สุรชาติ บำรุงสุข : แถวตรง… ขวาหัน! 2017 ยุค “ผู้นำเข้มแข็ง”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ผมยืนกลางถนนอเวนิวที่ 5 และจะยิงใครสักคนก็ได้
แล้วผมก็จะไม่เสียคะแนนแม้แต่เสียงเดียวเลย”

-โดนัลด์ ทรัมป์-

คํากล่าวในข้างต้นมาจากผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวในช่วงต้นของการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในมลรัฐไอโอวา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2016 แม้จะเป็นช่วงต้นที่ไม่มีใครคาดคิดว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล้ากล่าวเช่นนี้กลางที่สาธารณะจะประสบความสำเร็จได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

เพราะการกล่าวเช่นนี้จากนักการเมืองที่กำลังรณรงค์หาเสียงกับประชาชนด้วยการคุยโวว่า “จะยิงใครสักคนก็ได้” นั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมแต่อย่างใด

ว่าที่จริงแล้ว ทรัมป์มีคำกล่าวในลักษณะที่ต้องถือว่า “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” ในกรอบของลัทธิเสรีนิยมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้อพยพ ชาวมุสลิม ประเด็นเรื่องผู้หญิง และความหลากหลายทางเพศ

แต่คงต้องยอมรับว่าคำกล่าวในลักษณะที่ไม่ถูกต้องทางการเมืองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ไม่กระทบคะแนนเสียงเท่านั้น หากในบางส่วนยังกลายเป็นความ “ถูกใจ” ที่เรียกคะแนนเสียงได้อีกด้วย

ในความเป็นจริง คงต้องยอมรับว่าคำกล่าวต่างๆ ของทรัมป์ที่อาจจะดู “ขวาจัด” และ “ล้าหลัง” อย่างมากในเชิงทัศนะนั้น ก็ไม่ได้กระทบจนกลายเป็นผลลบต่อการลงเสียงสนับสนุนเขาแต่อย่างใด

ผู้คนส่วนหนึ่งไม่ “แคร์” และบางส่วนดูจะชอบเสียด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตรงใจหรือสะใจก็ตาม ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนว่าคำกล่าวด้วยภาษาที่รุนแรงของทรัมป์ แทนที่จะเป็นคะแนนลบ กลับกลายเป็นคะแนนบวกในหมู่ผู้สนับสนุนเขา

ประกอบกับทรัมป์เองก็มีบุคลิกในลักษณะ “เชื่อมั่นในตนเองสูง” จนบางทีเขาอาจจะมีบุคลิกเป็น “เผด็จการ” อย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะเช่นนี้ทำให้เขาเป็นตัวแทนที่เป็นรูปธรรมในแบบ “ผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาด” (strongman)

กล่าวคือ เป็นผู้นำแบบ “มาดเข้ม” และอำนาจนิยม ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว ประธานาธิบดีโอบามาดูจะเป็นผู้นำในแบบนิ่มนวลและเสรีนิยม

ซึ่งภายใต้สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงชุดใหม่ในเวทีโลก ชาวอเมริกันบางส่วนอาจจะอยากมีผู้นำที่มีบุคลิกแบบ “เข้มแข็งและอำนาจนิยม” ดังเช่นตัวแบบของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นต้น

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ใหม่ ผู้คนในโลกตะวันตกวันนี้กำลังถวิลหาผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาดมากขึ้น และการปรากฏตัวของผู้นำเช่นนี้กำลังกลายเป็นแนวโน้มของโลกในปี 2017 อย่างน่าสนใจ


กระแสโลกเสรี-กระแสโลกาภิวัตน์

หลังจากการสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มกราคม 2017 นี้แล้ว โลกก็จะได้เห็นการปรากฏตัวของผู้นำใหม่ที่มีความโดดเด่นในเชิงบุคลิกที่คล้ายคลึงกัน

พวกเขาในฐานะผู้นำของรัฐมหาอำนาจของโลกทั้ง 4 ประเทศ จะมีคุณลักษณะในภาพรวมเป็นแบบขวาจัด… อำนาจนิยม… ดุดัน ไม่ว่าจะเป็น วลาดิเมียร์ ปูติน (รัสเซีย) สี จิ้น ผิง (จีน) นเรนทรา โมดี (อินเดีย) และล่าสุดคือ โดนัลด์ ทรัมป์

จนอาจกล่าวได้ว่าโลกหลังจากเดือนมกราคมของปี 2017 เป็นต้นไป จะเป็นโลกที่ “หมุนขวา” อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ในด้านหนึ่งของการเกิดของปรากฏการณ์ “กระแสขวา” ก่อตัวขึ้นทั่วโลกเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามโดยตรงถึง “กระแสเสรีนิยม” และ “กระแสประชาธิปไตย” ที่เคยกำเนิดเป็นกระแสโลกชุดใหญ่มาแล้วหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น จนทุกฝ่ายได้เห็นถึงรูปธรรมของกระแสดังกล่าว ที่ “รัฐเผด็จการทหาร” ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปใต้และในละตินอเมริกายุติบทบาทลง พร้อมกับความล้มเหลวของนโยบายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

คำสัญญาต่างๆ ของผู้นำทหารล้วนมีแต่ความล้มเหลว และเช่นเดียวกับ “รัฐเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ไม่ว่าจะเป็นในรัสเซียและในยุโรปตะวันออกก็ถึงจุดของการล่มสลาย

รัฐสังคมนิยมไม่สามารถสร้างพลังการผลิตได้เท่ากับรัฐทุนนิยม และทั้งยังไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้แต่อย่างใด

ซึ่งความล้มเหลวที่ไม่แตกต่างกันเช่นนี้ล้วนเป็นจุดจบของระบอบอำนาจนิยม พร้อมกันนี้ก็กลายเป็นโอกาสของ “กระแสประชาธิปไตย” ที่จะพัดไปทุกมุมของโลกภายใต้ความเป็นโลกาภิวัตน์ จนระบอบเผด็จการที่ล้าหลังล้วนแต่ต้องยุติลงในทางหนึ่งทางใด

และเปิดทางให้ “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” เข้ามารับบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนทางการเมือง

ปรากฏการณ์ของโลกภายใต้ “กระแสเสรีนิยมใหม่” เช่นนี้ส่งผลให้ทั้งกระบวนการทางการเมืองและการจัดการทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดแบบทุนนิยม-เสรีนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และขณะเดียวกัน กระแสเช่นนี้ก็กลายเป็นชุดความคิดหลักในกระแสโลก ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นในปี 1989/1990 เป็นต้นมา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นถึงการพังทลายของระบบการปกครองแบบสังคมนิยมทั้งในสหภาพโซเวียตรัสเซียและในยุโรปตะวันออก…

คู่แข่งสำคัญของระบบเสรีนิยมล้วนถึงจุดจบไม่แตกต่างกัน จนอาจกล่าวได้ว่า กระแสโลกหลังยุคสงครามเย็นเป็นกระแส “ประชาธิปไตยเสรี” ที่มาพร้อมกับการให้ความสำคัญในเรื่องของเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ตลอดรวมถึงการปกป้องสิทธิของผู้หญิง และผู้มีความแตกต่างทางเพศ

แล้วในปี 2016 สัญญาณของกระแสโลกกลับบ่งบอกถึงอาการ “หมุนกลับ” ซึ่งว่าที่จริงแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องกระแสประชาธิปไตยนั้น ล้วนตระหนักดีว่าโอกาสที่จะกระแสจะเกิดอาการ “ตีกลับ” มีความเป็นไปได้เสมอ แต่ก็มีความหวังเล็กๆ อยู่ในใจว่าอาการตีกลับเช่นนี้จะเป็นเพียงผลในระดับประเทศ

กล่าวคือ เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน มากกว่าจะเป็นผลในระดับระหว่างประเทศ และยังเชื่อมั่นว่า “กระแสเสรีนิยม” จะยังคงอยู่อย่างมั่นคงในฐานะของความเป็นกระแสโลก ซึ่งก็คือเป็นทั้งความฝันและความหวังว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กรแสเสรีนิยมของโลกจะยังคงอยู่ต่อไป

แต่จากปี 2016 ต่อเข้าปี 2017 แล้ว ความฝันและความหวังเช่นนี้กำลังถูกท้าทายเป็นอย่างยิ่ง!

AFP PHOTO / POOL / Evan Vucci

กระแสขวาในระบอบประชาธิปไตย

ในท่ามกลางความพลิกผันเช่นนี้ เราอาจจะตั้งต้นได้จากการเมืองยุโรปปัจจุบัน ซึ่งกำลังเห็นถึงการถดถอยของประชาธิปไตยเสรี และขณะเดียวกันก็เห็นถึงการก่อตัวของ “ประชานิยมปีกขวา” อันเป็นผลผลิตของการผสมผสานอุดมการณ์ “ชาตินิยม” เข้ากับความคิด “ประชานิยม”

หากจะมีส่วนดีก็คือปีกขวาเช่นนี้ยอมรับว่าการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาเกิดขึ้นจากกระบวนการเลือกตั้ง

กล่าวคือ รูปลักษณ์ของการเมืองยุโรปที่ระบอบประชาธิปไตยได้พัฒนาการจนเกิดความเข้มแข็ง (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกสภาพเช่นนี้ว่า “democratic consolidation”) ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับว่า ชัยชนะในทางการเมืองได้มาด้วยการแข่งขันเลือกตั้ง และด้วยกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาเป็นรัฐบาล

ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหารเช่นการเมืองในอดีตอีกต่อไป

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าพรรคการเมืองจะมีอุดมการณ์แบบใดก็ตาม กติกาหลักของการได้เป็นรัฐบาล มาจาก “การหาเสียง” และนำเสนอนโยบายให้แก่ประชาชน

สภาวะของความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นปีกขวาจัดหรือปีกซ้ายจัด ล้วนยอมรับการเลือกตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายขวาจัดไม่สามารถใช้การยึดอำนาจด้วยกำลังทหารเช่นที่เคยเกิดขึ้นในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาในอดีต

และขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายจัดก็ไม่สามารถใช้การยึดอำนาจในแบบ “ปฏิวัติบอลเชวิก” เช่นที่เคยเกิดในรัสเซียได้เช่นกัน ภายใต้เส้นทางการเมืองเช่นนี้ การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการที่ฝ่ายขวาจัดจะต้องต่อสู้กับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ได้ชัยชนะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นปีกขวากลาง หรือกลุ่มปีกซ้ายทั้งหลายก็ตาม

ฉะนั้น การขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายขวาจัดในยุโรปด้วยการเลือกตั้งจึงเป็นประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง… ถ้าเช่นนั้น อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้พวกเขากลายเป็น “ผู้นำรัฐบาล” ของประเทศต่างๆ

และทำไมพวกเขาต้องแสดงตัวในการเป็น “ผู้นำแบบอำนาจนิยม” ด้วย?

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งผู้บริหารชุดใหม่กีดกันผู้อยพยเข้าสหรัฐ / AFP PHOTO

แรงขับเคลื่อนกระแสขวา

หากย้อนกลับไปดูเส้นทางการขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายขวาจัดแล้ว จะเห็นแรงขับเคลื่อนสำคัญมักจะเป็นผลจาก “ความกลัว” ต่อความเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนในสังคมต้องเผชิญ ในสภาวะที่ประชาชนหรือในอีกมุมหนึ่งก็คือสังคมต้องเดินไปสู่อนาคตท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนนั้น ผู้คนโดยทั่วไปมักจะมีความรู้สึกว่าแนวคิดแบบเสรีนิยมไม่เป็นหลักประกันในการต่อสู้กับปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่ทวีความเข้มข้นขึ้นในรูปแบบต่างๆ

ดังจะเห็นได้ว่ายุโรปในสภาวะที่ความไม่มั่นคงเกิดขึ้นจากความรุนแรงจากการก่อการร้าย การไหลทะลักของผู้อพยพจากตะวันออกกลาง การตกงานของชนชั้นล่าง

ในสภาวะเช่นนี้ ผู้คนอาจต้องการหลักประกันของ “ความมั่นคงทางใจ”

ในบางสังคม ผู้คนอาจจะแสวงหาหลักประกันเช่นนี้จากปัจจัยทางศาสนา เพราะอย่างน้อยศาสนาในบริบทของความเชื่อและความศรัทธาทำให้เกิดความรู้สึกถึงความมั่นใจ และความปลอดภัย และมีความหวังว่าถ้าสิ่งนี้ไม่เกิดในภพปัจจุบัน อย่างน้อยก็อาจจะเกิดขึ้นในภพหน้า

หรืออาจจะกล่าวได้ว่าศาสนาคือหลักประกันทางจิตวิทยาว่าอนาคตของเราจะอยู่ใน “อุ้งมือ” ของบุคคลที่จะทำหน้าที่คุ้มครองเรา และทำให้เรามีอนาคตที่ดี ในแบบ “เทพผู้พิทักษ์” (guardian angles)

จากมุมมองเช่นนี้ ศาสนากับการเมืองนำเสนอตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่พาผู้คนและสังคมไปสู่อนาคตที่ดีไม่แตกต่างกัน คือ “ผู้นำที่เข้มแข็ง” ซึ่งก็มักจะเป็น “ผู้นำในเชิงบารมี” (คือเป็น “charismatic leaders”) ที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดการยอมรับในการเดินไปข้างหน้าร่วมกัน และทั้งพร้อมจะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ร่วมกัน

และที่สำคัญก็คือความเชื่อมั่นว่าผู้นำในรูปแบบเช่นนี้จะช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่า อีกทั้งไม่ว่าปัจจุบันจะผันผวนอย่างไร แต่พวกเขาก็พร้อมจะมั่นใจและเชื่อใจกับการนำของ “ผู้นำ” ที่พวกเขาศรัทธา อาจจะคล้ายกับคำขวัญยุคหนึ่งของการเมืองไทยที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรืออีกนัยหนึ่งก็เสมือนกับการฝากอนาคตไว้กับผู้นำ

ผู้นำทางการเมืองเช่นนี้ในอดีตมักจะเป็นบรรดา “นักปฏิวัติ” ไม่ว่าจะเป็น เหมา เจ๋อ ตุง โฮจิมินห์ ฟิเดล คาสโตร หรือแม้กระทั่ง เช กูวารา เป็นต้น แต่บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นพวกปีกซ้าย แต่ถ้านึกถึงพวกปีกขวาแล้ว ผู้นำอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ เบนิโต มุสโสลินี ก็อาจจะเป็นตัวอย่างได้เช่นกัน และมักจะเห็นได้ว่าบุคลิกของพวกเขามีลักษณะของความเป็น “ผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาด” อยู่ในตัวเอง และการใช้อำนาจเช่นนี้ถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาความไม่มั่นคงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และทั้งยังจะเป็นหลักประกันว่าความเข้มแข็งและความเด็ดขาดของผู้นำในแบบอำนาจนิยมจะช่วยขจัด “ความกลัว”

สำหรับการเดินทางสู่อนาคต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การขายภาพลักษณ์ของผู้นำที่เข้มแข็งที่พร้อมจะต่อสู้กับความไม่มั่นคงในอนาคต

ดังนั้น ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ผู้คนเป็นจำนวนมากจึงเริ่มละทิ้งแนวคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งเป็นมาตรฐานของสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่มั่นใจว่าแนวนโยบายแบบเสรีนิยมจะต่อสู้กับปัญหาความไม่มั่นคงที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นได้อย่างไร

ที่สำคัญก็คือ มองไม่เห็นว่าแนวนโยบายแบบเสรีนิยมจะเป็นหลักประกันต่อความมั่นคงในอนาคตได้อย่างไร

ผลผลิตของความกลัว

ผลจากความกลัวและการตัดสินใจที่จะ “หันหลัง” ให้กับโลกเสรีนิยมจึงเป็นโอกาสอันดีที่เปิดออกให้ผู้นำในแบบอำนาจนิยมกล้าเปิดตัวและนำเสนอนโยบายแบบขวาจัด และในทางกลับกันผู้คนในสังคมเองก็ดูจะตอบรับกับนโยบายเช่นนี้ด้วย

ชัยชนะของการนำพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

ชัยชนะของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และการขยับตัวขึ้นสู่กระแสสูงของบรรดากลุ่มการเมืองปีกขวาในประเทศต่างๆ ในยุโรปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนเสียงที่เพิ่มมากขึ้นของพรรคแนวร่วมแห่งชาติที่นำโดย มารีน เลอแปง ในฝรั่งเศส เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ล้วนแต่ตอบโจทย์ของความกลัวและความไม่มั่นใจต่ออนาคตของผู้คนในโลกตะวันตกอย่างชัดเจน พวกเขาไม่เชื่อมั่นในหลักการของลัทธิเสรีนิยม

ยิ่งพวกเขากลัวความเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด…ยิ่งไม่มั่นใจต่ออนาคตมากเท่าใด สภาพเช่นนี้ก็ยิ่งเอื้อให้ผู้นำอำนาจนิยมฝ่ายขวามีบทบาทได้มากขึ้น

อย่างน้อยพวกเขาเชื่อว่าผู้นำที่เข้มแข็งแบบ “อำนาจนิยม” จะเป็นปัจจัยในการต่อสู้กับความกลัวและความไม่มั่นใจที่กำลังเกิดขึ้นได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้นำที่ไม่เป็นเสรีนิยมจะเป็นหลักประกันต่อชัยชนะในการต่อสู้กับความผันผวนในอนาคตนั่นเอง!