วิเคราะห์ : “ข้น-เข้ม” ตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ ขานชื่อ “บิ๊กเนม” “ชัชชาติ-แป้ง-ธนาธร” “เกมจริง-เกมลวง” ชิงผู้ว่าฯ กทม.

คงไม่ต้องบอกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ สำคัญขนาดไหนในทางการเมืองของประเทศ

เพราะนี่คือศูนย์กลางการปกครอง มีประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด จากข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม จำนวน 4,498,109 คน

มีงบประมาณในการบริหารราชการมากกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีจำนวน 83,398,006,000 บาท)

ที่สำคัญคือ กทม.ในฐานะเมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องอาหาร ผู้คน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลับไร้ซึ่งผู้บริหารเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเวลานานหลายปี

หลังการสิ้นสุดลงของ คสช. การเลือกตั้งระดับชาติเสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ในส่วนรัฐบาลท้องถิ่นอย่าง กทม. กำลังเป็นที่น่าจับตา เพราะจนถึงปัจจุบัน พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคก็ยังไม่แสดงท่าทีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดตัวผู้สมัครให้คนกรุงเห็นหน้าค่าตา

เป็นไปได้ว่าถ้าดูจากผลการเลือกตั้งในอดีต เมืองหลวงแห่งนี้มีความพลิกผันเรื่องคะแนนเสียงสูงมาก ดูได้จากผลการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด พรรคการเมืองที่กวาดคะแนนเสียงมากที่สุดลำดับต้น กลายเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน

ส่วนพรรคที่เคยได้ ส.ส.มากที่สุด กลับไม่ได้ ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว แถมคะแนนในหลายเขตยังไม่ติด 1 ใน 3 ด้วยซ้ำ

 

ย้อนดูอดีต พบเรื่องน่าสนใจว่า คน กทม.มักเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคการเมืองตรงกันข้ามกับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจปกครองบริหารประเทศในขณะนั้น

เริ่มจากในปี 2543 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นคือรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็คือนายสมัคร สุนทรเวช ที่ได้คะแนนถึง 1,016,096 คะแนน ตามด้วยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยรักไทย ได้ไป 521,184 คะแนน ส่วนผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายธวัชชัย สัจจกุล ได้คะแนนเพียง 247,650 คะแนน

ต่อมาในปี 2547 ซึ่งรัฐบาลเป็นของพรรคไทยรักไทย คน กทม.ก็เลือกผู้ว่าฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้คะแนนไปถึง 911,441 คะแนน

ในปี 2551 แม้พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ แต่ก็ได้มีการตั้งพรรคใหม่คือพลังประชาชน มีนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายอภิรักษ์ก็ยังได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อในสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน เอาชนะนายประภัสร์ จงสงวน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน ที่ได้ 543,488 คะแนน ท่ามกลางกระแสการเมืองในการต่อสู้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ผลการเลือกตั้งในปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถคว้าชัยชนะได้ ด้วยคะแนน 934,602 คะแนน ทิ้งห่างนายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากเพื่อไทย ที่ได้ 611,669 คะแนน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2556 ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์สามารถคว้าคะแนนไปได้ถึง 1,256,349 คะแนน แม้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทย จะได้คะแนนถึง 1,077,899 คะแนน

ในอีกมุมหนึ่ง ก็จะพบว่า คน กทม.จำนวนไม่น้อยก็ให้คะแนนไปตามอารมณ์เช่นกัน

เช่น ในปี 2551 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ที่ได้คะแนนไปถึง 340,616 คะแนน ส่วนในปี 2552 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือคุณปลื้ม ก็สามารถกวาดคะแนนได้ไปถึง 334,846 คะแนน และไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองเช่นกัน

 

อาการคาดการณ์ไม่ได้ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งคนกรุงเทพฯ นี่เอง น่าจะเป็นเหตุผลให้พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ออกตัวอย่างชัดเจนว่าจะส่งใครลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เสียที ขณะที่เจ้าตัวที่ถูกคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นตัวแทนการลงสมัครของพรรคก็ยังไม่พูดอย่างเต็มปากเต็มคำ

หากไปดูแชมป์เก่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มาอย่างยาวนาน มีชื่อที่น่าสนใจที่แพลมออกมาอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรณ์ จาติกวณิช

และที่น่าสนใจคือ นวลพรรณ ล่ำซำ หรือมาดามแป้ง ด้านอดีตนายกฯ ได้ออกมาปัดบอกว่าไม่ถนัด ส่วนมาดามแป้งก็ยังนิ่ง ไม่มีความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว

น่าสนใจว่าประชาธิปัตย์จะกอบกู้ศักดิ์ศรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ หลังจากล้มเหลวครั้งใหญ่จากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถคว้าได้แม้แต่เก้าอี้เดียวในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ก็ประเมินได้ว่ามีคะแนน 4 แสนกว่าคะแนนตุนไว้

ด้านพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคู่ต่อสู้กันอย่างยาวนาน ที่ดูเหมือนจะส่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของฉายารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีลงชิงเก้าอี้ ที่มีการวางไทม์ไลน์ไว้ว่าจบเลือกตั้งใหญ่ก็อาจจะให้นายชัชชาติลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ต้องยอมรับว่าชื่อเสียงของชัชชาติเหมาะสมที่สุดที่จะลงในนามเพื่อไทย

แต่ช่วงหลังหลายคนในพรรคไม่ค่อยแฮปปี้ เพราะไปสังเกตเห็นว่านายชัชชาติไม่เข้าร่วมกิจกรรมของพรรค ลามไปจนกระทั่งมีข่าวนายชัชชาติเดินสายพบปะผู้สนับสนุนและบุคคลสำคัญในรัฐบาลเพื่อขอให้สนับสนุนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้น

ทำให้แกนนำพรรคหลายคนพยายามพูดคุยกับนายชัชชาติขอให้ลงในนามพรรค

แต่ล่าสุดมีข่าวว่านายชัชชาติจะไม่ลงในนามพรรคเพื่อไทย หลังจากบินไปพบกับ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาขอลงเลือกตั้งแบบอิสระ

 

ส่วนพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้ง กทม.เมื่อไม่นานมานี้ค่อนข้างฮือฮา เพราะเปิดชื่อคนชิงผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ว่าฯ หมูป่าคนดัง แต่ก็ต้องพับเก็บไป หลังผู้ว่าฯ คนดังออกมาปฏิเสธ จนล่าสุดยังมองไม่เห็น และยังไม่มีใครออกมาพูดหรือเสนอว่าจะส่งใครลงชิงชัย อาจเป็นเพราะสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่อนข้างวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ ทั้งความไม่มีเสถียรภาพในพรรคเองและเรื่องนอกพรรคพอสมควร

ทางด้านอนาคตใหม่ แม้จะได้ ส.ส.น้อยกว่าพลังประชารัฐเล็กน้อย แต่ก็กวาดคะแนนรวมในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดในพื้นที่ กทม.มากที่สุด ที่มีข่าวความพยายามหาทางเดินทางการเมืองให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ที่ขณะนี้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว แล้วมาลงชิงชัยผู้ว่าฯ

ล่าสุดยังไม่ได้รับการปฏิเสธจากนายธนาธรหรือแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ท่าทีของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ยังแทงกั๊ก ระบุเพียงว่า ขณะนี้ใกล้จะมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ซึ่งเร็วๆ นี้เตรียมที่จะแถลงและให้แคนดิเดตทั้งหมดร่วมแสดงวิสัยทัศน์ลงชิงตำแหน่ง

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามเรื่องนายธนาธร เลขาธิการพรรคชี้แจงเพียงว่า มั่นใจว่าเป็นบุคคลที่ประชาชนมีความคุ้นเคยอย่างแน่นอน พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า กทม.เป็นพื้นที่หลักของอนาคตใหม่ และเรื่องนี้ไม่มีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย

อีกชื่อหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน และล่าสุดคือเรื่องกัญชา ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนจากนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และเครือข่าย เป็นต้น

 

หากย้อนไปมองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุด 30 เขตในเมืองหลวง จะพบว่าอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ได้รับเสียงโหวตจากคนกรุงเทพฯ มากเป็นอันดับ 1 คือ 804,272 คะแนน รองลงมาเป็นพลังประชารัฐได้ 791,893 คะแนน และอันดับ 3 เป็นพรรคเพื่อไทย (ส่งผู้สมัครแค่ 22 เขต จากทั้งหมด 30 เขต) ได้ 604,699 คะแนน ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 474,820 คะแนน

ท่ามกลางกระแสเอาและไม่เอาประยุทธ์ แบ่งขั้วได้เป็น 2 ขั้ว

ขั้วหนุนรัฐบาลประยุทธ์ นำโดยพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา มีคะแนนรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมกันกว่า 1.4 ล้านคะแนน

ขณะที่ขั้วต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ นำโดยเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ กวาดคะแนนในพื้นที่ กทม.รวมกันไปกว่า 1.68 ล้านคะแนน

คำถามที่น่าคิดคือ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ใครจะชนะ ฝ่ายไหนจะชนะ ในบริบทการเมืองแบบนี้ แม้จะเป็นการวัดกำลัง ด้วยการประเมินแบบหยาบๆ แถมยังต้องไม่ลืมด้วยว่า ก่อนการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ก็ไม่ได้หาเสียงว่าหนุน พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ขณะที่อีกฝ่ายหาเสียงว่าไม่เอาลุงตู่ชัดเจน

แต่อย่างที่บอก ศึกษาจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา คน กทม.ไม่สามารถคาดเดาได้เท่าไหร่ และไม่รู้ว่าจะเกิดกระแสอะไรขึ้นอีกในอนาคต ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จึงน่าจับตายิ่งนัก