EAT, Open Studio, Balance ซีรีส์นิทรรศการศิลปะของศิลปินญี่ปุ่นผู้สำรวจโลกรอบตัวด้วยความละมุนละไม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในช่วงเดือนพฤษาคม – กรกฎาคม ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูซีรีส์นิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย อนึ่ง ที่เรียก “ซีรีส์” ก็เพราะนิทรรศการที่ว่านี้ถูกจัดเป็นชุดๆ ต่อเนื่องกันติดๆ โดยเป็นผลงานของศิลปินเพียงผู้เดียว ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ทาคาโนบุ โคบายาชิ (Takanobu Kobayashi)

ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรร่วมสมัยคนสำคัญของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะและนิทรรศการศิลปะสำคัญๆ มาแล้วทั่วโลก เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากภาพวาดทิวทัศน์ป่าไม้อันสงบนิ่งที่เอิบอาบด้วยแสงอาทิตย์ หรือภาพวาดของคน สัตว์ สิ่งของที่แฝงกลิ่นอายเหนือจริง แต่ก็ดูน่ารักน่าชัง และอวลอายด้วยอารมณ์อบอุ่นละมุนละไม จนสะกดให้ผู้ชมตกอยู่ในห้วงภวังค์แห่งบรรยากาศที่เขาสร้างสรรค์ได้อย่างชะงัด

โคบายาชิเคยเดินทางมาพำนักและทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยทุนแลกเปลี่ยนจาก Agency of Cultural Affairs ของประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในช่วงนั้น ทิศทางการทำงานของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลง มาเป็นการวาดภาพภาชนะ ถ้วย จาน ชามว่างเปล่า ที่ถูกสาดส่องด้วยแสงหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือภาพของบ้านช่อง ตึกราม อพาร์ทเมนท์ในยามค่ำคืน และภาพยวดยานพาหนะ หรือรถโดยสารสาธารณะอย่าง รถเมล์, แท็กซี่ หรือสามล้อ บนท้องถนนอันเงียบงัน ภาพวาดเหล่านี้ของโคบายาชิ นอกจากจะพรรณาถึงสภาพจิตใจของเมืองหลวงแล้ว ยังเป็นบันทึกของเหตุการณ์หลากหลายมุมมองของกรุงเทพมหานครในห้วงเวลาขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสภาวะทางจิตใจของผู้คนในสังคมเมือง

ในคราวนี้ โคบายาชิหวนกลับมาสู่กรุงเทพเมืองฟ้าอมรอีกครั้ง เพื่อสร้างสรรค์ผลงานแสดงในซีรีส์นิทรรศการแสดงเดี่ยวสามชุด ในสามช่วงเวลา

เริ่มต้นด้วยนิทรรศการชุดแรกที่มีชื่อว่า EAT ซึ่งเป็นบทสรุปของโครงการศิลปะที่เขาทำมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ครั้งที่เข้าย้ายเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยผลงานในนิทรรศการนี้ประกอบด้วย ภาพวาดชุดภาชนะอันว่างเปล่า และผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยภาพถ่ายอาหาร ที่เขาถ่ายไว้ทุกครั้งที่เขากินอาหาร โดยในช่วงที่เขาเริ่มวาดภาพชุดภาชนะว่างเปล่าในกรุงเทพฯ เขามักแวะร้านอาหารโปรดของเขาทุกวัน และเริ่มสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้าง โดยนิทรรศการจัดแสดงไปในวันที่ 23 พฤษภาคม – 21 กรกฏาคม ที่ผ่านมา

“ผมสนใจในอาหารมาตลอด รวมถึงการสังเกตผู้คนที่กำลังกินอาหาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังกินอยู่ แต่แทนที่ผมจะสนใจตัวคน ผมกลับรู้สึกอะไรบางอย่างกับพฤติกรรมของพวกเขามากกว่า

ภาพถ่ายอาหารของผมชุดนี้เป็นการเฝ้ามองสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ผมใช้สร้างพัฒนาการในการวาดรูปมาตลอด ภาพที่ว่านี้ผมถ่ายตั้งแต่ช่วงที่อยู่เมืองไทย รวมถึงช่วงที่กลับญี่ปุ่น เป็นชุดต่อเนื่องกันมา ภาพถ่ายที่ว่านี้เคยแสดงในนิทรรศการที่ญี่ปุ่นมาแล้วครั้งนึง ส่วนงานที่เอามาแสดงในเมืองไทยเป็นงานในชุดเดียวกันที่มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นจากงานแสดงครั้งที่แล้ว” โคบายาชิกล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังนิทรรศการแรกของเขา

จบจากนิทรรศการแรก ก็ต่อด้วยนิทรรศการชุดที่สองที่มีชื่อว่า Open Studio โดยโคบายาชิเปลี่ยนพื้นที่แสดงงานชุดแรกให้กลายเป็นสตูดิโอชั่วคราว หลังจากนิทรรศการแรกจบลง โดยเขาใช้พื้นที่นี้เป็นห้องทำงาน สถานที่ค้นคว้าวิจัยข้อมูล และเป็นเสมือนหนึ่งห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ เยี่ยมชม และเรียนรู้กระบวนการปฎิบัติงานของศิลปิน รวมถึงร่วมพิจารณาเอกสารค้นคว้าของศิลปิน และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์กับศิลปินอย่างใกล้ชิด ในช่วงเวลาเปิดทำการของหอศิลป์ได้ ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา

“นิทรรศการนี้เป็นโครงการของหอศิลป์ ที่อยากเปิดพื้นที่แสดงงานให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เชิญชวนให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม โดยผมวางแผนว่าจะเปิดพื้นที่เป็น Open Studio (สตูดิโอเปิด) เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยผมจะทำงานล่วงหน้ามาก่อนจากญี่ปุ่น และเหลือปริมาณงานที่คำนวณเอาไว้ว่าจะทำเสร็จภายในช่วงเวลาหนึ่งเดือน แล้วนำมาจัดวางในสตูดิโอเพื่อให้สามารถทำงานที่นี่ต่อได้ในระยะเวลาที่กำหนด และเปิดให้ผู้ชมเข้ามาดูในระหว่างทำงานได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้ามาชม”

ผลงานทั้งหมดที่ถูกสร้างสรรค์ในช่วงเวลาของนิทรรศการ Open Studio ที่ว่านี้ ก็ถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการชุดสุดท้ายในซีรีส์นี้ ที่มีชื่อว่า Balance นั่นเอง

ผลงานในนิทรรศการ Balance ครั้งนี้ โคบายาชิสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับความสมดุลที่ถูกจำลองขึ้นใหม่ในพื้นที่ 2 มิติ ผ่านเทคนิคการวาดภาพสีน้ำมัน เขาเลือกใช้คำว่า “Balance” (ความสมดุล) ในฐานะจุดเริ่มต้นเพื่อพูดถึงสภาวะคลุมเครือและความชะงักงันที่อยู่รอบตัวเขา โคบายาชิเลือกวาดภาพตัวต่อของเล่นที่ถูกวางไว้บนพื้นหญ้าราวป่าอย่างเงียบงัน ให้อารมณ์กึ่งจริงกึ่งฝัน

ในภาพวาดเหล่านี้ แท่งตัวต่อรูปทรงต่างๆ ถูกวางต่อซ้อนกันขึ้นไปจนเกิดเป็นรูปทรงสูงสง่าสวยงามอย่างสมดุล แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ในความเป็นจริงนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ตัวต่อที่ถูกวางอย่างหมิ่นเหม่เหล่านี้จะสามารถยืนต้านแรงโน้มถ่วงอยู่ได้โดยไม่พังครืนลงมา โคบายาชิสร้างความเป็นไปได้ที่ว่านี้ขึ้นมาในโลกจำลองในภาพวาดเหล่านี้ของเขา และลวงเราให้เชื่อด้วยความสมจริงของน้ำหนัก แสงเงา และพื้นผิวของวัตถุในภาพวาดด้วยฝีมือการวาดภาพอันเจนจัด

“ผลงานชุดนี้เริ่มต้นจากการนำของเล่นตัวต่อไม้ไปทดลองต่อในสตูดิโอของผม โดยดูความเป็นไปได้ว่ามันจะวางได้อย่างหมิ่นเหม่ และก้ำกึ่งได้ถึงที่สุดในระยะไหน แล้วก็ถ่ายรูปและวาดมันออกมา แต่ผมก็ไม่ได้วาดมันออกมาให้เหมือนตัวต่อเหล่านั้นโดยตรง แต่จะพยายามเปลี่ยนสัดส่วนเล็กน้อย เพื่อสร้างสภาวะที่ดูมีความก้ำกึ่งต้านแรงดึงดูดให้มากที่สุด ซึ่งบางชิ้นก็จะไปถึงจุดที่ความเป็นจริงไม่สามารถทำได้

ลักษณะของการทำงานที่ผ่านมาของผม เป็นวิธีการสำรวจและเฝ้ามองการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ รอบตัว และในครั้งนี้คือการสำรวจสมดุลของสิ่งของในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมดุลของความลึกของวัตถุ ทิวทัศน์ และสภาพแวดล้อมรอบข้างมัน หรือสมดุลของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น กับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ โดยตัวต่อไม้ แทนสิ่งที่มนุษย์สร้าง ส่วนต้นไม้ ทุ่งหญ้า ท้องฟ้า แทนสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ ภาพวาดชุดนี้เป็นการสำรวจความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

สิ่งที่ผมวาดออกมา เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถเข้าใจและรับรู้ได้ ผมต้องการสื่อสาร แสดงความรู้สึกถึงการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น โดยใช้เทคนิคการวาดภาพแบบเหมือนจริง แต่ภาพวาดเหมือนจริงของผมจะไม่เหมือนจริงแบบเป๊ะๆ หากแต่เป็นการแสดงการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ในมิติที่ผมเข้าใจ เป็นการมีอยู่ในใจของผม เป็นการมีอยู่ที่ผมมองเห็น รู้สึก เข้าใจ และต้องการแสดงออกมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมแสดงออกมา ก็จะก้าวข้ามความเป็นจริงไปอีกระดับหนึ่ง” โคบายาชิกล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชุดสุดท้ายในซีรีส์นี้ของเขา

ถึงนิทรรศการ EAT และ Open Studio จะจบไปแล้ว แต่นิทรรศการสุดท้ายอย่าง Balance ก็ยังแสดงอยู่ที่ 100 ต้นสน แกลลอรี่ ซอยต้นสน, ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม ตั้งแต่วัน ที่ 15 สิงหาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดี – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 11:00 – 19:00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ [email protected] หรือ โทร. 02 010 5813

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 100 ต้นสน แกลลอรี่