ประชาชนส่วนใหญ่แยกแยะได้ ว่าควรเคารพและรักษากติกาในการอยู่ร่วมกัน

เว้นเสียแต่คิดฟังประชาชน

หลังจากเรื่องการถวายสัตย์เข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีถูกท้วงติงว่าทำไม่ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กล่าวนำ กล่าวไม่ครบตามถ้อยคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรัฐบาล ได้พยายามที่จะเคลียร์เรื่องนี้ ด้วยนายชวน หลีกภัย ยังกล่าวบนบัลลังก์ในฐานะประธานที่ประชุมว่า “เป็นเรื่องร้ายแรง”

หลายคนพยายามเตือนว่า คณะรัฐมนตรีที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มีความเสี่ยงที่จะก่อความยุ่งยากในอนาคต เพราะยังไม่เป็นคณะรัฐมนตรีสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ทว่า ความเป็นห่วงทั้งหลายเหล่านี้กลับถูกมองข้ามโดยคนกลุ่มหนึ่ง

กระทั่งมีความพยายามชี้นำให้ประชาชนเห็นว่า เป็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านที่คิดแต่จะเอาชนะคะคานทางการเมือง

มีความพยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นแค่การหาเรื่อง โดยเรียกร้องว่าควรจะไปช่วยนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ หรือวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่า

การดันทุรังที่จะนำพาประเทศชาติไปทั้งที่ชัดเจนว่าการปฏิบัติยังไม่สมบูรณ์เช่นนี้ ทั้งที่ไม่ควรบังเกิดขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายที่ห่วงใยต้องกลายเป็นผู้ต้องหาฐานไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่คิดถึงความเดือดร้อนของประชาชนไป โดยประเทศนี้ไม่มีใครทำอะไรให้กลับมาอยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามกฎหมายได้
ทั้งที่เป็น “เรื่องร้ายแรง” แต่ไม่มีใครใส่ใจอะไร ต่างคนต่างเลือกฟังในมุมมองที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง
ไม่กี่วันที่ผ่านมา “สวนดุสิตโพล” ทำสำรวจเรื่องนี้

ในคำถามที่ว่า “ฝ่ายค้านมีเหตุผลเพียงพอต่อการยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์กรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนหรือไม่” ประชาชนร้อยละ 77.20 ตอบว่า มีเหตุผลเพียงพอ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนจริง ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่เหมาะสม ควรแก้ไขให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มีแค่ร้อยละ 22.80 เท่านั้นที่เห็นว่ามีเหตุผลไม่เพียงพอ เพราะอยากให้สนใจเรื่องการบริหารบ้านเมือง การแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนมากกว่า เป็นการจับผิด หาเรื่องรัฐบาล

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่ฝ่ายค้านยืนซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 66.72 เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ นายกฯ ควรชี้แจงอย่างเป็นทางการ อยากรู้ข้อเท็จจริง เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่ทำได้
มีแค่ร้อยละ 18.67 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าจะกลายเป็นประเด็นการสร้างความขัดแย้ง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองแย่ลง

ผลสำรวจนี้สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่สามารถแยกแยะในบทบาทหน้าที่ในการทำงานการเมืองได้
เพราะมีวุฒิภาวะพอที่จะเห็นว่า การเคารพและรักษากติกาการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความเคารพ

ไม่ใช่แค่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จนละเลยเรื่องของหลักการอยู่ร่วมกันของส่วนรวม

ในฐานะผู้นำ ย่อมควรจะเป็นตัวอย่างของผู้มีวุฒิภาวะในการแยกแยะ

ปัญหาปากท้องของประชาชนก็เรื่องหนึ่ง ไม่มีใครเรียกร้องให้ละเลยในการแก้ไขอยู่แล้ว มีแต่ทุกคนทุกฝ่ายต่างหาทางเข้าไปมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งเพื่อแก้ไข

แต่ปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมาย อย่าว่าแต่ผู้นำประเทศที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนเลย ไม่ว่าใครทั้งสิ้นที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร

การดันทุรังที่จะเชื่อแต่ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ย่อมเสี่ยงต่อการทำลายหลักการอยู่ร่วมกัน อันเป็นแก่นของความเป็นชาติ