เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วิกฤตและโอกาสของโลกวรรณกรรม

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา มีงานประกาศผลรางวัลวรรณกรรมชมนาด ซึ่งเป็นการจัดประกวดงานของนักเขียนสตรีโดยเฉพาะ เจ้าภาพผู้จัดคือสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นปีที่แปด ประกวดงานเขียนประเภทนวนิยาย ก่อนนั้นเป็นงานประเภทเรื่องเล่าเชิงสารคดีชีวประวัติ

ผลรางวัลปีนี้คือ ไม่มีผู้ใดได้รับรางวัล มีเพียงผลงานผ่านเข้ารอบหกเรื่องจากทั้งหมดสามสิบเอ็ดเรื่อง โดยที่ทั้งหกเรื่อง คณะกรรมการพิจารณาตัดสินให้คุณค่าเสมอกัน คือยังไม่ถึงเกณฑ์รางวัล

ดูจะเป็นการประกวดงานวรรณกรรมรางวัลแรกที่คณะกรรมการเข้มงวดกับมาตรฐานถึงขั้นนี้
เป็นมาตรฐานถึงขั้นที่ไม่เคยมีมาก่อนในการประกวดงานวรรณกรรมนั่นเลย

เหตุผลสำคัญที่คณะกรรมการแถลงคือ

ความสำคัญของรางวัลนี้อยู่ที่เป้าหมายของรางวัลซึ่งมุ่งไปที่การแปลเรื่องที่ได้รับรางวัลเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นได้กระทำมาต่อเนื่อง คือแปลงานรางวัลชมนาดเผยแพร่สู่สากล โดยที่ผ่านมาได้รับความสำเร็จอยู่พอควร

ดังนั้น มาตรฐานด้านรูปแบบกันเนื้อหาของวรรณกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เกณฑ์เข้มงวดเป็นพิเศษ
ประเด็นเรื่องการแปลงานเป็นภาษาต่างประเทศจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่นำมาอภิปรายกันในงานนี้

นักเขียนสตรีผู้เคยได้รับรางวัลชมนาดร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะเรื่องปัญหาอุปสรรคของการแปลงานวรรณกรรม นอกจากผู้แปลจะต้องรู้ทั้งสองภาษาอย่างดีเยี่ยมแล้วยังต้องมีความพอใจต่อเรื่องที่แปลเป็นเบื้องต้นด้วย

สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผู้แปลต้องพูดคุยกับผู้เขียนเพื่อเข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้งเป็นพิเศษยิ่งอีกต่างหาก

จากประสบการณ์ของตัวเอง เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะการแปลบทกวี ที่มิใช่สักแต่แปลตามคำ หากต้องแปลอารมณ์ความรู้สึกให้ได้อีกด้วย
ตรงนี้ไม่ใช่แค่ “แปล” แล้ว แต่กลายเป็นต้อง “แปร” นั่นเลย

เคยเสนอว่า จำเพาะการ “แปร” บทกวีนั้นต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนถึงสามบุคคล

เช่น บทกวีไทย คนแรกคือนักแปลคนไทยผู้รู้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาตินั้นๆ ดี แปลก่อนขั้นต้น

คนที่สองคือ นักแปลต่างชาติผู้รู้ทั้งภาษาชาติตนกับภาษาไทยดีพอกัน ช่วยแปลขั้นสอง

คนที่สามก็คือ กวีของชาตินั้นช่วยอ่านวิจารณ์เป็นขั้นสุดท้าย

โดยที่ทั้งสามขั้นสามคนนี้ควรต้องพูดคุยกับผู้เขียนบทกวีเจ้าของงานเป็นเบื้องต้นในแทบจะทุกขั้นตอนได้ก็จะดียิ่ง

เพราะภาษากวีเป็นภาษาของความรู้สึก ดังนั้น จึงต้องการการ “แปร” ไม่ใช่แค่การ “แปล” เพียงเท่านั้น

ยิ่งภาษาไทยด้วยแล้วการใช้คำบางคำประเภทผิดความหรือกลับคำไปเลยก็มี เช่น
“ใช่ผู้ร้ายใจดำอำมหิต”

คำ “ใช่” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “ใช่” หากเป็นที่รู้กันว่าความหมายคือ “ไม่ใช่” นี่เป็นต้น

หนักกว่านี้มี เช่น กลอนวรรคหนึ่งว่า
“กระท่อมค้อมคร่ำคร่าอยู่อาจิณ”
เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
“GANJA BEND DOWN”
คือเขาแปลคำ “กระท่อม” เป็น “กัญชา” …จบกัน

นี่คือปัญหาเรื่องคำศัพท์กับโวหารเท่านั้น ยังมีเรื่องความรู้สึกซึ่งลึกซึ้งไปกว่านั้น ด้วยความรู้สึกนั้นโยงไปถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างไปตามชาติพันธุ์อีกเล่า

อย่างไรก็ตาม งานแปลวรรณกรรมเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นยิ่ง แม้โลกยุคใหม่จะทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ความแปลกหน้าและแปลกแยกก็จะมีมากขึ้นด้วยเพราะพื้นฐานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนี่เอง

งานวรรณกรรมนี่แหละจะช่วยเป็นสะพานให้ความเข้าใจได้ทอดถึงสู่กัน

คุณอาทร เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเล่าว่า นักแปลต่างชาตินั้นให้ค่าความสำคัญของงานแปลและตีเป็นมูลค่าสูงยิ่งถึงหลักแสนหลักล้านบาทนั่นเทียว

นั่นเพราะเขาให้ค่างานวรรณกรรมสูงยิ่ง ซึ่งก็จริงด้วยงานวรรณกรรมดีๆ นั้นแปรเป็นมูลค่าได้สารพัดสื่อ ทั้งยอดพิมพ์และสื่ออื่นนอกจากสื่อสิ่งพิมพ์อีกหลากหลาย

เรารู้จักและเข้าใจคนอเมริกันนอกจากหนังฮอลลีวู้ดแล้ว ยังเข้าใจวัฒนธรรมจากเรื่องแปลงานวรรณกรรมดีๆ หลายเรื่องด้วย

ใครชอบอ่านงานแปลของประมูล อุณหธูป จะรู้เรื่องเคาบอยยุคมุ่งตะวันตกที่ต้องฝ่าด่านนักรบอินเดียนแดงอันฉกาจฉกรรจ์ได้ดี บางทีก็จะดีกว่าหนังเคาบอยเรื่องนั้นๆ อีกด้วย

ตัวอย่างเรื่องชาลาโก้ ฉากหนึ่งคุณประมูลฉายภาพคมชัดกว่าหนังฉายด้วยคำบรรยายดังนี้

“กิ้งก่าร่อยๆ ตัวหนึ่ง หย่งตัว ปราดข้ามโขดร้อนๆ ไปชะงักอยู่ในร่มเงา หางโด่ง ผนังคอของมันพะเยิบหอบอากาศเข้าหายใจ สักครู่ก็ผ่อนหางลง กิ้งก่าหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว และชาลาโก้ก็ไม่กระดิกกระเดี้ย”

ไม่ได้พูดถึงความสุขุมรอบคอบและสายตาคมกริบเลย แต่กลวิธีบรรยายให้ความรู้สึกทั้งหลายนี้แจ่มชัด
และสำคัญยิ่งสำนวนแปลของประมูล อุณหธูป ให้คำได้คมกริบริบใจได้หมดเลย

โลกยุคใหม่ควรจะรู้จักและเข้าใจคนไทยดีไม่เพียงการเมือง การค้า ท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรมแบบ “ชุบแป้งทอด” เพียงเท่านั้น

แต่ควรจะรู้และเข้าถึงความเป็นคนไทยจริงๆ จากงานวรรณกรรมดีๆ ที่เรามีทั้งที่เป็นหลักและงานร่วมสมัยด้วย

สมควรต้องส่งเสริมการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม และการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างชาติ
ถือเป็นวาระปฏิรูปตามแผนยุทธศาสตร์นั่นเลย