เศรษฐกิจ / ส่องผล ‘ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ’ โชว์ชั้นเชิงช่วยเหลือชาวไร่ชาวนา ประชัน ‘ประกันรายได้-ปั้นเกษตร 4.0’

เศรษฐกิจ

 

ส่องผล ‘ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ’

โชว์ชั้นเชิงช่วยเหลือชาวไร่ชาวนา

ประชัน ‘ประกันรายได้-ปั้นเกษตร 4.0’

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้กลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการเศรษฐกิจได้มากหรือไม่น้อย มาจากกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ชาวนา

เป็นกลุ่มหนึ่งที่สร้างการหมุนเวียนของการจับจ่ายใช้สอย ไม่แค่การกระตุ้นการซื้อ-ขายสินค้าการเกษตรเท่านั้น

แต่เป็นแรงผลักการซื้อ-ขายสินค้าอุปโภคบริโภค แถมเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง

จึงทำให้พรรคการเมืองไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ต้องมียุทธวิธีที่จะดึงราคาพืชและเพิ่มรายได้เกษตรกร

แม้ 2 พรรคใหญ่ที่อยู่ร่วมกันในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ จะพุ่งเป้าไปที่ช่วยเหลือเกษตรกร เป็นหนึ่งในภารกิจเร่งด่วน แต่ลึกๆ แล้วก็รู้มีเชิงของการชิงไหวชิงพริบในการนำเสนอแนวทางและมาตรการที่จะเข้าไปดูแลเกษตรกร!!

ทันทีที่เข้าบริหารงานที่กระทรวงพาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศนโยบายผลักดันราคาและรายได้เกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้ นำร่องใน 5 พืชสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ปาล์ม ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด

ลงลุยพื้นที่เอง รับฟังความคิดเห็น 3 ฝ่าย ทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร ก่อนผลักดันเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนเห็นชอบกรอบการประกันรายได้และวงเงินที่จะใช้ประกันรายได้ ทั้งปาล์ม ข้าว ยางพารา ผ่านฉลุยเกือบ 7 หมื่นล้านบาท

ซึ่งตามกรอบระยะเวลาโครงการเริ่มจริงเมื่อผลผลิตพืชนั้นเริ่มออกสู่ตลาด ก็ไม่น่าจะเกิน 1 เดือนจากนี้ ส่วนผลงานประกันรายได้จะเป็นอย่างไรไม่เกิน 3 เดือนน่าจะรู้กัน!!

 

หากย้อนไปดูการประกันรายได้ปี 2553 ตอนนั้นใช้กับข้าวนาปี มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้กำหนดราคาประกันข้าวโพดกิโลกรัมละ 7.10 บาท ไม่เกิน 20 ตัน/ราย

มันสำปะหลังกิโลกรัมละ 1.70 บาท ไม่เกิน 100 ตัน/ราย

ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,300 บาท/ตัน ไม่เกิน 14 ตัน/ราย

ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 25 ตัน/ครัวเรือน

และข้าวเปลือกเหนียว 9,500 บาท/ตัน ไม่เกิน 16 ตัน/ครัวเรือน ซึ่งครั้งนั้นใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาท มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 3 ล้านครัวเรือน

ส่วนข้าวชนิดอื่นก็ลดหลั่นกันไปตันละ 200-300 บาท

ผ่านมาเกือบ 10 ปี ประกันรายได้กลับมาใช้อีกครั้ง กำหนดราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 14 ตัน/ราย ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 30 ตัน/ราย ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน ไม่เกิน 16 ตัน/ราย เห็นได้ว่าราคาประกันดูจะไม่ห่างกันมากนัก

ขณะที่ยุคนี้เพิ่มประกันรายได้ให้กับพืชอีก 2 ชนิดที่มีแหล่งพื้นที่เพาะปลูกหลักอยู่ในภาคใต้ โดยเพิ่มประกันราคาปาล์ม ยอมจ่ายเงินส่วนต่างหากตกต่ำกว่า 4 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาปัจจุบันยังเกิน 3 บาทเล็กน้อย

และยางพารา จะพยุงราคาให้ได้ 60 บาทต่อกิโลกรัม ที่ราคาตอนนี้ยังไม่ถึง 50 บาท

 

วงในภาคเกษตรเอง ทุกรายยินดีที่รัฐเตรียมเทเงินก้อนใหญ่พยุงราคาพืช แม้เตือนด้วยความกังวลในหลายๆ เรื่องที่เคยเกิดขึ้น มักเป็นปัญหาต่อมาในระยะสุดท้ายของโครงการ หรือเกิดการฟ้องร้องกัน เมื่อรัฐนำมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งมาดูแลเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการสวมสิทธิ ห่วงการประกันรายได้มีช่องโหว่ เกษตรกรตัวจริงไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่รัฐตั้งใจไว้!!!

หรือคนนอกภาคเกษตร อย่างนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เห็นว่า หากมีการใช้งบประมาณในส่วนของโครงการประกันรายได้ วงเงินถึง 6.9 หมื่นล้านบาทได้จริง และผู้ที่ได้รับการประกันรายได้เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจริง เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความคึกคักมากขึ้น ตามเจตจำนงของรัฐบาล

“การที่เกิดกำลังซื้อภายในประเทศในช่วงนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีหมด เพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตามเศรษฐกิจโลก จากส่งออกลดลง ยอดผลิตเหลือค้าง วิตกต่อหนี้ครัวเรือน และการว่างงาน ก็หวังว่าโครงการประกันรายได้ และมีการคุมการใช้งบประมาณได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงเกษตรกรประชาชนจริงๆ นำรายได้ 10-15% ย้อนกลับไปชำระหนี้สินคงค้าง ซึ่งการชำระหนี้ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเช่นกัน หากนำเงินที่ได้รับจากการประกันรายได้ไปพัฒนาการเพาะปลูกให้มีความทันสมัยมากขึ้น อย่างเช่น การเช่ารถแทร็กเตอร์ หรือโดรน เพื่อประหยัดแรงงานคน เป็นต้น

ซึ่งวิธีดังกล่าวถือเป็นอีกเรื่องที่เกษตรกรต้องมีการปรับตัว แต่วิธีที่จะทำให้เกิดผลที่สุดคือ หน่วยงานภาครัฐจะต้องเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาลงทะเบียนให้มากขึ้นเพื่อการช่วยเหลือที่ทั่วถึง ประโยชน์ของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะสามารถทำให้การตรวจสอบพื้นที่และผลผลิตของแต่ละจังหวัดเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แต่ภาครัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น เช่น การรวบรวมข้อมูลโดยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของภาครัฐขึ้นมาใหม่ เป็นต้น”

ขณะที่ขั้นตอนการประกันรายได้กำลังอยู่ในขั้นเตรียมลงมือปฏิบัติ…

 

ล่าสุด “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยนอกจากมาตรการในเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจและแพ็กเกจดึงดูดการลงทุนที่ออกมาแล้ว

ในเดือนกันยายนนี้ทางกระทรวงการคลังจะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนหมู่บ้าน ออกมาตรการมาช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ต้องการผลักดันให้ภาคเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมูลค่าการผลิต รวมถึงมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยดูแลอุตสาหกรรมการเกษตร การบริการ และท่องเที่ยว ไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่ ใช้การวิจัยและพัฒนามาช่วย จากเดิมเน้นในอุตสาหกรรมใหญ่และอุตสาหกรรมหนัก

โดยนายสมคิดยืนยันต้องเร่งช่วยเหลือ เพราะเกษตรเป็นภาคสำคัญต่อเศรษฐกิจ มีคน 30-40 ล้านคน แต่มีมูลค่าต่ำมากไม่ถึง 10% ของรายได้มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ผลักดันสมาร์ตฟาร์เมอร์ไปแล้ว ดังนั้น จากนี้ให้ไปร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร นอกเหนือจากบัตรสวัสดิการประชารัฐ สนับสนุนให้เกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงการผลิต รวมกลุ่มก้อนเป็นวิสาหกิจ เพื่อให้ภาคเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลง

ส่วนแนวทางและมาตรการจะเป็นอย่างไร คงไม่เกิน 1-2 สัปดาห์นี้น่าจะชัดเจน ก่อนผลผลิตข้าว ปาล์ม ยางพารา จะออกสู่ตลาดรอบใหม่เร็วๆ นี้

ดังนั้น เกษตรกรเตรียมเฮได้เลย เพราะเมื่อรองนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนออกมาการันตีและสั่งการเร่งรัดช่วยเหลือเกษตรกรด้วยตนเอง ย่อมมีแต่ได้กับได้