มิสเตอร์ “ปอง” ดอง

ด้วยชื่อ ชั้น และบารมี ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

จึงอาจทำให้หลายฝ่ายที่กำลังทำการบ้านเรื่อง “ปรองดอง”

พากัน “ปอง” เพื่อให้เกิดการ “ดอง”

ระหว่างฝ่ายตนในฐานะผู้เสนอ กับการ “สนอง” จากฝ่ายที่รับรู้

ถือเป็นการช่วงชิงการนำทางการเมือง ที่หวังให้ “การปรองดอง” อยู่ในมือฝ่ายตนเอง

แต่นั่นก็อาจนำไปสู่ ความสับสนและมีแรงกระเพื่อม ขึ้นได้อย่างไม่คาดหมาย

โดยเฉพาะการที่ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ออกมาชิงการนำ

ด้วยการเสนอว่า การผลักดันให้เกิดนโยบายในการสร้างความปรองดองได้ จำต้อง

1.ยึดนโยบายและมาตรการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่เคยใช้สมัยเป็นนายกฯ คือคำสั่งที่ 66/23 และ 66/25

2. คำนึงถึงเรื่องความสามัคคี สันติสุขของคนในชาติและสังคมไทยเป็นที่ตั้ง

3. ยึดหลักเมตตาธรรม ยุติความเคียดแค้นชิงชัง

4. ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมแบบเดียวกับ พล.อ.เปรม เคยใช้

และ 5. ต้องใช้กฎหมายและปฏิบัติกับทุกฝ่ายอย่างที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

 

ข้อเสนอข้างต้น โฟกัสไปยัง พล.อ.เปรม ประธานองคมนตรี อย่างแจ่มชัด

เพื่อทำให้ข้อเสนอมีน้ำหนัก

และยิ่ง “คำสั่งที่ 66/2523” เคยทำให้สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปียุติลงได้โดยการใช้นโยบายทางการเมืองจึงยิ่งโดดเด่น

การเป็นรัฐบุรุษของ พล.อ.เปรม ส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายนี้

ดังนั้น เมื่อคำสั่งที่ 66/2523 ถูกปัดฝุ่นขึ้นมานำเสนอ

สังคมจึงให้ความสนใจทันที และยิ่งโดยสถานะปัจจุบันของ พล.อ.เปรม ทำให้สังคมบางส่วนเชื่อว่านี่อาจเป็นเส้นทางหลักแห่งการสร้างการปรองดองก็ได้

แต่กระนั้น การที่จะสุกงอมกับนโยบายนี้ ซึ่งยึดแนวทาง “การเมืองนำการทหาร” อย่างเคร่งครัด คงจะต้องมีใจที่เปิดกว้าง

พร้อมจะให้โอกาสแก่ทุกฝ่าย โดยเท่าเทียม เป็นธรรม

คำถามก็คือ สังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายกุมอำนาจ ในปัจจุบัน “สุกงอม” เพียงใด

และที่สำคัญ พล.อ.เปรม รับรู้และเห็นอย่างไรกับข้อเสนอนี้

เพราะเรื่องนี้ มีความละเอียดอ่อนบางอย่างแฝงอยู่ด้วย

 

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่จะมีข้อเสนอของนายสังศิต

รัฐบาลได้เคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน ด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้น

โดยโครงสร้าง ป.ย.ป. มีคณะย่อย 4 ชุด นายกฯ นั่งเป็นประธาน ทุกชุด คือ

1. คณะกรรมการด้านการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ หมายถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

และ 4. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

เมื่อโฟกัสไปยังคณะกรรมการชุดที่ 4 จะประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง 19 คน อาทิ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธาน ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย มี ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. รองปลัดกระทรวงกลาโหม หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกลาโหม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ผอ.ศปป.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

โดยมี 4 คณะอนุกรรมการ คือ

1) คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น จำนวน 23 คน มี พล.อ.วัลลภ เป็นประธาน รวมถึงตัวแทนเหล่าทัพระดับ พล.ท. หน่วยละ 2 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผอ.ศปป. ตัวแทนกรมพระธรรมนูญ และกระทรวงมหาดไทย

2) คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 22 คน

3) คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน และ

4) คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 17 คน

ถือเป็นทัพใหญ่

และ พล.อ.ประวิตร ประกาศว่า จะเน้นพูดคุยกับกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม และจะทำสัจวาจาสัญญาประชาคม คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือนก็น่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง

กระแสหลัก จึงอยู่ตรงนี้

ตรงที่ พล.อ.ประวิตร

ไม่ใช่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

 

จึงไม่น่าแปลกใจ สำหรับท่าทีของน้องตู่ และพี่ป้อม ที่ออกมาปฏิเสธอย่างฉับพลันทันที เมื่อมีการเสนอ พล.อ.เปรม โมเดล 66/23 ขึ้นมา

โดย พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “อยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนให้ดี เพราะสูตรดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน ครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้กัน ซึ่งมีทั้งการใช้กำลัง การใช้อาวุธสงคราม แบ่งฝ่ายต่อสู้กันซึ่งเป็นคนละเรื่อง วันนี้ไม่ได้แบ่งแบบนั้น สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่กรณีปัจจุบันเป็นคนละอย่าง และไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ วันนี้อยู่ที่การจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างไร ด้วยกลไกปกติซึ่งต้องมีวิธีการ”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร บอกว่า

“ข้อเสนอของ สปท. ผมไม่ทำ ผมทำของผมแบบนี้ เพราะไม่เอาเรื่องกฎหมาย เรื่องปรองดองที่จะทำ ไม่เอาเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้อง และจะไม่ละเมิดกฎหมาย นอกจากเดินไม่ได้ จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ ไม่เอากฎหมาย กอ.รมน. หรืออะไรมาทำ คำสั่ง 66/23 เป็นเรื่องนานมาแล้ว มีเรื่องของผู้ก่อการร้าย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เป็นเรื่องความปรองดองของคนในชาติ และผมไม่ยึด 66/23 จะทำให้คนมีความเข้าใจร่วมกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต และไม่ได้ยกเลิกโทษใคร ครั้งนี้ไม่ใช้วิธีการเดียวกับกลุ่มพัฒนาชาติไทย คนละแบบกัน”

ฟังความตาม 2 พี่น้องบูรพาพยัคฆ์ พูด แทบจะปิดฉาก พล.อ.เปรม โมเดล 66/23 ลงทันที

เพราะนั่นไม่ใช่แนวทางที่ พล.อ.ประวิตร วางไว้

โมเดลที่ควรจะเป็น คงเป็นอย่างที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ บอกมากกว่า นั้นคือ

1. จะตอบคำถามว่าจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างไร โดยมองอนาคตประเทศเป็นสำคัญ

2. อะไรที่ผิดกฎหมายจะไม่เอา และยืนยันว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลไม่ใช่คู่กรณีใคร การปรองดองไม่ได้จำกัดอยู่แค่พรรคหรือกลุ่มการเมืองเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้กับทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ ประชาชน

3. จะหยิบยกเอา 10 ประเด็นสำคัญๆ มาเป็นตัวตั้งในพูดคุยกันมากกว่าการนำเอาประเด็นความขัดแย้งเดิมของทั้ง 2 ฝ่ายมาคุย ทุกฝ่ายต้องเปิดใจและเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

4. บางจุดที่จำเป็นต้องปลดล็อกด้วยกฎหมาย อาจต้องปลดล็อกด้วยมาตรา 44

ขณะที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 มาขยายความเพิ่มเติมอีกว่า

5. พล.อ.ประวิตร มีแนวคิดจะให้พรรคการเมืองลงนามในเอ็มโอยูปรองดองแก้ขัดแย้งร่วมกัน

6. จะเริ่มต้นด้วยการเชิญแต่ละฝ่าย ในรอบแรกจำนวน 6-7 ฝ่ายเข้ามาพูดคุย การคุยจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิรโทษกรรม แต่จะรับฟัง ถ้าผู้เข้าร่วมมีแนวทางปัญหาใดที่เห็นร่วมตรงกันว่าควรรีบแก้ไขเร่งด่วน อาจมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือถ้ามีเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของชาติจริงๆ คสช. อาจจะใช้อำนาจมาตรา 44 เปิดทางให้ แต่ยังไม่รวมเรื่องคดีความ

 

จะเห็นว่า แม้คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะยังไม่เดินหน้าอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้เตรียมการอะไรไว้พอสมควร

ที่จะให้เกิดมรรคผลภายใน 3 เดือน

สะท้อนถึงความมั่นใจอะไรบางอย่างของ พล.อ.ประวิตร

ดังนั้น เมื่อมีเหตุแทรกซ้อนหรือมีเหตุเข้ามาแทรกแซง พล.อ.ประวิตร ก็รีบชิง “ตัด” ออกไปทันที

เพื่อไม่ให้แนวทางที่วางไว้ไขว้เขว

แม้นั่นจะเป็น “พล.อ.เปรม โมเดล 66/2523” ก็ตาม

และว่าที่จริงแล้ว ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็ระมัดระวังอย่างสูงที่จะไม่ไปกระทบ พล.อ.เปรม โดยเฉพาะการทาบบารมี

แต่กรณี พล.อ.เปรม โมเดล 66/2523 คงไม่อาจปล่อยให้ขยายตัวออกไป จนเกิดการสับสน

แนวทางปรองดอง ในนาทีนี้ ต้องอยู่ภายใต้ธงนำของ พล.อ.ประวิตร เท่านั้น