วิกฤตการณ์ ยืดเยื้อ เปิดจุดอ่อน-จุดแข็ง รัฐบาลสำลัก น้ำท่วมใต้

อุทกภัยภาคใต้ที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2560 ผ่านมาเกือบ 1 เดือน

สถานการณ์โดยรวมยังไม่นิ่ง หลายจังหวัดเริ่มคลี่คลาย แต่อีกหลายจังหวัดยังไม่พ้นวิกฤต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นำมาซึ่งความปีติยินดี ไม่เพียงประชาชนภาคใต้ แต่ยังรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ

จากการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระทัยใส่ปัญหา ทรงห่วงใยประชาชนผู้ประสบภัยครั้งนี้อย่างมาก

ทรงมีรับสั่งกับรัฐบาลหลายครั้งในการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย และการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ว่ารับสั่งผ่านองคมนตรี หรือรับสั่งกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ทรงให้กำลังใจประชาชน ด้วยการพระราชทานจดหมายลายพระหัตถ์ ความว่า

“ด้วยความรักและห่วงใย ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อขวัญที่ดี จิตใจ และร่างกายที่เข้มแข็ง นำมาซึ่งความสุขและมั่นคงของชาติ”

ตลอดเวลานับแต่เกิดอุทกภัยภาคใต้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้องคมนตรี อาทิ นายพลากร สุวรรณรัฐ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช

เป็นผู้แทนพระองค์ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพพระราชทาน พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรอย่างใกล้ชิด เพื่อนำปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรายงานอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ จัดทำเป็นบัตรอวยพรปีใหม่ 2560 พร้อมคำอวยพรและหลักปรัชญาในการปฏิบัติตนให้เกิดความสุข

เปิดจำหน่าย นำรายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้อีกด้วย

ภายใต้ความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. รับสนองพระกระแสรับสั่งมาปฏิบัติด้วยความกระตือรือร้น

คณะรัฐมนตรีประชุมเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยามากมาย ทั้งมาตรการช่วยเหลือเดิมที่มีกฎหมาย กติกากำหนดรองรับไว้แล้ว และมาตรการออกใหม่เป็นการเฉพาะ อาทิ

การช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม รายละ 50,000 บาท

การเพิ่มงบประมาณให้จังหวัดประสบภัย จากเดิม 50 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท มาตรการลดภาษี พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย

ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด พื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบเกิน 1 ล้านไร่ พื้นที่ปศุสัตว์และประมง การซ่อมแซมสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า เครือข่ายโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต

บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ โรงเรียนกว่า 2,300 แห่ง โรงพยาบาล วัดวาอาราม สถานประกอบการธุรกิจ ห้างร้าน เส้นทางคมนาคม รางรถไฟ ถนนกว่า 4,000 จุด

รวมถึงการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการเยียวยาด้านวัตถุหรือตัวเงิน

น้ำท่วมที่ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เมื่อวันที่ 25 มกราคม พบว่า

จากวิกฤตอุทกภัย วาตภัย และน้ำป่าในพื้นที่ภาคใต้ มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 584,643 ครัวเรือน 1,800,416 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 90 ราย สูญหาย 4 ราย

ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 270 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง โรงเรียน 2,336 แห่ง

สำหรับมูลค่าความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ยังไม่มีการระบุตัวเลขชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่จบ

แต่เท่าที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ประเมินไว้คร่าวๆ เบื้องต้นน่าจะอยู่ในระดับหลายหมื่นล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไป

อาจไต่ระดับถึงหลักแสนล้าน

หลังเกิดเหตุอุทกภัยภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ 2 ครั้ง ครั้งแรก 6 มกราคม ครั้งที่สอง 26 มกราคม

การไม่มีภาพลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยออกสื่อบ่อยนัก เป็นเพราะในการลงพื้นที่ของนายกฯ ในแต่ละครั้งต้องใช้ยานพาหนะ รถ เรือ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนมาก

“ผมสั่งการไปแล้วว่าให้กำกับดูแลกันให้ได้ อยากได้อะไร ขออะไร รัฐบาลเอาให้ ส่วนการไปเยี่ยมก็ไปเป็นครั้งคราว การจะไปลอยคอยื่นของ ยกเลิกเสียที” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ครั้งสองของนายกฯ เกิดขึ้นภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม

กำหนด 2 ภารกิจสำคัญต่อสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

ระยะแรก การฟื้นฟู-บูรณะเร่งด่วน ตามแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ทำให้ชัดเจนมากขึ้น

ระยะที่สอง เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รวมถึงการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เป็นรูปธรรม

การทำงานต้องทำแบบบูรณาการร่วมกันทุกกระทรวงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนโครงการ การปฏิบัติงาน ตลอดจนการใช้จ่ายงบประมาณส่วนกลางและท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้เป็นวาระสำคัญในการฟื้นฟู ทำให้ประชาชนกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

เป็นไปตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงต้องการให้ดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตภายใต้สภาวะปกติ

แก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ให้ได้อย่างยั่งยืน

มีการเปรียบเทียบวิกฤตการณ์อุทกภัยภาคใต้ครั้งนี้ ร้ายแรงระดับน้องๆ มหาอุทกภัยปี 2554 ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทุกรัฐบาลล้วนมีแผนรับมืออุทกภัยด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน แล้วค่อยตามไปช่วยเหลือเยียวยาภายหลัง ขาดการบูรณาการแผนป้องกันแบบยั่งยืน

ก็ต้องรอดูว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล คสช. จะลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้ได้หรือไม่

ส่วนการแก้ปัญหาระยะเฉพาะหน้า ถึงรัฐบาล คสช. จะมี “จุดแข็ง” ข้อได้เปรียบตรงไม่มีนักการเมืองฝ่ายค้านคอยปัดแข้งปัดขา แล้วอ้างเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบ

แต่ภายใต้คำสั่ง คสช. 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองจัดประชุม เคลื่อนไหวทำกิจกรรม กลับกลายเป็น “จุดอ่อน”

การตีตรวนใส่ล็อกอดีต ส.ส. ทำให้รัฐบาลไม่มีตัวช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ไม่มีกลไกสะท้อนสถานการณ์ในพื้นที่อย่างทั่วถึง

นั่นทำให้ “ความรับผิดชอบ” แก้วิกฤตอุทกภัยภาคใต้

รัฐบาล คสช. ต้องแบกรับไว้แต่เพียงผู้เดียว