ชีวิต ลำโขง กับโครงการ10ปี มูลค่า 10,500 ล้านดอลลาร์

AFPphoto

แม่น้ำโขง ความยาว 4,880 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตหลายล้านชีวิตในหลายประเทศที่ลำน้ำนี้ไหลผ่าน ไม่ว่าจะเป็นจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา จนกระทั่งถึงเวียดนาม

ลำโขง เป็นทั้งเส้นทางคมนาคม ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ทำมาค้าขายต่อกัน

เป็นที่มาของความชุ่มชื้นที่เอื้อต่อการดำรงชีพของเกษตรกรทั้งหลาย

เป็นที่มาของกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำต้นทุนต่ำ

สุดท้ายเมื่อถึงเวลาอับจน หลายต่อหลายคนก็ลงเรือล่องไปตามลำโขงจับปลา จับสัตว์น้ำ ใช้เป็นทั้งอาหารประทังชีวิตและรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว

ลำโขงมีคุณูปการเหลือหลายต่อชีวิตของผู้คนสองฟากฝั่ง มากเสียจนบ่อยครั้งเราลืมเลือนไปว่า แม่น้ำยาวใหญ่สายนี้ก็มีชีวิตอยู่ในตัวมันเหมือนกัน

บ่อยครั้งที่เราย่ำยีลำน้ำสายนี้ โดยไม่ใส่ใจ ไม่คำนึงถึงชีวิตอื่นๆ อีกหลากหลายที่อาศัยประโยชน์จากมันอยู่เช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมา เราอยากได้ไฟฟ้า เราก็สร้างเขื่อน

ตอนนี้เราอยากได้เส้นทางเดินเรือขนาดใหญ่ กินน้ำลึก เราก็คิดจะขุดลำโขง ระเบิดเกาะแก่งทิ้ง?

เราลืมไปกระมังว่า นอกเหนือจากผู้คนที่จะได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศแล้ว ในลำโขงก็ยังมีอีกหลายแสนหลายล้านชีวิตที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

จีนเป็นต้นคิดขุดและระเบิดลำโขงเพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์เส้นทางสำคัญ ตามรายงานล่าสุดที่ปรากฏใน วอยซ์ ออฟ อเมริกา แผนการดังกล่าวถูกทำเป็นโครงการระยะยาวกำหนดเวลา 10 ปี มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 10,500 ล้านดอลลาร์ แยกเป็นเงินลงทุน 500 ล้านดอลลาร์เป็นสินเชื่อเพื่อการนี้อีก 10,000 ดอลลาร์

รวมระยะทางที่ต้องจัดการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น 630 กิโลเมตร เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนของแม่น้ำ “หลานซาง” อันเป็นชื่อเรียกแม่โขงในยูนนาน ตอนใต้ของจีนไปสิ้นสุดที่ลำโขงบริเวณที่ผ่านจังหวัดหลวงพระบาง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

แต่เป้าหมายหลักของการขนถ่ายสินค้าทางเรือผ่านลำโขงตอนนี้ ไม่ได้อยู่ที่ลาว หากแต่เป็นประเทศไทย

กางสถิติเดิมเมื่อปี 2015 ออกมาดูกัน การค้าระหว่างไทยกับจีนผ่านยูนนานคิดเป็นจำนวนเรือขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 3,500 เที่ยว เรือขนส่งสินค้าทั้งหมดดังกล่าวนั้นมีระวางบรรทุกอยู่ระหว่าง 100 ตันถึงสูงสุด 300 ตัน สูงเกินกว่านี้ไม่ได้เนื่องจากร่องน้ำสำหรับใช้ในการเดินเรือผ่านลำโขงหลายช่วงหลายตอนไม่ลึก ไม่เอื้อต่อเรือขนาดใหญ่กว่านี้

เป้าหมายตามโครงการ 10 ปีของจีนก็คือ ทำลายเกาะเล็กเกาะน้อย รวมถึงแก่งหินต่างๆ ที่ระเกะระกะอยู่กลางลำน้ำทิ้งไป เพื่อให้ได้ร่องน้ำกว้างและลึกมากพอสำหรับการผ่านของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ 500 ตันให้ได้

ระยะแรกของโครงการที่ประกอบด้วยการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น และออกแบบ วางแปลนสำหรับโครงการนี้ รวมถึงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมควบคู่กันไปด้วย

ระยะที่ 2 จะเริ่มต้นในปี 2020 จึงจะเป็นการปรับปรุงร่องน้ำเบื้องต้นเป็นระยะทางกว่า 259 กิโลเมตร ซึ่งจะดำเนินไปพร้อมกับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าและท่าเทียบเรือโดยสารด้วย

หากเป็นไปด้วยดี คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2025 นี้

วีโอเอ บอกว่าไทยสนับสนุนแผนการนี้ของจีนเต็มที่

AFPphoto

ผู้ที่คัดค้านและเตรียมการรณรงค์ร่วมกันเพื่อต่อต้านโครงการนี้ก็คือบรรดากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลาย ที่เชื่อว่าพื้นที่บริเวณที่ถูกกำหนดให้ต้องเคลียร์เป็นร่องน้ำนั้นคือแหล่งเพาะพันธุ์สารพัดชีวิตสัตว์น้ำของลำโขง ทั้งเกาะแก่งเหล่านั้นยังเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำเหล่านั้นเพราะความชุกชุมของสาหร่าย ทำให้แก่งหินและเกาะเล็กเกาะน้อยทั้งหลาย กลายเป็นวงจรชีวิตตามธรรมชาติที่รอวันเติบใหญ่ กลายเป็นอาหาร เป็นอาชีพให้กับผู้คนตลอดลำน้ำอีกต่อหนึ่ง

จุดที่น่าเป็นห่วงและสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในทัศนะของกลุ่มที่คัดค้าน คือเกาะเล็กเกาะน้อยและโขดหินใหญ่น้อยในลำโขงนอกชายฝั่งจังหวัดเชียงราย ที่เรียงตัวกันต่อเนื่องราว 1.6 กิโลเมตร ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สำคัญของชีวิตแห่งลำน้ำโขง

ทำลายแหล่งบ่มเพาะ แพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตของลำน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนสองฝั่งน้ำในระดับหายนะก็เป็นได้