นักการเมือง (vs.) กับข้าราชการ (ภาค2) | มนัส สัตยารักษ์

นักการเมืองกับข้าราชการ (2)

เตรียมข้อมูลเรื่องนี้ไว้แต่สัปดาห์ที่แล้ว เพราะเป็นมวยรุ่นใหญ่ระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์

แต่บังเอิญว่ามวยรุ่นเล็กระหว่าง ส.ส.สิระ เจนจาคะ กับ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รอง ผกก.ป. สภ.กะรน จ.ภูเก็ต มีคลิปดุเดือด และมีคอมเมนต์จากโซเชียลอื้ออึงกว่า แถมยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนและลงตัวเลยหันไปว่ากันถึงเรื่องของรุ่นเล็กที่ควันและไฟยังคุกรุ่นอยู่

สัปดาห์นี้จึงขออนุญาตพูดถึงมวยรุ่นใหญ่ที่ค้างอยู่ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

“เดือด! อธิบดีคุกฉะฝ่ายการเมือง” นี่คือพาดหัวข่าวกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562

มีรายละเอียดในสารพัดสื่อ เพราะเป็นเรื่อง “ชวนช็อก” ที่ข้าราชการจะไป “ฉะ” นักการเมือง ในยุคที่นักการเมืองกำลังพองตัวสำแดงอิทธิฤทธิ์ทั้งในและนอกสภา

สื่อพาดหัวว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีคุก กร้าวที่ฝ่ายการเมือง “ล้ำเส้น” ไม่ให้เกียรติข้าราชการประจำ นักการเมืองตกเป็นเครื่องมือของผู้เสียผลประโยชน์

ต้นเหตุมาจากทีมนักการเมืองของเจ้ากระทรวงยุติธรรม ไปออกข่าวในเชิงลบ ตั้งธงว่าอาจจะมีการทุจริตในโครงการก่อสร้างเรือนจำ มีการล็อกสเป๊กอุปกรณ์เสริมความมั่นคงในเรือนจำ 4 แห่งของกรมราชทัณฑ์!

“ส่วนตัวมีความเคารพและนับถือท่านรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง…” พ.ต.อ.ณรัชต์เริ่มอย่างนอบน้อมก่อนชน
“แต่อยากเรียนเสนอให้มีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานฝ่ายการเมืองกับข้าราชประจำให้เป็นไปอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยึดผลประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก ไม่เปิดประเด็นออกสื่อรายวัน โดยไม่สอบถามข้อเท็จจริง หรือเปิดโอกาสให้ทางส่วนราชการได้ชี้แจงอย่างเป็นกิจจะลักษณะเสียก่อน”

ข้อความข้างต้นผมสำเนามาจากส่วนหนึ่งของบทความชื่อ “เมื่ออธิบดีคุกสวนกลับเจ้ากระทรวง” โดยชนาธิป กฤษณสุวรรณ แห่งนิตยสาร Cop’s

ในยุคสมัย fake news generation ซึ่งข่าวลวง ข่าวปลอมกำลังระบาดจนรัฐต้องตั้งศูนย์เพื่อขจัดปัญหาเป็นการเฉพาะ โดยหลักการแล้ว การจะเขียนถึงเรื่องทำนอง (ที่จะทำให้แตกแยก) อย่างนี้ ผู้เขียนควรจะต้องตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อนเพื่อความเป็นธรรม

แต่เฉพาะในเคสนี้ สื่อหลักต่างเผยแพร่ข่าวตรงกันจึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ

อีกประการหนึ่ง ทั้งฝ่ายนักการเมืองและฝ่ายข้าราชการ ต่างมีประวัติเป็นที่คุ้นเคยของสังคม เป็นรุ่นใหญ่ที่ทั้งคนเขียนข่าวและคนอ่านก็พอจะเดาออกว่าเรื่องมีที่มาอย่างไร

หัวหน้าฝ่ายนักการเมืองคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม “เก๋าเกม” มาตั้งแต่ยุคทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแบ๊กกราวด์ ปกติเป็นคนอยู่ในฟอร์มที่นิ่มนวล มีที่ผิดฟอร์มไปบ้างก็ในช่วงระหว่างจัดโผเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2 นี่แหละที่นายสมศักดิ์ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 3 ส. ออกอาการฟาดงวงฟาดงาอยู่พักหนึ่ง

สื่อไม่ได้เอ่ยชื่อลูกทีมที่ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จังหวัดระยอง แต่คงหมายถึงเลขานุการรัฐนตรี หรือกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษา

รัฐมนตรีสมศักดิ์นิ่มนวลพอเมื่อวิจารณ์ลูกทีม… “ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษา ล้วนแต่อยากได้ อยากทำ อยากสร้างผลงาน แต่ว่าวิธีการบางครั้งก็ไม่เหมาะสม ดูเหมือนเกินเลยไป พอลงไปดูก็ให้ข่าวกับสื่อมวลชนเอง…”

ฝ่ายข้าราชการผู้ชนรัฐมนตรีมีคนเดียว พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

พ.ต.อ.ณรัชต์เป็น หน.นักเรียนเตรียมทหาร (ตท.20) ที่ได้รับการจารึกชื่อในแผ่นป้ายทอง “ความประพฤติและลักษณะทหารดีเยี่ยม” เป็น หน.นักเรียนนายตำรวจ (นรต.36) รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าทีมรักบี้ นรต. และจบมาโดยเป็นที่ 1 ของรุ่น

ต่อปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ ที่เคนทักกี และปริญญาเอกอาชญาวิทยา จากฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
ถ้าฝ่ายนักการเมืองได้รับรู้ถึงความประพฤติ การวางตัวและประวัติความเป็นมาตั้งแต่รับราชการตำรวจ จนโอนมาเป็นข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทั่งเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่าท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้อย่างไรบ้าง บางทีทีมนักการเมืองอาจจะไม่อยากล้ำเส้นหรือล้วงลูกอย่างที่เป็นข่าวก็ได้

ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรี เชื่อว่าทีมนักการเมืองของกระทรวงยุติธรรมคงไม่มีรีแมตช์กับข้าราชการกรมราชทัณฑ์อีก แต่ก็ไม่กล้ารับรองว่าจะไม่มีกับกรมกองอื่น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าข้าราชการมักจะมีจุดอ่อนที่ชวนให้นักการเมืองอยากสร้างผลงาน อยากตรวจสอบและให้ข่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทีมนักการเมืองกระทรวงยุติธรรมได้รับคำปรามและคำตักเตือนจากหัวหน้าทีมผู้เป็นเจ้ากระทรวงแล้ว ซ้ำยังมีบทเรียนอันทรงคุณค่าจากอธิบดีกรมคุกอีกด้วย ถ้าได้สู้กับคู่ชกที่น่าชกก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง

ตรงกันข้ามกับรุ่นเล็ก… ส.ส.สิระ เจนจาคะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหัวหน้าใหญ่ได้แต่ปรามเบาๆ เพราะเกรงใจในฐานะของตัวเองที่เสียงปริ่มน้ำ แล้วโยนไปให้หัวหน้าพรรค พปชร.จัดการ ซึ่งเท่าที่ติดตามข่าวก็ไม่ได้จัดการอะไร ส.ส.จิระยังคงให้สัมภาษณ์ (ด้วยเสียงไม่ดัง) ขอความเห็นใจว่า

“เห็นตำรวจนั่งกินกาแฟกับเจ้าของโครงการคอนโดฯ เลยของขึ้น”

นอกจากนั้น ยังทึกทักตีขลุมว่า ได้ปรับความเข้าใจกับ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รอง ผกก.ป. สภ.กะรน จ.ภูเก็ต เรียบร้อยแล้ว เข้าใจกันดี พ.ต.ท.ประเทืองเหมือนน้องคนหนึ่ง

นายสิระคงลืมความจริงที่ว่า นับจากนาทีที่ “กร่าง” ใส่ข้าราชการแล้ว ส.ส.จะไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากข้าราชการอีกเลย-ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการกรมกองใด กระทรวงไหนก็ตาม

และไม่ว่าจะเป็นราชการสำคัญเพื่อบ้านเมืองที่นายสิระชอบอ้าง-ก็ตาม

หลังเลือกตั้ง ส.ส.และเปิดสภาเพียงวันแรก เราก็ได้เห็นบทบาทและพฤติกรรม “คนป่วย” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยแต่ก็เป็นข่าวมาก ประชาชนเริ่มหงุดหงิดและผิดหวัง ส่วนหนึ่งโทษรัฐบาลที่ทำให้บ้านเมืองเหินห่างการเลือกตั้ง โทษคนออก “กฎ” สุดเพี้ยนของการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนไม่รู้จักนักเลือกตั้งและไม่แคร์นโยบายพรรค

วิธีแก้ปัญหาข้างต้นง่ายนิดเดียว…แค่ก้าวข้าม “ความอยากอยู่ยาว” ของใครบางคน แก้กฎเลือกตั้งเสียใหม่ไม่ให้เพี้ยนมากเกินไป แล้วก็จัดเลือกตั้งบ่อยๆ ค่อยๆ คัดกรองหรือ “สกรีน” นักเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จน “คนป่วย” ไม่มีที่ยืนในสภา

มันยากตรงที่จะ “ก้าวข้าม” นี่แหละครับ (ฮา-ฮา)