จรัญ มะลูลีม : การมาถึงของอิสลามในอินเดีย (จบ)

จรัญ มะลูลีม

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นไป ขบวนการปฏิรูปศาสนาซึ่งเริ่มขึ้นทางใต้ก็ได้แพร่ขยายขึ้นไปทางเหนือ

การที่มุสลิมพิชิตภาคเหนือของอินเดียในตอนปลายศตวรรษที่ 13 ได้นำเอาศักราชของการปฏิวัติในความคิดของชาวอินเดียเข้าไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นไป เราจะได้พบว่าพวกผู้นำศาสนาทางภาคเหนือปฏิเสธส่วนประกอบบางประการของศาสนาเก่าแก่และรับเอาความคิดและทฤษฎีใหม่ๆ ไปอย่างแข็งขัน การออกแบบสถาปัตยกรรมก็แสดงถึงการหยิบยืมบางอย่างมาจากอาหรับและเปอร์เซีย

จิตรกรรมของอินเดียก็ได้รับอิทธิพลจากภาพเขียนเปอร์เซียและเอเชียกลาง ในวรรณกรรมอินเดียมีการใช้ภาษาอุรดู ส่วนในวิชาวิทยาศาสตร์และเทคนิคก็มีศัพท์ที่เคยใช้ในงานของมุสลิม

ในเรื่องความคิดก็เช่นเดียวกันรามานันทะซึ่งรุ่งเรืองในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 15 ถูกถือว่าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างขบวนการภักดีของภาคใต้กับของภาคเหนือ เขาเดินทางไปไกลๆ เพื่อแสวงหาความรู้ และครูจากนิกายต่างๆ ของศาสนาฮินดู แต่จิตใจของเขายังไม่พอใจจนกระทั่งได้ติดต่อกับชาวมุสลิมในเมืองพาราณสี

เขารับลูกศิษย์ทั้งสองเพศ

จากคำสอนของเขารามานันทะได้เกิดสำนักคิดขึ้น 2 แห่ง

แห่งหนึ่งมีตุลสีทาสเป็นเจ้าสำนักอีกแห่งหนึ่งเป็นของเขากะบีร สำนักแรกเป็นพวกอนุรักษนิยม สำนักหลังเป็นพวกหัวรุนแรง แต่เจ้าของสำนักทั้งสองคนต่างก็อยู่ในหนทางของตนเองกับการปฏิวัติศาสนา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งชาวฮินดูและมุสลิม ทั้งคู่ต่างก็เน้นในเรื่องการอุทิศตน

กะบีรได้รับการแนะนำให้รู้จักศาสนาและปรัชญาฮินดูโดยรามานันทะ เขาใช้เวลาส่วนมากอยู่กับพวกซูฟี กะบีรเกลียดความแตกต่างทางชั้นวรรณะ ปฏิเสธอำนาจของสำนักคิดทั้งหกของปรัชญาอินเดีย ไม่เชื่อในทฤษฎีการถ่ายทอดของวิญญาณ ปฏิเสธคำสอนเรื่องการกลับชาติหรือการเกิดใหม่

ในเรื่องคำสอนของกะบีรนั้นพบว่าเขาเป็นหนี้พวกซูฟี แนวเรื่องสำคัญของเขาคือพระเจ้ามิอาจเป็นที่รู้จักได้ด้วยปัญญา แต่ต้องรู้โดยความภักดี นั่นคือโดยอาศัยการสละอุทิศตนและการถึงจุดซาบซึ้งดื่มด่ำ

เขาถือว่าแก่นแท้ของพระเจ้าคือแสงสว่าง ดังนั้น จึงใกล้เคียงกับความคิดของซูฟี มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างความคิดของเขาเกี่ยวกับจักรวาลที่อธิบายไว้ในหนังสือ รอมัยนิ กับความคิดของอัจ-ญีลี และบัดรุดดีน-ชะฮีด

ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 ได้เกิดนักปรัชญาเอกในเรื่องการมีพระเจ้าองค์เดียวขึ้นอีกคนหนึ่ง มีชื่อว่านานักหรือคุรุนานัก (คุรุนานักเป็นผู้ตั้งศาสนาซิกข์ขึ้นบนหลักการซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นหลักการของอิสลาม อุดมการณ์ ความเชื่อและการปฏิบัติของอิสลาม)

คุรุนานักรู้สึกว่าตัวเขาได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้รณรงค์เพื่อการนับถือพระเจ้าองค์เดียวและชีวิตที่เที่ยงธรรม เขาประณามความเชื่อและการปฏิบัติแบบมีพระเจ้าหลายองค์ และแนะให้มีชีวิตที่เที่ยงธรรม ยำเกรงพระเจ้าและเชื่อฟังครู ซึ่งเป็นหลักการของอิสลามเพื่อจะได้บรรลุถึงความรอดพ้นซึ่งสำหรับเขาก็คือการผสมผสานแสงสว่างแห่งดวงวิญญาณกับแสงสว่างของพระเจ้า

ท่านนานักมีความเชื่อคล้ายกับพวกซูฟีว่าคนเราไม่อาจเข้าถึงพระเจ้าด้วยปัญญาได้ แต่ต้องเข้าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเข้าใจถึงความไม่มีค่าและไม่พอเพียงของตน

คุรุนานักเชื่อในการถ่ายทอดของดวงวิญญาณและเชื่อในนรก หนี้ที่นานักมีต่ออิสลามนั้นมีอยู่มากและคำสอนของเขาก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของซูฟีในเรื่องความสามัคคีและภราดรภาพของมนุษยชาติและในการตำหนิการบูชารูปเคารพ การถือชั้นวรรณะและการหลงพิธีกรรม

นานักก็เป็นเหมือนมุสลิมดีๆ คนหนึ่งนั่นเอง

กะบีร ตุลสี ทาส และคุรุนานัก ตามมาด้วย นักคิดและนักปฏิรูป ชาวฮินดูอีกหลายคนในศตวรรษที่ 16 และ 17 ผู้ซึ่งสนับสนุนหลักการของอิสลาม ตูกะราม นักบุญชาวมาราษา เชื่อในพระเจ้าตามแนวเดียวกับกะบีร ปฏิเสธพระเวท การบูชารูปเคารพและชั้นวรรณะ

ส่วนชัยซันยาซึ่งมีวรรณะพราหมณ์รักชาวมุสลิมมากจนตัวเขามีลูกศิษย์ลูกหาเป็นมุสลิมมากมาย เขาสอนเรื่องเอกภาพของพระเจ้า เน้นในเรื่องความรักและการสละอุทิศตน การร้องเพลงและเต้นรำเพื่อหาความดื่มด่ำเข้ารวมกับพระองค์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกับซูฟี

มาถึงสมัยใหม่นี้เราจะสังเกตเห็นขบวนการสำคัญสองขบวนการคืออารยะสามาจ (Arya Samaj) กับพราหมณ์โม สะมาจ (Brahmo Samaj)

ขบวนการแรกนั้นทั้งๆ ที่ต่อต้านอิสลามแต่คำสอนก็เกือบจะเป็นแก่นแท้ของอิสลาม

สวามีทยานันท์ผู้ก่อตั้งขบวนการ ประณามการบูชารูปเคารพและพิธีกรรมว่าเป็นการทำลายความบริสุทธิ์ของศาสนาฮินดู

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือเขาสอนถึงเรื่องความมีหนึ่งเดียวของพระเจ้าอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

ซึ่งตามความเห็นของเขา เขาได้มาจากคัมภีร์พระเวทและคัมภีร์อื่นๆ ของฮินดู ซึ่งอาจจะจริงแต่ก็ไม่ขัดแย้งกับอิสลาม สิ่งที่น่าแปลกใจคือสวามีทยานันท์เน้นคำสอนนี้ซึ่งไม่มีอยู่ในวรรณกรรมของอินเดียสมัยก่อนอิสลาม

พวกพราหมณ์โม สะมาจได้ละทิ้งทฤษฏีเรื่องการเกิดใหม่เสีย และต่อต้านพิธีกรรมการบูชารูปเคารพและระบบชั้นวรรณะ

ในศาสนาฮินดูสมัยใหม่นอกจากสองขบวนการนี้ ยังมีขบวนการบูรณะศาสนาของรามากฤษณะและสมาคมเทวปรัชญา (Theosophical Society) ซึ่งมีความเชื่อและการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกับของอิสลาม