เกษียร เตชะพีระ | ทางเลือกนอกเหนือเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำในไทย

เกษียร เตชะพีระ

ทางเลือกนอกเหนือเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำในไทย

สิ่งที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เป็นเพียงช่วงชั้นหนึ่งที่ถูกเลือกหยิบมาเน้นย้ำของธรรมเนียมประเพณีการคิดแบบลัทธิเสรีนิยม (liberalism) ทั้งหมด 5 ช่วงชั้นในประวัติความคิดการเมืองตะวันตก โดยหยิบเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขึ้นมาแล้วขยายมัน จะเข้าใจความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของมันในช่วงปี ค.ศ.1970-2008 ได้ (จังหวะที่ 3 ในทั้งหมด 4 จังหวะ) ก็ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน

ทว่า ความเสื่อมถอยของเสรีนิยมใหม่จะนำไปสู่การพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจทางเลือกที่ชัดเจนเป็นระบบแล้วหรือไม่? ผมคิดว่ายัง ทั้งนี้ ที่สำคัญเพราะแต่ก่อนยังมีวิธีคิดว่าทุนนิยมชั่วร้ายล้มเหลว สังคมนิยมดีมีพลังขับเคลื่อนสูงและเป็นธรรมกว่า ทว่า ตอนนี้ไม่มีสังคมนิยมแล้ว

ดังนั้น ทางเลือกเชิงเปลี่ยนระบบทั้งหมดจึงยังค่อนข้างคลุมเครือรางเลือน

ทางเลือกใหม่?

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ที่หัวไวตอบสนองเร็วกว่าเพื่อนต่อวิกฤตเสรีนิยมใหม่ในโลกตะวันตกก็เริ่มเสนอทางเลือกด้านแนวนโยบายในกรอบของระบบทุนนิยม เช่น แดนี รอดริก (Dani Rodrik) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เสนอว่าต้องหันไปดำเนินนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ (economic populism) แทน

กล่าวคือ คืนอำนาจอิสระในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปลดเปลื้องมาตรการอันเป็นพันธะจำกัดเหนี่ยวรั้งทางนโยบายที่ระบอบเทคโนแครตเสรีนิยม ตุลาการหัวอนุรักษนิยมและกลุ่มทุนการเงินได้เคยผูกรัดมัดตรึงรัฐบาลไว้ในช่วงเสรีนิยมใหม่เรืองอำนาจ กล้าทดลองทางนโยบายเหมือนที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลอเมริกันกล้าดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ “นิวดีล” (New Deal) ในสมัย

ระธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 หลังวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ จึงจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันประชานิยมทางการเมือง (political populism) ได้ (https://www.socialeurope.eu/defense-economic-populism)

อีกทางเลือกหนึ่งคือทุนนิยมก้าวหน้า (progressive capitalism) ที่เสนอโดยโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (ค.ศ.2001) เขาเริ่มจากการตั้งคำถามที่นิยามยุคสมัยปัจจุบันว่า ระบบเศรษฐกิจอะไรที่เกื้อกูลสวัสดิภาพของมนุษย์ที่สุด? (https://www.project-syndicate.org/commentary/after-neoliberalism-progressive-capitalism-by-joseph-e-stiglitz-2019-05)

ทั้งนี้เพราะเสรีนิยมใหม่ถูกดำเนินมา 40 ปีในสหรัฐ และประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ เมนูนโยบายหลักๆ ของมันประกอบด้วยการเก็บภาษีคนรวยต่ำลง ละเลิกกฎเกณฑ์กำกับตลาดแรงงานและผลผลิต และแปรเศรษฐกิจให้อยู่ใต้ทุนการเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่กลับทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลงกว่าสมัยช่วง 25 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

คนรวยได้ดอกผลส่วนใหญ่ของการเติบโตที่ว่า

รายได้คนชั้นล่างที่ต่ำลงมากลับชะงักงันหรือไม่ก็ลดต่ำลง สรุปได้ว่าเสรีนิยมใหม่ใช้การไม่ได้ ล้มเหลวไม่เป็นท่า ถึงแก่ความตายและถูกกลบฝังไปแล้ว

แล้วมีทางเลือกอะไรหลังจากนั้น?

สติกลิตซ์ชี้ว่าได้แก่

1) ชาตินิยมขวาจัด

2) ปฏิรูปนิยมกลางซ้าย

3) ซ้ายหัวก้าวหน้า

– ชาตินิยมขวาจัด คือยึดติดอุดมการณ์ตกยุค ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ โทษผู้อพยพและคนต่างชาติว่าเป็นตัวปัญหา แต่กระนั้นก็ยังยึดมั่นกับการลดภาษีให้คนรวย ละเลิกกฎเกณฑ์กำกับตลาด และตัดทอนหรือขจัดโครงการสวัสดิการสังคมทิ้ง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังทำอยู่ในสหรัฐอเมริกา

– ปฏิรูปนิยมกลางซ้าย เป็นเสรีนิยมใหม่ที่หน้าตาเป็นมนุษย์มนายิ่งขึ้น เป้าคืออัพเดตนโยบายของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐ กับนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ของสหราชอาณาจักร แล้วปรับแก้การแปรเศรษฐกิจให้อยู่ใต้ทุนการเงินและโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

– สติกลิตซ์ไม่เอา 2 ข้อนี้ เขาเสนอว่าต้องเอา ทุนนิยมก้าวหน้า และเชื่อว่าพวกซ้ายหัวก้าวหน้าจะเห็นด้วยกับแก ซึ่งมี 4 วาระเร่งด่วนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไปจากเสรีนิยมใหม่แบบถึงรากถึงโคนคือ

1) การฟื้นฟูความสมดุลระหว่าง [ตลาด-รัฐ-ประชาสังคม]

2) ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และองค์การจัดตั้งทางสังคมที่เปิดช่องให้คนกลุ่มใหญ่ได้ทำงานด้วยกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการสร้างสรรค์โภคทรัพย์ของนานาชาติ แปลว่าอย่าให้เอกชนผูกขาดการวิจัย

3) แก้ไขปัญหาอำนาจรวมศูนย์ในตลาดที่หนักหนาเข้มข้นขึ้นทุกที และ

4) ตัดห่วงเชื่อมระหว่างอำนาจเศรษฐกิจกับอิทธิพลทางการเมือง

จะเห็นได้ว่าแต่ละข้อทำไม่ง่ายเลยไม่ว่าในประเทศใดๆ

ไทยและทุนนิยมเหลื่อมล้ำ

ส่วนรูปแบบเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบลูกผสม มีทั้งเสรีนิยมใหม่ในแง่นโยบายบางส่วน เพราะคนที่รับผิดชอบคิดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของเราก็อยู่ในกรอบวิธีคิดของเสรีนิยมใหม่ จึงเน้นไปเรื่องการเปิดตลาด เน้นดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา เอื้ออำนวยให้พวกเขาสะดวกในการลงทุนและเอากำไรกลับประเทศ โดยการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ กฎหมายอะไรที่ทำให้เขาลำบาก เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็ระงับการใช้ไปในพื้นที่เหล่านั้น นี่คือแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

อีกส่วนหนึ่ง จากข้อค้นพบของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร แห่ง National Graduate Institute of Policy Studies – GRIPs ประเทศญี่ปุ่น ในงานวิจัยชิ้นล่าสุด (https://www.cambridge.org/core/journals/trans-trans-regional-and-national-studies-of-southeast-asia/article/prayuth-regime-embedded-military-and-hierarchical-capitalism-in-thailand/E94563EBE18DD73C5ED62F0FE5F9035E)

ทั้งสองเรียกสิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาว่าทุนนิยมแบบเหลื่อมล้ำ (hierarchical capitalism) คือสร้างระบบทุนนิยมที่ทุนใหญ่เข้าเทกโอเวอร์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น แล้วกลไกที่สนองตอบตอนนี้คือประชารัฐ ให้ทุนใหญ่เป็นพี่เลี้ยงดูแลทุนขนาดกลางและย่อมในระดับท้องถิ่น ถ้าทุนท้องถิ่นอยากอยู่รอดต้องขึ้นกับทุนใหญ่ ทุนใหญ่ดูแลเรื่องวัตถุดิบ การตลาด เป็นต้น
ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าแนวนโยบายทุนนิยมเหลื่อมล้ำนี้ลอกจีนมา

จีนส่งเสริมทุนท้องถิ่นโดยให้บริษัทใหญ่เข้าไปดูแล แต่อย่าลืมว่าทุนใหญ่ของจีนคนบริหารคือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ดังนั้น ทางพรรคสั่งพวกเขาได้ ไม่ใช่ทุนเอกชนล้วนๆ

แจ๊ก หม่า อดีตผู้บริหารอาลีบาบาก็เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนแบบปิดลับอยู่นานปีจนเพิ่งมาเปิดเผยตัวเร็วๆ นี้

ดังนั้น พรรคสั่งแจ๊ก หม่า ได้ แต่นายกฯ ประยุทธ์สั่งคุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ไม่ได้

คุณธนินทร์สร้างเครือบริษัท CP ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อรับใช้นโยบายของประยุทธ์เป็นหลัก ถ้าคุณลอกระเบียบอำนาจแบบทุนใหญ่ดูแลทุนเล็กเข้ามาจากจีน แล้วทุนเล็กจะอยู่รอดได้ต้องอยู่ในกรอบของทุนใหญ่แล้ว คุณคิดว่าทุนใหญ่ของไทยจะทำเพื่อใคร? เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมตามนโยบายรัฐบาล หรือเพื่อดอกผลกำไรและอำนาจทางเศรษฐกิจของบริษัทตนเอง?

เศรษฐกิจไทยจึงเป็นลูกผสมระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำ กล่าวคือ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะกีดกันกลุ่มทุนเล็กและทุนหน้าใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาดผูกขาดนี้

งานวิจัยตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่ากรรมการประชารัฐเป็นกลุ่มทุนเดียวกันกับที่ให้เงินอุดหนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส. ก่อนรัฐประหาร คสช.ในปี พ.ศ.2557

โดยเหลื่อมซ้อนกันอย่างมีนัยสำคัญด้วย