ต่างประเทศอินโดจีน : เกษตรกรรมที่เวียดนาม

ตอนที่สงครามเวียดนามยุติลง เกษตรกรรมในเวียดนามครอบคลุมการจ้างงานของแรงงานมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณทั้งหมดในตลาดแรงงานเวียดนาม

ผลิตธัญญาหารหลักอย่างข้าวออกมาได้ราว 10 ล้านตัน ในห้วงนั้นประชากรส่วนใหญ่ของเวียดนาม 50 ล้านคน อยู่ในภาวะโภชนาการต่ำ แม้จะไม่ถึงกับเป็นสภาวะทุพโภชนาการก็ตามที

การฟื้นฟูเกษตรกรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้า ปัญหาหลักนั้นเป็นเพราะนโยบายคอลเล็กทิไวเซชั่น หรือนโยบายเกษตรกรรมส่วนรวม อย่างเช่น การทำนารวมเพื่อชุมชน เป็นต้น

ตลาดเกษตรกรรมเพิ่งเป็นอิสระมากขึ้นในปี 1981 สืบเนื่องจากคำสั่งเชิงบริหารฉบับที่ 100 ก่อนที่จะถูกเร่งให้เป็นเสรีเร็วขึ้นด้วยนโยบาย “โด๋ยเมื่อย” ในปี 1986 ต่อด้วยการบัญญัติกฎหมายที่ดินขึ้นมาในปี 1988

กฎหมายที่ดินช่วยให้ราษฎรถือครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองได้ เกษตรกรทั่วประเทศตอบสนองเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ดีจนเกินคาดหมายด้วยซ้ำไป

 

ต้นทศวรรษ 1990 เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงรายใหญ่ของโลก สินค้าส่งออกขึ้นชื่อคือข้าว และกุ้งเลี้ยง เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลผลิตเชิงเกษตรกรรมดังกล่าวนี้เพิ่มสูงขึ้นมากจากปัจจัยผลักดันอย่างปริมาณแรงงานเกษตรกรรมที่เหลือเฟือ, การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม, การเพิ่มความหลากหลายของพืชเกษตรและชนิดสัตว์เพาะเลี้ยง, น้ำชลประทานที่มีให้อย่างเหลือเฟือในหน้าแล้ง และการระดมใช้เคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรกันขนานใหญ่

การลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนทางด้านเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นมากมายในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น
รัฐลงทุนในแง่ของการขยายระบบชลประทานให้ทั่วถึง, เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำท่วม, ส่งเสริมการกระจายไฟฟ้าไปยังชุมชนในชนบท และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสังคม

เอกชนเน้นการลงทุนไปในด้านเครื่องยนต์กลไก, เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และปศุสัตว์และสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงใหม่ๆ เป็นต้น

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลมหาศาลต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ระดับความยากจนลดลง, ความมั่นคงด้านอาหารเพิ่มสูงขึ้นและดีขึ้น

ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ทำให้ระบบการตลาดและห่วงโซ่การกระจายสินค้าและบริการลงหลักปักฐานได้มั่นคงในระบบเศรษฐกิจของเวียดนาม

เป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ รัฐบาลเวียดนามก็พอใจ พอใจมากเสียจนไม่คิดว่าการปฏิรูปพื้นฐานเกษตรกรรมในประเทศเสียใหม่อย่างทั่วถึง ที่นักวิชาการจากธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเสนอแนะเป็นเรื่องเกินความจำเป็น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เร็วกว่าที่ควรจะเป็น

เงื่อนปมสำคัญที่ทำให้เกิดคำแนะนำให้เวียดนามปฏิรูปฐานรากด้านเกษตรกรรมของประเทศเสียใหม่ทั้งหมดนั้น

เป็นเพราะข้อสังเกตที่ว่า ปัจจัยเชิงบวกแต่เดิมที่เคยเป็นพลังหนุนส่งให้เกษตรกรรมที่นี่เจริญเติบโตนั้นกำลัง “หมดอายุ” ใช้งานแล้ว

 

แรกสุดจำนวนแรงงานภาคการเกษตรเวียดนามลดลงอย่างน่าใจหาย ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แรงงานเกษตรกรรมอายุเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างชวนให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้

ถัดมาคือการลุกลามของชุมชนเมือง การตัดไม้ทำลายป่า บวกกับการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็จำกัดพื้นที่เกษตรกรรมลงมากขึ้นเรื่อยๆ

พื้นที่เพื่อการผลิตทางการเกษตรที่หลงเหลือสูญหายเพิ่มเติมไปจากสภาพดินเค็มและการกัดเซาะแนวชายฝั่ง ที่เหลือสภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรมและเป็นพิษ คุณภาพดินเสื่อมจากสารเคมี และการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ

ผลผลิตยากที่จะเพิ่มได้ในระดับเดิม เพราะโรคพืชและโรคสัตว์ที่ถูกเสริมอานุภาพด้วยภาวะโลกร้อนให้ร้ายแรง รุนแรงขึ้น

ถ้าจะคงระดับการเพิ่มของผลผลิตให้ได้สูงมากเหมือนเดิม เพิ่มได้ทางเดียวคือต้องทำให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่และแรงงานเพิ่มสู่ระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

นั่นคือการปฏิรูปพื้นฐานการเกษตรไปสู่ยุคใหม่ที่ทันสมัยที่สุด และให้ผลิตภาพสูงสุด

ซึ่งต้องเริ่มแต่บัดนี้ หากไม่ต้องการให้เกษตรกรกลายเป็นมวลชนผู้อับจนเหมือนในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศเคยประสบมานั่นเอง