วิจัยชี้ว่า บ้านที่มีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกัน ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น กว่าแยกกันอยู่ สูงถึง 50%

“ปู่ย่า ตายาย”

วันก่อนได้มีโอกาสนัดคุยกับกลุ่มเพื่อนเก่า

สนิทกันมาเป็นสิบปีครับ

ตอนนี้ก็มีลูก มีภรรยา กันไปหมดแล้ว

เราคุยถามสารทุกข์ สุกดิบ กัน

แล้วก็เลยไปถึงที่อยู่ ที่อาศัย

อยู่กับแฟน อยู่กับลูก

พ่อแม่ เป็นยังไงบ้าง

จนมาเข้าเรื่องว่า แยกออกมาอยู่

หรือว่า ยังอยู่กับพ่อแม่อยู่

เพื่อนหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน

ตอนแรกก็แยกออกมาอยู่แหละ

พอมีลูกปั๊บ ก็ต้องกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่

ทำงานตลอด ไม่รู้จะดูแลลูกยังไง

งานบ้าน งานอื่นๆ อีก ทำไม่ไหว

ให้ที่บ้านช่วยจัดการ

ยิ่งลูกเข้าโรงเรียน ก็สามารถมีคนไปช่วยรับส่ง

ไม่งั้น ภรรยา หรือ ตัวเอง สักคนก็ต้องออกจากงาน

รายได้หดหาย ก็จะต้องเครียดกับ ค่าเทอมที่แสนแพง ของลูกน้อยอีก

……………………..

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเขียนเอาไว้ครับ

คนที่อยู่บ้านที่มีหลายๆรุ่นร่วมกัน

ปู่ย่า ตายาย พ่อ แม่ ลูก หลาน

จะช่วยให้สุขภาพจิตคนในบ้านดีขึ้น

สูงกว่า ที่แยกกันอยู่โดยรวมถึง 50%

พอมานั่งคิดดูแล้วก็จริงนะครับ

อย่างกรณีของตัวผมเอง

เราอยู่คอนโด ตึกเดียวกันทั้งครอบครัว

อยู่แยกห้องกัน แต่ก็เจอกันได้ทุกวัน

ช่วยเหลือกันได้ตลอด

คุณพ่อ คุณแม่ของผม มีความสุขมากสุดๆ ที่ได้เลี้ยงหลาน

แถมตัวผมเอง กับแฟน ก็มีเวลาออกไปเที่ยวบ้าง

ได้ทำงานหาเงิน มาเป็นค่าเทอมให้ลูกได้อย่างเต็มที่

ในช่วงวัยนี้ เราทั้งคู่ก็ยังไม่อยากจะลาออกจากงาน

ส่วนลูกผม ก็มีความสุขกับ อากง อาม่า

จนหลายครั้งลืม พ่อ แม่ ไปเลยบางที

แม้ว่า จะมีพี่เลี้ยงอีกคน เอาไว้ช่วยไม่ให้ พ่อแม่ผม เหนื่อยจนเกินไป

แต่ ลูกของผม ก็รัก อากง อาม่า มาก

และ สร้างความสุขให้ทุกคนได้อย่างเห็นได้ชัด

อีกเรื่องคือ พี่สาว พี่ชาย ก็ได้เห็นหน้ากันบ่อยขึ้น

ชอบลงมาเล่นกับ หลาน

ก็เป็น ผลพลอยได้

ที่สุดท้าย ทำให้บ้านเรา มีความสุข มากขึ้นครับ

งานวิจัยบอกอีกว่า ที่ประเทศญี่ปุ่น

เขาพยายามจะไปปรับปรุงให้ สภาพบ้านพักคนชรา นั้นอยู่สบาย

เพื่อให้ผู้สูงอายุ ดูแลตัวเองได้ ไม่เครียด ที่ไม่ต้องอยู่กับที่บ้าน

แต่ เรื่องสุขภาพจิตของชาวญี่ปุ่น ทั้งผู้สูงอายุ คนทำงาน

ก็ยังถือว่าเป็นประเทศ ที่มีความเครียดสะสมสูงมาก

ผมเองมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง

เรียนหนังสือมาด้วยกันที่อเมริกา

ชื่อว่า “อัตสุชิ”

อัตสุชิ เป็นทนายความมือดีครับ

เก่งมากถึงขึ้น เคยขึ้นหน้าปกนิตยสารดังของที่ญี่ปุ่นมาแล้ว

วันก่อนได้มีโอกาสนัดเจอกัน ตอนไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น

ตอนนี้เขามีลูกแล้ว อายุ 4 ขวบ ใกล้ๆกับลูกผมเลย

พอถามว่า ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

สีหน้าดูอิดโรยชัดเจน บอกว่าเหนื่อยสุดๆ

งานก็หนัก แฟนก็ยังทำงานไม่ยอมออกจากงานมาดูลูก

ซึ่งสิ่งนี้ ผู้ชายในประเทศญี่ปุ่น เขาก็คาดหวังให้แฟนออกมาดูแลบ้าน

กลายเป็นต้องไปฝากลูกตอนกลางวันไว้ที่ “เนอร์สเซอรี่” ตลอด

ตอนเย็นๆก็มารับกลับ กล่อมนอน ดูแลกันไป

จะจ้างแม่บ้านสักคนมาช่วยดู ก็ราคาแพงแสนแพง

ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ทำงานไป

ส่วนคุณพ่อ คุณแม่ของเพื่อนนั้น ก็อยู่นอกเมืองในช่วงบั้นปลายชีวิต

ประเทศของเขานั้น การแยกกันอยู่กับ พ่อแม่ ถือเป็นเรื่องที่ทำปกติ

ใครที่ไม่แยกออกไปอยู่สิแปลก

เขาจะเจอพ่อแม่จริงๆ ปีหนึ่งก็ไม่กี่ครั้ง

ทั้งๆที่ พ่อแม่ เองก็อยากจะเจอหลานใจจะขาด

แต่ก็ไม่สามารถมาเจอได้บ่อยๆ เพราะระยะทาง

หลานเองก็ต้องไปใช้เวลากับที่ เนอร์สเซอรี่ ไปค่อนวัน

กว่าจะได้เจอพ่อแม่

ผมฟังแล้วก็ไม่แปลกครับ

ที่คนญี่ปุ่นเอง อาจจะมีความเครียดสะสม โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว

วันก่อนผมได้มีโอกาสไปเข้าเวิคชอปของ “บิล เบอร์เนต”

เจ้าของวิชา “ออกแบบชีวิต” ที่โด่งดังที่สุดในมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ที่ประเทศอเมริกา

บิลบอกว่า คนเรานั้นจะต้องดูคุณภาพชีวิตออกเป็นสี่แกนด้วยกัน

หนึ่ง งาน

สอง ความสัมพันธ์

สาม ความสนุก

สี่ สุขภาพ

คนเราถ้าทำงานอย่างเดียว ได้เงินเยอะ ได้เลื่อนขั้น

ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุข

ถ้าชีวิตด้านอื่นๆ ไม่ดี

เช่น สุขภาพแย่ ต้องเข้าโรงพยาบาล เอาเงินมาจ่ายค่าพยาบาล

ทะเลาะกับที่บ้านตลอด ลูกไม่รัก

หรือ ไม่มีเวลาไปทำอะไรที่ตัวเองชอบ เช่น วาดรูป เล่นดนตรี ท่องเที่ยว บ้าง

ชีวิตที่มี่แต่งาน กับการเก็บเงินนั้น

เป็นแค่ส่วนเดียวของชีวิต

หาก ขาดอีกสามส่วนไป

ชีวิต ก็จะเป็น ชีวิตที่ไม่มีความสุข

ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า “ความสุข” คือเป้าหมายของใครหลายคน

บ้านที่มี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน อยู่ร่วมกัน

อาจจะเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างสังคมที่สุข บนโลกที่วุ่นวาย

คุณคิดว่างั้นมั้ย