ศัลยา ประชาชาติ : แก้ปัญหาปากท้องไม่รื่น ทีมเศรษฐกิจอลหม่าน พปชร.-ปชป.-ภท. ไปคนละทาง

ถึงแม้ว่า “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี จะ “แก้ทางเศรษฐกิจ” ด้วยการเสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ “ครม.เศรษฐกิจ”

โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี “นั่งหัวโต๊ะ” ทุกวันศุกร์ ก่อนการประชุม ครม.ปกติ ทุกวันอังคาร

ทว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจปากท้อง” ยังไม่ราบรื่น-เบ็ดเสร็จ

 

อาการสะดุดของทีมเศรษฐกิจสมคิด-พลังประชารัฐ สะท้อนผ่านเสียงโอดครวญถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภายใต้ “รัฐบาลผสม” ไม่เบ็ดเสร็จเหมือนในสมัยรัฐบาลบิ๊กตู่-คสช. ในยุคที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์-มาตรา 44

โดยเฉพาะ “สมคิด” ได้ออกมาตัดพ้อ-ตัดช่องน้อย ทั้งในวงสนทนาส่วนตัว ไปจนถึงกับประกาศบนเวทีสาธารณะ ว่า “ผมไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ”

เพราะในความเป็นจริง “สมคิด” ไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทั้งทางพฤตินัย-นิตินัย ภายใต้รัฐบาลผสม 6 พรรค 3 ทีมเศรษฐกิจ 3 รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จากต่างพรรค พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ (ปชป.) – ภูมิใจไทย (ภท.)

ในส่วนของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ-ทีมสมคิด ที่มี “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีธนาคารรัฐเป็น “ถุงเงิน” เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน กองทุนหมู่บ้าน

แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ “ล็อตแรก” ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 อัดฉีดเม็ดเงินลงในระบบเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท กระตุ้นกำลังซื้อผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน กระทรวงการคลังจึงเป็นหัวหอก

ลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (On-top) ระยะเวลา 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน) ประกอบด้วย เติมเงินเพิ่มผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) จำนวน 500 บาท/เดือน

ช่วยเหลือผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือน และช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ได้รับเงิน 300 บาท/เดือน

พ่วงด้วย “แพ็กเกจเสริม” ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิต รายละ 500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท

มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ “ชิม ช้อป ใช้” 10 ล้านคน จำนวน 1,000 บาท/คน เงินชดเชย (Cash Back) สูงสุด 15% หรือไม่เกิน 4,500 บาท/คน รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท ต่ออายุยกเว้นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on arrival : VOA) จำนวน 18 ประเทศ

 

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดัน “มาตรการเสริม” แก้ไขปัญหาให้กับชาวสวนปาล์ม เป็น “ตัวช่วย” เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ และควบคุมปริมาณน้ำมันปาล์มล้นตลาด

1. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งรัดการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือ 133,750 ตัน เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงให้ครบ 200,000 ตัน ภายใน 2 สัปดาห์

2. ให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการปรับดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานภายในสิ้นปี 2562 และสนับสนุนให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 บี 7 เป็นทางเลือก

3. ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบโดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถวัดได้ตลอดเวลา (real time) เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการสต๊อก

รัฐมนตรีเศรษฐกิจ-ทีม ปชป.ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค-รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กุมกลไกเศรษฐกิจฐานราก-เรียลเซ็กเตอร์ ปั๊มชีพจร “เศรษฐกิจรากหญ้า” ด้วยมาตรการประกันราคา-ประกันรายได้ “พืชเศรษฐกิจ-การเมือง”

โครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าวปีการผลิต 2562/2563 จำนวน 5 ชนิด ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ วงเงิน 21,495 ล้านบาท 892,176 ครัวเรือน

1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

3. ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

และ 5. ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน กิโลกรัมละ 4 บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม คุณภาพน้ำมัน 18% วงเงิน 13,378 ล้านบาท ชาวสวนปาล์มที่ขึ้นทะเบียน 3 แสนราย ระยะเวลาสิงหาคม 2562-กันยายน 2563

ส่วนยางพาราที่เตรียมนำเข้า ครม.-ครม.เศรษฐกิจ มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็น “ต้นเรื่อง”

ประกันราคายางพารากิโลกรัมละ 60 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เกษตรกรชาวสวนยาง 1.382 ล้านราย แบ่งออกเป็น มีเอกสารสิทธิ์ (บัตรเขียว) 1.1 ล้านคน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 2.82 แสนคน วงเงินรวม 3.1 หมื่นล้านบาท

 

ด้านรัฐมนตรีเศรษฐกิจ-ทีมภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค-รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขะมักเขม้นอยู่กับ “กัญชาเสรี” และการอัพเกรดบัตรทอง-30 บาทรักษาทุกโรค

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แข็งขันกับการโละ-รื้อ-ล้าง คน-งาน-ค่าโง่ ที่มีมูลค่าระดับ “เมกะโปรเจ็กต์” หลายแสนล้านบาท และการ “สานฝัน” รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนให้เป็นจริง

การประชุม ครม.ที่ผ่านมาจึงเกิดปรากฏการณ์ “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” เกิดความขัดแย้งเชิงนโยบายใน ครม.-งัดข้อกันบนโต๊ะ ครม.ของกระทรวงการคลัง-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา-กระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “ฟรีวีซ่า” นักท่องเที่ยวจีน-อินเดีย

แม้วงเล็ก-ครม.เศรษฐกิจ จะเห็นชอบมาตรการฟรีวีซ่า กระตุ้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน-อินเดีย แต่สุดท้ายต้องยอมถอยให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมา “ค้านสุดตัว” เหตุผลด้านความมั่นคง

มาตรการเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม 3 พรรค 3 ทีมเศรษฐกิจจึงไป “คนละทิศคนละทาง” นับจากนี้ไปจะเป็นมาตรการเศรษฐกิจ “ลูกผสม” 3 พรรคการเมืองเพื่อ “ชิงคะแนนนิยม-รักษาฐานเสียง”

 

สําหรับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ “ล็อตสอง” ที่จะออกมาในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ นายสมคิดเปิดเผยว่า เป็นมาตรการเฉพาะเพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร เป็นมาตรการเสริมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคเกษตร 30-40 ล้านราย ให้มากกว่าร้อยละ 10 ของจีดีพี

“มาตรการจะอยู่ในรูปแบบของความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. สภาเกษตรกรและกองทุนหมู่บ้าน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อปรับโครงสร้างเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตภาคการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการ รวมถึงการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเพื่อการแปรรูป”

ต้องจับตาดูว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ที่แขวนอยู่บน 3 ทีมเศรษฐกิจ 3 รองนายกฯ 3 พรรคการเมือง ที่เวลานี้ต่างคนต่างทำ จนดูเหมือนไม่มีหางเสือนั้น จะสัมฤทธิผล หรือจะยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง