วิเคราะห์ | ซักฟอกปม “ถวายสัตย์” ศาล รธน.ไม่รับฟ้อง- “เผือกร้อน” กระเด้งกลับ ตกในมือประยุทธ์

สภาดีเดย์ 18 กันยายน ซักฟอกปม “ถวายสัตย์” ศาล รธน.ไม่รับฟ้อง- “เผือกร้อน” กระเด้งกลับ ตกในมือ พล.อ.ประยุทธ์

ไม่ว่าวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่พื้นที่จังหวัดภาคอีสาน ไม่ว่าคดีฆาตกรรม “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ล่าสุดกรณีสื่อออสเตรเลียตีข่าวเกี่ยวกับรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทย

ล้วนเป็นข่าวใหญ่ได้รับความสนใจทั้งในไทยและต่างประเทศ

ขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในมาถึงจุดหักเลี้ยวหลายเรื่องหลายประเด็น น่าจับตาเช่นกัน

หลักๆ กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสิ้นสุดลงจากกรณีเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่ ในวันที่ 18 กันยายน

วันเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

กับประเด็นแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เนื่องจากไม่มีการชี้แจงแหล่งที่มารายได้ที่จะนำมาใช้ดำเนินนโยบาย

ในเมื่อวันอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบังเอิญตรงกับวันอภิปรายทั่วไป

พรรคฝ่ายค้านเจ้าของญัตติ เกรง พล.อ.ประยุทธ์จะใช้กรณีศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้าง ไม่มาตอบคำถามชี้แจงสภาโดยเฉพาะประเด็นถวายสัตย์ไม่ครบ

จึงทำเรื่องหารือนายชวน หลีกภัย ประธานสภาขอขยับร่นวันอภิปรายเป็นวันที่ 17 กันยายน แต่นายชวนไม่เห็นชอบ ยืนยันให้เป็นวันที่ 18 กันยายน ตามคิวเดิมที่ฝ่ายรัฐบาลประสานล็อกวันไว้แล้ว

และเนื่องจากรัฐสภาต้องปิดสมัยประชุมวันที่ 19 กันยายน ทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านถูกตีกรอบจำกัดให้จบภายในเวลาไม่เกินเที่ยงคืนวันที่ 18 กันยายน ถึงกระนั้นก็มีรายงานข่าวทีมงานคนใกล้ชิดนายกฯ พยายามประสานประธานสภา ขอให้เปิดอภิปรายเพียงแค่ครึ่งวัน แต่ไม่เป็นผล

ประธานสภายืนยันกำหนดเวลาอภิปราย 14 ชั่วโมงครึ่ง คือเช้า 9 โมงครึ่งยาวไปจนถึงเที่ยงคืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่า ไม่กลัวสภา ครั้งนี้เป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ จึงไม่มีอะไรต้องกังวล

“จะต้องไปหวั่นทำไม ในเมื่อผมทำของผม ผมรับผิดชอบของผม และผมก็ทำโดยเจตนาบริสุทธิ์ของผม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็เป็นเรื่องของกระบวนการที่ต้องว่ากันไป เรื่องของสภาก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภา” นายกฯ ระบุ

พรรคร่วมฝ่ายค้านจัดวางผู้อภิปรายไว้ในเบื้องต้นประมาณ 20 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทยเสนอผู้อภิปราย 10 คน พรรคอนาคตใหม่และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ อีก 10 คน

โดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ ขอมีส่วนแบ่งกับพรรคฝ่ายค้านหลักในการอภิปรายครั้งนี้ด้วย 5-10 นาที

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมหารือนอกรอบกับวิปรัฐบาล ทำข้อตกลงไม่ให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประท้วงจนเกินงาม เนื่องจากการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นเป็นวาระของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ไม่ใช่ ส.ส.พรรครัฐบาล

สำหรับการอภิปรายตามญัตติมี 2 ประเด็น ได้แก่ กรณีนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กับประเด็นแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162

ทั้ง 2 ประเด็น โดยเฉพาะกรณีถวายสัตย์ เป้าหมายอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอาจรวมถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายด้วยอีก 1 คน สืบเนื่องจากข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณที่นายวิษณุเขียนไว้ในหนังสือ “หลังม่านการเมือง”

“ในการกล่าวถ้อยคำไม่จำเป็นที่รัฐมนตรีจะต้องท่องจำไปก่อน เพราะต้องกล่าวตามนายกรัฐมนตรีเป็นวรรคๆ ไปอยู่ดี จะหลงลืมอย่างไรก็ยึดเอานายกฯ เป็นหลักเข้าไว้ ความสำคัญจึงอยู่ที่นายกฯ ซึ่งจะผิดไม่ได้

ท่านนายกฯ ชวนจะไม่อ่าน แต่ใช้วิธีจำเอา ส่วนนายกฯ ท่านอื่นๆ จะใช้วิธีอ่านทีละวรรค ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิมพ์ลงในบัตรแข็ง ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจำ เพราะจะไม่ผิดพลาด ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่า “และ” คำว่า “หรือ” ไปสักตัวก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ”

หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าฝ่ายค้านจะดำเนินยุทธวิธีทิ่มแทง พล.อ.ประยุทธ์ กรณีถวายสัตย์ ด้วยหอกของนายวิษณุนั่นเอง

ข้อเขียนของนายวิษณุ เครืองาม ใน “หลังม่านการเมือง” ยังยืนยันให้เห็นถึงความจำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องมาตอบคำถามชี้แจงฝ่ายค้านในสภากรณีถวายสัตย์ด้วยตัวเอง

การมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดในรัฐบาลชุดนี้ชี้แจงแทน อาจไม่ชัดเจนพอ เพราะรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตามนายกฯ เท่านั้น นายกฯ พูดอย่างไร คณะรัฐมนตรีต้องพูดตาม คลิปภาพข่าวเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ก็ปรากฏเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นายวิษณุจะแสดงความพร้อมรับมือการอภิปรายของฝ่ายค้าน แบบถามมาก็ตอบไป แต่นายวิษณุกลับไม่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมาตอบฝ่ายค้านในสภาด้วยตัวเองหรือไม่

“ต้องถามนายกฯ เพราะผมไม่ทราบ กลัวว่าตอบไปแล้วเกิดไม่ไปขึ้นมา ส่วนที่มีการเล็งอภิปรายผมนั้น ไม่เป็นไร เมื่อส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีไปนั่งแทนไม่ได้ ผมก็ต้องไปเอง” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายกล่าว

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการอภิปราย

ได้เกิดสถานการณ์หลายอย่างที่ฝ่ายค้านกังวล ไม่ว่าความพยายามจากฝ่ายตรงข้ามในการสร้างข่าวไอโอ ทำลายน้ำหนักการอภิปราย กล่าวหาฝ่ายค้านละเลยความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสานและภาคเหนือ

พร้อมกันนั้นยังดูคิวให้ พล.อ.ประยุทธ์นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงตรวจพื้นที่จังหวัดน้ำท่วมถึง 2 ครั้งในรอบ 2 สัปดาห์ ครั้งแรก จ.พิษณุโลก-สุโขทัย ครั้งที่สอง จ.ยโสธร-อุบลราชธานี

นอกเหนือจากการตั้งกลุ่ม ส.ส.องครักษ์พิทักษ์นายกฯ เพื่อตีรวนการอภิปราย

สิ่งที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านเป็นห่วงมากที่สุดอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลพยายามนำเรื่องการอภิปรายปมถวายสัตย์ ลากโยงไปพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง

“วันนี้ฝ่ายรัฐบาลกำลังลากฝ่ายค้านไปพูดเรื่องนี้ด้วย แต่การอภิปรายตามมาตรา 152 ไม่เกี่ยวกับสถาบัน รัฐบาลพยายามพูดหลายครั้งเพื่อลากเราเข้าไปใกล้ ขอเตือนว่าเรารู้ทัน เราจะไม่พูด รัฐบาลอย่าทำแบบนี้เพื่อหวังจะประชุมลับ หรือปัดความผิดว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกฯ จึงขอให้หยุด และเราจะไม่อภิปรายไปถึงสถาบันแน่นอน” นายสุทิน คลังแสง ระบุ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่จะคิด วิญญูชนควรรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ส่วนทางออกที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจใช้วิธีปิดปากฝ่ายค้าน โดยอ้างกรณีถวายสัตย์อยู่ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามที่มีผู้ยื่นคำร้องผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว

จึงไม่ควรนำเรื่องนี้อภิปรายเพราะอาจเป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น

ปรากฏล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบ

เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเช่นนี้ ไม่เพียงสวนทางกับสิ่งที่นายวิษณุ เครืองาม เคยระบุไว้ว่าเรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ยังเท่ากับว่า “เผือกร้อน” กรณีถวายสัตย์ จากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ได้กระเด้งกระดอนกลับมาตกอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายวิษณุ เครืองาม และรัฐบาลอีกครั้ง

คำตอบวันที่ 18 กันยายน จะออกมาแนวไหน อย่างไร

ไม่เฉพาะฝ่ายค้าน สังคมก็กำลังเงี่ยหูรอฟังด้วยความตื่นเต้น