่าคนใต้ไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมา

สำหรับนิด้าโพลและดุสิตโพลที่คนบางกลุ่มมองว่าเอาใจรัฐบาล ผลสำรวจช่วงไล่เลี่ยกันพบว่า ประชาชนมองว่ารัฐบาลล้มเหลวด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สุด ส่วนปัญหาเศรษฐกิจที่คนกังวลอย่างของแพง, หนี้ท่วม, รายได้ไม่เพิ่ม, สินค้าเกษตรล้มเหลว ฯลฯ ก็ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลประกาศว่าจะแก้มาตลอดห้าปี

การที่สถาบันการศึกษาสี่แห่งทำโพลแล้วได้ผลตรงกันนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา

แต่ที่น่าสังเกตยิ่งกว่านั้นคือ ประชาชนรู้สึกแบบนี้ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งประกาศมาตรการซึ่งมีฉายาแบบโฆษณาชวนเชื่อว่า “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสามแสนล้าน”

ซึ่งเท่ากับว่ามาตรการนี้ไม่มีผลด้านความเชื่อมั่นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เคยกล่าวไปแล้วว่ามาตรการที่มีฉายาว่า “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสามแสนล้าน” เป็นวงเงินสินเชื่อมากกว่าจะเป็นเม็ดเงินจริงๆ ซึ่งอาจมีไม่ถึงหนึ่งแสนล้านด้วยซ้ำ ความเชื่อมั่นที่ไม่กระเตื้องจึงเป็นสัญญาณว่าเม็ดเงินที่รัฐอัดฉีดอาจไม่พอฟื้นฟูเศรษฐกิจ

และสิ่งที่น่าห่วงต่อไปก็คือวงเงินสินเชื่ออาจไม่มีใครกู้ไปทำอะไร

ถ้าคิดแบบฉาบฉวย สภาพที่แผนอัดฉีดเงินและสินเชื่อไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นอาจแปลว่ารัฐบาลต้องเพิ่มเงินอัดฉีดขึ้นไป แต่ถ้าคำนึงว่าห้าปีของรัฐบาลประยุทธ์ใช้นโยบายอัดฉีดเงินและสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วเกือบสามล้านล้าน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือหลักฐานว่าเงินไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่รัฐบาลเข้าใจ

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจทุกคนล้วนทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง และหากพูดอย่างตรงไปตรงมา รัฐบาลประยุทธ์ 2 ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่แทบจะสุดทางของการอัดฉีดได้แล้ว

ความล้มเหลววันนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเศรษฐกิจไทยอาจถึงจุดที่รัฐบาลไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป

หากเปรียบเทียบประเทศเป็นบุคคล ความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็เปรียบได้กับมะเร็งร้ายที่หลอกหลอนคนป่วยที่ชื่อประเทศไทยมาห้าปีแล้ว ส่วนรัฐบาลก็คือหมอที่ตลอดครึ่งทศวรรษที่ผ่านมานั้นให้ยาเปะปะไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมะเร็งลุกลามขั้นที่หมออาจหมดปัญญาในการรักษาโรคอย่างสิ้นเชิง

เท่าที่ผ่านมาห้าปี ทิศทางของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจคือการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจรายใหญ่ขยายการลงทุนให้มากที่สุด นายกฯ และรองนายกฯ แทบทุกคนพูดอยู่เสมอว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, ยอดขอส่งเสริมการลงทุน, กำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ คือหลักฐานว่าเศรษฐกิจไทยไปได้ดี

จริงอยู่ว่ามาตรการของรัฐบาลส่งผลให้ตัวเลขส่งเสริมการลงทุนหรือกำไรของตลาดหุ้นฟื้นตัว

แต่ปัญหาคือกำไรหรือการขอส่งเสริมการลงทุนไม่ได้นำไปสู่การลงทุนจริงๆ

กำไรในตลาดหุ้นถูกจัดสรรเป็นเงินปันผลหรือไปลงทุนในต่างประเทศ

ส่วนการขอส่งเสริมการลงทุนก็เป็นแค่ขอใบอนุญาตยิ่งกว่าขนเงิน

ภายใต้ภาพใหญ่แบบนี้ มาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อดึงดูดการลงทุนจึงไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ด้านการลงทุนกลับมามากอย่างที่คิด

มิหนำซ้ำการลงทุนที่อาจมีบ้างนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นมากเท่ากับกลุ่มทุนมีโอกาสในการลงทุนขยายตัวขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ห้าปีนี้มีคนบ่นเยอะเรื่องรัฐบาลประยุทธ์ทำทุกทางเพื่อให้ “เจ้าสัว” เติบโต มองในแง่กำหนดนโยบายจึงน่าสงสัยว่ารัฐบาล “เอื้อเฟื้อ” เจ้าสัวหรือไม่ แต่ต่อให้รัฐบาลจะทำทั้งหมดนี้ไปโดยไม่มีแรงจูงใจที่ทุจริตอะไรเลย ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศในวันนี้ก็ชี้ว่าการเติบโตของเจ้าสัวเป็นคนละเรื่องกับการเพิ่มรายได้ประชาชน

แน่นอนว่ารัฐบาลไม่มีทางยอมรับว่าตัวเองดำเนินนโยบายซึ่งไม่ได้มุ่งเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจตลอดห้าปีอย่างจริงจัง ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลวางอยู่บนการกดรายได้คนในประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนจากในและนอกประเทศตลอดเวลา

ไม่ว่ารัฐบาลจะกดเงินเดือนคนจบปริญญาตรีหรือค่าจ้างขั้นต่ำเพราะอะไร ผลที่เกิดขึ้นคือคนส่วนใหญ่รายได้คงที่ครึ่งทศวรรษจนกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศอ่อนแอหมด ยิ่งเมื่อคำนึงถึงการตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรทุกชนิด ประเทศไทยวันนี้ย่อมเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเหลือน้อยเหลือเกิน

เมื่อกำลังซื้อเหือดแห้งจากนโยบายเงินเดือนและค่าแรงของรัฐบาล การขยายตัวของการลงทุนและบริการเพื่อผู้บริโภคในประเทศย่อมไม่มีทางเติบโตขึ้น

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำมาตลอดห้าปีจึงได้แก่ ช้อปช่วยชาติ, เที่ยวเมืองรอง หรือการลดภาษีเพื่อสร้าง “ความต้องการเทียม” ให้คนใช้เงินขึ้นเท่านั้นเอง

ด้วยนโยบายรัฐบาลที่ทำให้คนระดับรากหญ้าย่อยยับอย่างที่กล่าวไป ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ จึงแพร่หลายลุกลามกันไปหมด เศรษฐกิจชนบทซบเซาเพราะเกษตรกรหมดกำลังซื้อ ธุรกิจท่องเที่ยวมีลูกค้าไทยน้อยลงจนต้องหวังพึ่งทัวร์จีนและข้าราชการดูงานเป็นหลัก บ้านและคอนโดฯ ขายไม่ดี ฯลฯ

ด้วยฝีมือของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่ทำให้ความฝืดเคืองเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่มาตลอดห้าปี ประเทศไทยวันนี้คืออุโมงค์ที่ไม่เห็นแสงสว่างอะไรแล้ว

ยุทธศาสตร์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศตอนนี้ไม่มีทางฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ตราบใดที่เม็ดเงินที่เข้ามาไม่นำไปสู่การจ้างงานและการขึ้นค่าแรง

ทางรอดที่รัฐบาลจะฟื้นเศรษฐกิจได้คือการอัพเกรดประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่จนมีรายได้ประชาชาติสูงขึ้น แต่ทางรอดนี้ต้องใช้เวลา รวมทั้งต้องแข่งกับคู่แข่งอย่างเวียดนามและมาเลเซียด้วย โอกาสที่ยุทธศาสตร์นี้จะฟื้นประเทศในระยะอันใกล้จึงไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่ผู้นำเป็นคนปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ชอบโจมตีอดีตนายกฯ และรัฐบาลอื่นว่าไม่คิดเรื่องยุทธศาสตร์จนทำประเทศพัง แต่ที่จริงประเทศไทยใต้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์คือประเทศที่เดินหน้าบนยุทธศาสตร์ผิดๆ จนทำให้ประเทศพังพินาศแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรมีหน้าพูดถึงรัฐบาลอื่นแม้แต่ประโยคเดียว

เม็ดเงินหลายล้านล้านที่ประเทศเสียไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไร้ผลคือหลักฐานของหายนะที่เกิดขึ้นแก่ประเทศ ไม่ว่าคุณสมคิดหรือผู้ว่าการธนาคารชาติจะถือว่าหายนะนี้แสดงอาการ “เศรษฐกิจถดถอย” หรือไม่

ทั้งหมดนี้คือปัญหาจริงของประเทศซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าผู้มีอำนาจมีน้ำยาจะแก้ไขได้เลย