ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : แขกโล้ชิงช้าจากอินเดีย สู่อุษาคเนย์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อย่างที่เล่าไว้ในตอนที่แล้ว (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 30 ส.ค.-5 ก.ย. 2562) ว่า ถึงแม้พวกพราหมณ์ในอินเดียจะมีการใช้ชิงช้าในพิธีกรรม แต่ก็น่าจะเป็นการ “ไกวชิงช้า” กันแบบชิลๆ มากกว่าที่จะ “โล้ชิงช้า” กันแบบที่รัชกาลที่ 5 ทรงเคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า เป็นการ “เล่นเซอคัส” คือกายกรรมในคณะละครสัตว์

พิธี “โล้ชิงช้า” ที่เห็นอยู่ในพระราชพิธีตรียัมปวายจึงน่าจะเป็นพิธีพื้นเมืองของอุษาคเนย์ ที่ถูกพ่อพราหมณ์จับบวช ด้วยการเอามนต์พิธีและสร้างปกรณัมให้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของฮินดูอย่างพระอิศวร (องค์เดียวกับพระศิวะ) ในพิธีตรียัมปวาย และพระนารายณ์ (องค์เดียวกับพระวิษณุ) ในพิธีตรีปวาย ที่จัดต่อเนื่องคู่กันกับพิธีตรียัมปวาย

ดังนั้น ถึงแม้พ่อพราหมณ์ท่านจะประดิษฐ์ปกรณัม และมีเล่าเอาไว้ในเอกสารของเทวสถาน-โบสถ์พราหมณ์ว่า การโล้ชิงช้าเป็นการแสดงตำนานของพระอิศวรตอนหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่า

เมื่อพระพรหมได้สร้างโลกแล้ว ก็ให้พระอิศวรไปดูแลรักษา แต่พระอิศวรทรงห่วงว่า โลกที่พระพรหมสร้างขึ้นนั้นดูไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก จึงเสด็จลงมายังโลก โดยหย่อนพระบาทลงเหยียบโลกเพียงข้างเดียว ด้วยเกรงว่าถ้าหย่อนพระบาทลงทั้งสองข้างแล้วโลกจะแตก จากนั้นจึงให้พญานาคมาโล้ยื้อยุดระหว่างขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทร ปรากฏว่าแผ่นดินยังแข็งแรงดีอยู่ พญานาคทั้งหลายจึงโสมนัสยินดี ลงเล่นน้ำกันเป็นการใหญ่

ตำนานเรื่องนี้พยายามจะอธิบายว่า “เสาชิงช้า” ที่มีขาอยู่ 2 ข้างนั้นคือ ขุนเขาทั้งสองข้างที่อยู่ระหว่างมหาสมุทร, ข้าพราหมณ์ ที่เรียกว่านาลิวัน ซึ่งเป็นผู้ทำพิธีรำเสนง (เขาควาย) ถือขันสาคร และโล้ชิงช้า ก็คือพญานาค, แน่นอนว่า ขันสาครหมายถึง มหาสมุทร

ส่วนพระยายืนชิงช้า ผู้เป็นประธานในพิธี ผู้ต้องมายืนดูพิธีโล้ชิงช้าด้วยการยืนขาเดียว (ที่จริงคือกึ่งยืนกึ่งนั่ง และมีพนักพิงหลังคล้ายการนั่งไขว่ห้าง) นั้นก็คือ พระอิศวร

อย่างไรก็ตาม ตำนานข้างต้นนี้ก็ดูจะเป็นการแต่งขึ้นในชั้นหลังเพื่ออธิบายเหตุที่ตนเองไม่เข้าใจในพิธีกรรมเสียมากกว่า ร่องรอยสำคัญก็คือ ตำนานเรื่องนี้ไม่มีในอินเดีย และยิ่งไม่เกี่ยวกับการไกวชิงช้าของพราหมณ์ในอินเดีย เพราะถ้าพิธีโล้ชิงช้านำเข้ามาจากอินเดียจริง ก็ควรจะนำตำนานหรือปกรณัมอธิบายเหตุมาด้วยพร้อมๆ กัน

 

แต่ตำนานข้างต้นนั้น ก็ไม่ใช่ตำนานอธิบายเหตุเรื่องเดียวที่มีใครพยายามแต่งขึ้นเพื่ออธิบายถึงพิธีโล้ชิงช้านะครับ

ตำนานที่น่าจะเก่าแก่กว่า (อย่างน้อยก็อ้างกันว่า พบอยู่ในเอกสารที่เก่ากว่า) คือเรื่องที่เอกสารเรื่อง “ประเพณีไทยฉบับมหาราชครู” รวบรวมโดย อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ ได้อ้างถึงตำนานการโล้ชิงช้า จากตำราที่ชื่อว่า “เฉลิมไตรภพ” เอาไว้ว่า

เมื่อพระอิศวรได้ร่วมสร้างโลกกับพระนารายณ์และพระพรหม จนเสร็จสิ้นลงแล้ว พระอุมาเทวี ผู้เป็นชายาของพระอิศวร ได้จินตนาการไปว่า โลกที่พระอิศวรสร้างขึ้นนี้จะมีแผ่นดินน้อยกว่ามหาสมุทรเป็นแน่
อุปมาดังจอกน้อยล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร

เมื่อปริวิตกดังนี้จึงสลดพระทัยว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจะถึงกาลวิบัติ ถึงกับไม่บรรทม ไม่เสวย จนพระวรกายซูบผอม

พระอิศวรทอดพระเนตรเห็นผิดสังเกตเข้าก็ตรัสถามว่า “โลกทั้งสามเป็นประการใด?”

พระอุมาจึงตอบไปตามที่วิตก พระอิศวรพยายามตรัสปลอบพระอุมาแต่ไม่เป็นผล จึงท้าพนันกับพระนางว่า จะให้พญานาคเกี่ยวส่วนเศียรกับส่วนหางเข้าไว้กับต้นพุทราที่สองฟากของแม่น้ำแล้วไกวตัว

ส่วนพระอิศวรจะยืนพระบาทเดียวไขว่ห้างอยู่เฉยๆ หากโลกที่พระองค์สร้างขึ้นไม่แข็งแรงมั่นคง แรงไกวตัวของพญานาคก็จะทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือน จนทำให้พระบาทของพระอิศวรตกลง ก็ถือว่าแพ้พนัน

แน่นอนว่า พระอิศวรชนะพนัน เพราะพระบาทของพระองค์ไม่ได้ตกลงต้องพื้น และพญานาคก็ดีใจจนดำผุดดำว่ายในน้ำเป็นการใหญ่ ไม่ต่างอะไรกับตำนานเรื่องก่อนหน้านี้ เพียงแค่ว่า เสาชิงช้าในตำนานเรื่องนี้ถูกอุปมาเป็นต้นพุทราที่สองฟากของแม่น้ำแทน

ดังนั้น ตำนานเรื่องนี้ก็ควรจะเป็นตำนานอธิบายเหตุ ที่ไม่มีในอินเดียอีกเช่นกัน

ถึงแม้จะมีผู้เสนอว่าบางส่วนและบางสำนวนของตำราที่ว่าด้วยการกำเนิด และอธิบายโลกในเชิงปรัมปราคติ พ่วงด้วยวิชาโหราศาสตร์ที่ชื่อว่า เฉลิมไตรภพ นี้เก่าแก่ไปถึงอยุธยา

แต่บางส่วนที่ว่า ก็ไม่ได้รวมไปถึงตำนานการโล้ชิงช้าที่ผมเล่ามาข้างต้นนะครับ สำนวนใหม่สุดที่มีอยู่ในตำราเรื่องนี้เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง ตำนานอธิบายเหตุเรื่องนี้จึงไม่เก่าไปจนถึงสมัยอยุธยาแน่

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตำนานเรื่องการโล้ชิงช้า ที่อ้างว่าคัดมาจากตำราเฉลิมไตรภพ ในหนังสือประเพณีไทยฉบับมหาราชครูนี้ ไม่ปรากฏอยู่ในตำราเรื่องดังกล่าวที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ และที่เคยมีผู้ศึกษาไว้เลยสักสำนวน จนน่าสงสัยว่า ผู้รวบรวมข้อมูลมาเขียนหนังสือฉบับนี้ ไปหาเฉลิมไตรภพสำนวนที่มีตำนานการโล้ชิงช้าที่ว่านี้มาจากที่ไหน?

 

ความพยายามในการอธิบายพิธีโล้ชิงช้าด้วยปรัมปราคติทำนองนี้ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่ไม่มีเรื่องเล่าในอินเดีย หรือบางเรื่องก็ยกมาจากปกรณัมในคัมภีร์ปุราณะบางฉบับ แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการไกวชิงช้าของพ่อพราหมณ์ในอินเดียเลยสักนิด

ร่องรอยที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ การที่พวกพราหมณ์นำเอาพิธีโล้ชิงช้าเข้าไปผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย ซึ่งก็คือการขับกล่อมบูชาพระอิศวรอยู่ภายในโบสถ์ พร้อมๆ กับที่มีการ “ช้าเจ้าหงส์” คือไกวเปล หรือชิงช้า ในรูปของบุษบกรูปหงส์

และก็เป็น “ช้าเจ้าหงส์” นี่แหละครับ ที่พวกพราหมณ์เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะก่อนหน้านั้น ใช้ขมวด “การโล้ชิงช้า” กับ “ตรียัมปวาย” เข้าด้วยกัน เหมือนอย่างที่ อ.เชฟหมี คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เคยท้วงติงผมมาว่า การโล้ชิงช้าของพราหมณ์สยามจึงอาจจะไม่ถึงกับไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับอินเดียเลย แต่น่าจะเป็นไปในลักษณะนำของพื้นเมืองมาเชื่อมกับของที่มีอยู่เดิม

ผมสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมพวกพราหมณ์จึงนำเอาคำว่า “ตรียัมปวาย” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ติรุเว็มปาไว” และ “ตรีปวาย” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ติรุปาไว” ในภาษาทมิฬทั้งคู่ มาเป็นชื่อพิธี?

ก็ในเมื่อบทขับ (ไม่ใช่สวด) ติรุเว็มปาไวนั้น ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงที่ตื่นแต่เช้าไปลงสรงสนานในแม่น้ำ แล้วทำพิธีปั้นตุ๊กตาดินที่เรียกว่า “ปาไว” เป็นรูปเจ้าแม่กาตยายนี (ปางหนึ่งของพระแม่อุมา) พร้อมกับสรรเสริญเทพเจ้าคือพระอิศวร

ส่วนติรุปาไวนั้นก็ว่าด้วยความชื่นชม และซาบซึ้งในลีลารักของพระกฤษณะ (ปางหนึ่งของพระนารายณ์) นี่ครับ

ผมมาถึงบางอ้อก็เมื่อได้อ่านข้อเขียนของ อ.คมกฤช ที่ชื่อ “ตรียัมปวาย-ตรีปวาย คืออะไร ของสยามและอินเดีย เป็นไฉน” ที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 20-26 มกราคม 2560 (มีรวมเล่มในภารตะสยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ? ตีพิมพ์โดยศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ) ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายว่า บทลำนำทั้ง 2 บทนี้ เป็นบทที่มีไว้ให้ “ผู้หญิง” เป็นผู้ขับ เพื่ออ้อนวอนต่อเทพเจ้าให้ประทาน “สามี” ที่ดีมาให้แก่ตนเอง
อ.คมกฤชยังได้อ้างถึงคุณไมเคิล ไรท์ ฝรั่งคลั่งสยามผู้ล่วงลับด้วยว่า คุณไมค์เคยหล่นความคิดเห็นเอาไว้ว่า ที่จริงพรตนี้เป็นพิธีขอฝนด้วย เพราะเนื้อหาในเชิง “ร่วมรัก” ของบทกวีนั้น เป็นสัญญะในการขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์

“พิธีโล้ชิงช้า” ของพื้นเมืองอุษาคเนย์ก็เป็นพิธีที่เกี่ยวกับ “ผู้หญิง” เช่นกัน ร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ในพวกอาข่า (หรือที่คนนอกเรียกว่า อีก้อ) นั้น พิธีโล้ชิงช้าจัดขึ้นเพื่อบูชา “เทพีอึ่มซาแยะ” ที่ประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้ และถึงแม้ว่าการโล้ชิงช้าจะทำได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ภายในพิธีจะโล้กันใน “ลานสาวกอด” โดยฝ่ายชายจะพยายามโล้ชิงช้าให้โลดโผนเพื่อดึงความสนใจจากสาวเจ้าอีกด้วย

ต้องขอบคุณ อ.คมกฤชที่ท้วงติงและชวนให้ผมต้องมาทบทวน และคิดต่อยอดจากงานวิจัยชิ้นเดิม จากใจจริงเลยครับ