เศรษฐกิจไทยพังทลาย หรือยัง ? อ่านอดีตขุนคลัง ‘ธีระชัย’ วิเคราะห์ หลังกรณีคนฆ่าตัวตาย

หลังมีการนำเสนอข่าวว่ามีคนไทยฆ่าตัวตายจากพิษภัยเศรษฐกิจติดๆ กัน จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า สรุปแล้ววันนี้วิกฤตเศรษฐกิจในบ้านเราเข้าข่ายคำว่า “โคม่า”? หรือยัง

ซึ่งเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ชวนธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนทนามองภาพรวมของเศรษฐกิจ-ผลพวงการเมืองในประเทศ

อดีตขุนคลyงอธิบายว่า สภาวะเศรษฐกิจในวันนี้ เราต้องมอง 2 ฝั่งแรกคือเศรษฐกิจตัวเลขเป็นเรื่องของ GDP ตัวเลขส่งออก ขณะนี้ต้องยอมรับว่าตกลง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่หนักมาก

ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจบ้านเรามีปัญหาในการกระจายรายได้ กระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ว่าเม็ดเงินมันไม่ลงไปถึงระดับล่าง กระจายน้อยไป

ซึ่งข้อนี้เป็นข้อวิจารณ์ที่หลายๆ คน ประชาชนทั่วๆ ไป คนเดินถนนมีความรู้สึกว่า เป็นแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

การหารายได้ ยอดค้าขายไม่ดีเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและสภาวะเศรษฐกิจโลก ผลพวงสงครามการค้าต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก

แต่ถ้าให้ผมซื้อล็อตเตอรี่ในส่วนของการประเมินสถานการณ์โลก ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ มันกำลังจะมีจังหวะเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐปลายปีหน้า ถ้าให้ผมคาดเดาผมคิดว่าในแง่ของประธานาธิบดีทรัมป์ ถ้าเขาสามารถเจรจาจีนได้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งอันทำให้เป็นจุดขายของเขาในการลงเลือกตั้งสมัยหน้า เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ ผมก็เลยคาดเดาว่ามันน่าจะจบและคลี่คลายในไตรมาสที่ 4 ปีหน้า

ชมคลิป


หลังจากนั้น เศรษฐกิจโลกก็จะคลี่คลายไปด้วย ตลาดหุ้นก็อาจจะดีขึ้นทั่วโลก ในส่วนแรงกดดันจากต่างประเทศ ผมคิดว่าปีหน้าน่าจะเบาลง

แต่ปัญหาหลักในวันนี้คือในประเทศเรามีหลายนโยบาย รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ในอดีต 5 ปีที่ผ่านมาที่ไปดำเนินนโยบายบางนโยบายซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายทุน ต่อบริษัทในตลาดหุ้น มันดีในแง่คือการทำให้ตลาดหุ้นคึกคัก ตัวเลข GDP ดี

แต่กำลังซื้อของประชาชนจริงๆ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมากที่สุดคือ ก๊าซหุงต้มที่ขายให้กับครัวเรือน หลายรัฐบาลในอดีตเขาจะกำหนดเพดานคุมเอาไว้ (ราว 333 ดอลลาร์ต่อตัน เขากำหนดเพดานไว้เสมอ)

แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไปยกเลิกแล้วไปอิงราคาตลาดโลก ของซาอุดีอาระเบีย จะทำให้ต้นทุนการขายก๊าซหุงต้มกับครัวเรือนซึ่งเดิมเคยถูกกดไว้ก็แพงขึ้นมา

พอประชาชนเดือดร้อนก็ไปเก็บเงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยชดเชย

วิธีการแบบนี้มันดีสำหรับบริษัทที่ค้าขายก๊าซ และตลาดหุ้น แต่มันทำให้กำลังซื้อของประชาชนจะกระทบไปด้วย ซึ่งทุกครัวเรือนก็ใช้ทุกวัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้กำลังซื้อของชาวบ้านหดลงอย่างมาก

กำลังซื้อที่จะไปซื้ออย่างอื่นต้องถดถอยตามไปด้วย เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

พูดถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชัดเจนว่า “เศรษฐกิจ” คือ “ปัจจัยสำคัญ” ในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือก

กล่าวคือ ถ้ามีการทำให้ผลประโยชน์มันกระจายไปถึงระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ประชาชนเขามีความหวังได้อย่างชัดเจน ประชาชนจะทุ่มเทคะแนนในการเลือกตั้งให้กับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทุกอย่างจะคลี่คลายแล้วเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการเลือกตั้ง สร้างความหวังในหมู่ประชาชนได้อย่างชัดเจน

แต่ปรากฏว่านโยบายที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้ประชาชนประทับใจเท่าที่ควร
เสียงของเขาก็พ้นน้ำขึ้นมาได้นิดหน่อย ตามคำวิจารณ์ของคนทั่วไปคือการอาศัยกติกาบวกกับกลเม็ดเด็ดพรายในการคำนวณคะแนน แล้วก็พรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาอยู่ร่วม

มันก็ชัดเจนว่าประชาชนทั้งหมดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยากจะฝากความหวังไว้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 เท่าไหร่

ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ มันก็สะท้อนได้จากผลงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาว่าไม่เป็นที่น่าพอใจ
ซ้ำร้ายกลับกลายเป็นว่า พอมีเลือกตั้งแล้วมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็น พล.อ.ประยุทธ์ มันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นความหวังที่ลดน้อยลงไปอีก

ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกและผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมท่านนายกฯ ถึงจะต้องมาแสดงอาการว่าจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง

ถ้าเราย้อนอดีตสมัยรัฐบาลที่มีผู้นำทหารเข้ามาเป็นนักการเมืองเป็นผู้นำรัฐบาลทุกคน เขาทราบดีถึงความชำนาญและบทบาทของตัวเอง ว่าจะปล่อยเศรษฐกิจ โดยเลือกมือเศรษฐกิจระดับเชี่ยวชาญเข้ามาทำ ผสมกับภาคส่วนวิชาการ แล้วเขามีความเป็นอิสระสูง ก็ไม่ได้ฟังผู้นำ ไม่ได้มีความเห็นทางเดียวกันด้วยซ้ำ
พอมาประยุทธ์ 2 ต่อให้มีพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้ามาก็ยังไม่เป็นความหวังเท่าไหร่

ถ้าเราดูนโยบายภาคการเกษตร การเข้าไปประกันรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคายาง ราคาปาล์ม ซึ่งดูแล้วเราน่าจะถึงเวลาที่จะต้องทบทวนการใช้มาตรการต่างๆ ให้ดี โดยเฉพาะผลกระทบในระยะยาว

อีกหนึ่งข้อวิจารณ์ที่เกิดขึ้นคือ หลายนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้แต่กลับทำไม่ได้ มันเป็นการสะท้อนว่า พรรคตัวเองไม่ได้รับความนิยมจึงต้องหานโยบายขายฝัน พูดไปแล้วแต่ทำจริงไม่ได้ ก็เห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการในการเข้าสู่การเลือกตั้งของรัฐบาลนี้ เขาวางแผนไม่เฉียบขาดในการขายนโยบาย
เทียบเท่าตอนยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ตอนคุณยิ่งลักษณ์มีการออกแคมเปญนโยบายหลายอย่างสามารถทำได้จริง เช่น ค่าแรง 300 เงินเดือน ป.ตรี แม้จะมีจุดอ่อนก็คือจำนำข้าว

หากเปรียบเทียบเรื่องค่าแรงขั้นต่ำสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ถามว่าทำไมทำได้ เพราะมันอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปรับขึ้นมาสูงนิดหน่อยได้ นักธุรกิจพอรับได้ แต่พอมาถึงยุคนี้จะไปบอกให้นักธุรกิจเขาปรับ มันยาก มันสูงมาก และจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมลดลง เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ พรรคนี้เขาวางแผน เขาคงจะรู้อยู่ว่าพูดไป ทำจริงยังคงทำไม่ได้ ส่วนใหญ่หาเสียงเป็นเกทับพรรคอื่นมากกว่า ว่าใครจะให้ตอบแทนประโยชน์ได้เท่าพรรคตัวเองหรือไม่ หรืออย่างเรื่องลดภาษีที่มีการออกมายอมรับว่ายังทำไม่ได้นั้น คนที่อยู่ในวงการเขาก็จะมองออกว่า การหาเสียงแบบนี้มันเป็นการหาเสียงขาดความรับผิดชอบ

เพราะว่าตัวเลขฝั่งค่าใช้จ่ายรัฐต้องแบกเยอะ ส่วนฝั่งรายได้รายรับของรัฐมันลด การหาเสียงเช่นนั้นจึงเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด ทำไม่ได้

หากให้ประเมินโครงการของรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมา ทำให้เสียระเบียบไปเยอะ

ดูอย่างโครงการ EEC หรือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลายโครงการผมมองว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดกับรัฐไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น

และหลายอันมันเป็นโครงการซึ่งสุดท้ายภาครัฐจะต้องควักกระเป๋า เอาทรัพยากรของประเทศซึ่งควรจะเป็นของประชาชนไปช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจโดยใช่เหตุ

หรือการออกนโยบายกระตุ้นสามแสนล้านล่าสุด ผมก็มองว่าไม่ได้เรื่อง อีกหลายโครงการก็ควรจะต้องรื้อ เพื่อให้เกิดคุ้มค่ามากขึ้นกว่านี้

อีกหนึ่งวาทกรรมที่มีการถกเถียงกันมากว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้ปากท้องก่อน ต้องดูความรู้สึก พ่อค้าเท้าเปล่า ประชาชนที่มีปัญหา ระดับรากหญ้าถามว่าปัญหาที่เขาเจอ ค้าขายไม่ได้ ปัญหามาจากไหน?

ก็มาจากนโยบายรัฐบาลส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องบอกว่าก็มารัฐธรรมนูญที่เอียง พยายามที่จะปกป้องคุ้มครองขบวนการที่จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์กับพวก กลับเข้ามาเป็นรัฐบาล มาจากการเขียนไว้อย่างเหนียวแน่น
ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ หลายคนก็ต้องมองว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะว่าถ้าไม่แก้ตรงนี้ แนวคิดในเรื่องของการทำนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ แหวกแนว ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็จะไม่เกิด

เพราะคนอยากจะเปลี่ยนแปลงเขาเข้ามาสู่อำนาจไม่ได้ จะต้องมีการรื้อ การผูกขาดตัดตอนกับกลุ่มทุน ซึ่งภาพที่เราเห็นก็ชัดว่าคนที่ผูกขาดอยู่แล้วก็ยิ่งผูกขาดมากขึ้นไปอีก การแข่งขันบนตาชั่งที่เอียงอย่างนี้ วิธีแก้ก็ต้องเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งมันเกี่ยวกันชัดเจน

แต่ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม เอื้อให้เกิดเสรีในการแข่งขัน แบบนี้เราไม่ต้องไปยุ่งอะไร ก็ปล่อยให้การแข่งขันเชิงนโยบายมันเกิดไป

แต่พอว่ามันกลายเป็นว่า ต่อให้คนมีนโยบายที่ดีกว่าไม่ว่าจะดีกว่าแค่ไหนอย่างไร ดูเป็นความหวังมากกว่าเท่าไร เขาก็ไม่มีทางที่จะเข้าสู่อำนาจได้ คนที่มีกำแพงกั้นไว้ คนที่ถูกคุ้มครอง คือนายทุนไม่ใช่ประชาชน
กลับกลายเป็นว่ายิ่งทำนโยบายหลายอย่างยิ่งทำให้เศรษฐีอันดับต้นๆ ของไทย ในการประเมินทุกปี มีมูลค่าทรัพย์สินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอด แต่ประชาชนไม่ดีเลย

ถ้าหากรัฐบาลบริหารประเทศเน้นให้เกิดประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก กับคนกลุ่มน้อยเป็นหลัก แต่ประชาชนจะได้ก็ต่อเมื่อมันหล่นลงมาเหมือนน้ำตกที่ผ่านมาหลายๆ ชั้น กว่าจะมาถึงมือประชาชน ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีก

มันจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดขึ้นในสังคมแล้วมันไปถึงจุดหนึ่งมันก็จะระเบิดขึ้นมา