คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : Re-Thinking ภควัทคีตา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มีคำกล่าวว่า ดาบแห่งปัญญา (เหมือนที่พระโพธิสัตว์มัญชุศรีถืออยู่) มีคมสองด้าน ด้านหนึ่งย่อมเฉือนอวิชชาของศิษย์ แต่อีกด้านก็ตัดเฉือนอวิชชาของอาจารย์ด้วยเช่นกัน

หมายความว่า ทุกครั้งที่มีการสอนธรรมหรือทางจิตวิญญาณ หากผู้สอนพิจารณาโดยแยบคาย ไม่วางตนไว้สูงส่งเหนือกว่าคนเรียนโดยไม่รับฟังอะไร ผู้สอนก็ย่อมได้ประโยชน์ ได้พัฒนาปัญญาของตนเหมือนกัน
ผมเพิ่งได้ประจักษ์ว่าคำกล่าวนี้เป็นจริงอย่างยิ่ง เพราะเพิ่งเปิดชั้นเรียน “ภควัทคีตา : บทเพลงในสมรภูมิแห่งใจ” จัดโดยวัชรสิทธา และพบว่าตัวเองในฐานะคนสอนก็ได้เห็นหลายแง่มุมของคีตา (คำเรียกย่อ) ที่ไม่ได้เห็นมาก่อน

ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้ร่วมชั้นเรียนไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

ผมเคยกล่าวถึงภควัทคีตาไว้ในบทความหนึ่งนานมาแล้ว โดยกล่าวว่า คีตาเป็นคัมภีร์ชั้นโลกุตระของฮินดูเพียงคัมภีร์เดียวที่แพร่หลายมากที่สุดในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงยุคเบ่งบานของพลังนักศึกษา มีบทแปลไทยถึงสามสำนวนหลัก และล่าสุดเพิ่งมีการตีพิมพ์ฉบับที่มีอรรถาธิบายของสวามี ปรมหงสะ โยคานันทะอีกฉบับหนึ่ง

ที่จริง คีตามีหลายคีตานะครับ เช่น อนุคีตา อุทวะคีตา อวฑูตคีตา รามคีตา ฯลฯ คีตาจะอยู่ในรูปบทประพันธ์ร้อยกรองที่อาศัยฉากการสนทนาระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ ในฐานะท่วงทำนองอันงดงามแห่งความเข้าใจ แต่ “ภควัทคีตา” เป็นคีตาที่แพร่หลายสุดในบรรดาคีตาทั้งหลาย

ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่า เพราะคีตามีเสียงของ “การต่อสู้ทางการเมือง” ซึ่งอรชุนผู้ท้อถอย ถูกพระกฤษณะเรียกร้องให้ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม และคานธีอันเป็นต้นแบบของการต่อสู้โดยอหิงสาก็ยกย่องคีตาไว้อย่างสูง

คีตาจึงเป็นคัมภีร์ที่แปลกประหลาดอันหนึ่ง เพราะเนื้อความเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคีตาเป็นโลกุตระธรรมในแบบเดียวกับ “อุปนิษัท” แต่อธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ทว่า กลับโยงมาสู่ปัญหาในระดับโลกิยะด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักบวชผู้สละโลกหรือนักการเมือง ใครๆ ก็สามารถใช้คีตาได้

 

มีอุปมาว่า อุปนิษัททั้งหลายเป็นประดุจแม่โค พระกฤษณะคือผู้รีดนมโคซึ่งคือคีตา และน้ำอมฤตหรือนมโคนั้น ย่อมหอมหวานแก่ผู้ดื่มคือสาวกทั้งหลาย โดยมีอรชุนเป็นคนแรกที่ได้ดื่มน้ำนมโคนั้น

ในอินเดีย ดร.เทวทัตต์ ปัตตาไนกะ เขียนไว้ในหนังสือ “เทวโลก” (Devlok) ของเขาว่า คีตาเป็นที่แพร่หลายในอินเดียก็ต่อเมื่ออังกฤษได้ปกครองอินเดียแล้ว (เช่นเดียวกับคัมภีร์อีกหลายเล่ม) ทั้งที่คีตามีมาก่อนนั้นนานมากๆ บรรดาปราชญ์ทั้งหลายในสมัยโบราณ เช่น อาทิ ศังกราจารย์ รามานุชาจารย์ มาธวาจารย์ ฯลฯ ต่างก็เขียนอรรถกถาของคีตาไว้ เพียงแต่งานทั้งหมดนี้เขียนขึ้นในภาษาสันสกฤตซึ่งมีแต่พราหมณ์ที่เข้าใจ ชาวบ้านไม่รู้เรื่องด้วย

ครั้นล่วงมาถึงยุคกลางของอินเดีย ราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่เป็นต้นมา นักบุญหลายท่านพยายามแปลคีตาเข้าในภาษาท้องถิ่น เช่น ชญาเนศวรีในภาษามาราฐี ของท่านชญาเนศวร หรือคีตาฉบับอันนามัยยาจารย์ในภาษาเตลุคู แต่ล้วนเป็นการแปลเพียงบางส่วน

ถึงสมัยอังกฤษปกครอง คีตาฉบับสมบูรณ์ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยชาลส์ วิลกินส์ (Charls Wilkins) ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจว่า คีตาได้แสดงทัศนะที่คล้ายคลึงกับในไบเบิ้ลเกี่ยวกับพระเจ้า คือทรงพลานุภาพและเป็นเอกเทวนิยม ผิดกับทัศนะในพระเวทที่มีเทพมากมาย ดังนั้น คีตาจึงควรถูกยึดถือเสมือนกับเป็นคัมภีร์หลักของฮินดู เช่นเดียวกับไบเบิ้ลของชาวคริสต์ และอัลกุรอานของชาวมุสลิม

ในแง่นี้ ความแพร่หลายของคีตาจึงมาจากการเมืองเรื่องศาสนาด้วย

อีกทั้งบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดียหลายท่านจึงได้แต่งอรรถกถาคีตารวมทั้งยึดถือไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น วิโนพา คานธี ฯลฯ จึงทำให้คีตาเป็นคัมภีร์ที่แพร่หลายของคนทั่วไปในยุคเรียกร้องเอกราชอินเดีย

 

เนื้อความของคีตาขึ้นต้นด้วยความสับสนซึ่งเป็นลักษณะตามปกติของมนุษย์ ในการเลือกระหว่างหลักการและอารมณ์ความรู้สึก ความสับสนดังกล่าวจึงกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งสะท้อนอารมณ์และความสับสนของตัวผู้อ่านเองได้อีกชั้น

ในห้องเรียนของผม หลายคนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของความสับสนในชีวิตตนเอง ขณะเดียวกันก็เข้าอกเข้าใจอรชุนมากๆ ทั้งยัง “ไม่ซื้อ” ข้อเสนอของพระกฤษณะ ไม่ว่าจะหว่านล้อมยังไงก็ตาม

กรณี “การฆ่า” ได้กลายเป็นโจทย์หลักของความสับสนของเรื่องนี้ ซึ่งความสุดโต่งดังกล่าวยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ หลายคนในห้องเรียนเริ่มคิดว่าตนเองอาจคิดบนฐานที่ถูกกล่อมเกลาโดยศีล “ปาณาติบาต” มาตลอด เจออะไรว่าด้วยการฆ่าก็ต้องแอนตี้ไว้ก่อน

กรณีนี้ต้องบอกนะครับว่า พระกฤษณะไม่ได้บอกให้อรชุน “ฆ่า” แต่ให้อรชุนลองพิจารณาเรื่องนี้จากแง่มุมต่างๆ เสียก่อน

แต่เดิมผมเคยเห็นตัวบทนี้ ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเกิดจากความเขลาของผมเอง ในชั้นเรียนนั้น ผมค่อยๆ เห็นตัวบทสร้างชุดของการอ้างเหตุผลเป็นลำดับขั้นอย่างน่าสนใจ

 

อรชุนแม้จะเริ่มต้นด้วยอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น การไม่ฆ่าญาติพี่น้องก็ด้วยความผูกพันและความรักที่มีต่อกัน และต่อมาได้อ้างถึงคุณธรรมหลายชุดเพื่อสนับสนุน เป็นต้นว่า แม้คนอื่นกระทำสิ่งไม่ถูกต้องอย่างปกติเราก็ไม่ควรกระทำตาม หรือการฆ่าญาติพี่น้องเป็นการทำลาย “กุลธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งค้ำยันระบบครอบครัวและวงศ์ตระกูลไว้ ในแง่นี้อรชุนก็นับว่ามีเหตุผล

ส่วนคำตอบของพระกฤษณะ มีเป็นลำดับขั้นตอนไปเลยทีเดียว

ในลำดับแรก พระกฤษณะ อ้าง “หลักการ” ในเชิงสังคม คือจริยศาสตร์เชิงหน้าที่และศักดิ์ศรีของการรบ โดยการตอกย้ำว่า อรชุนเป็นนักรบ ซึ่งมีหน้าที่รบโดยกฎทางสังคมอยู่

ยิ่งในสถานการณ์ที่ทางเลือกมีน้อยหรือเกือบไม่มีเช่นนี้ ในเมื่อไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ ก็ควรยึดหลักการไว้ให้มั่นคง ซึ่งถือเป็นศักดิ์ศรีของการดำรงอยู่ของอรชุนเอง

ครั้นอรชุนยังไม่ปลงใจ ก็ยกหลักในทางอภิปรัชญา คือโดยเนื้อแท้แล้ว การฆ่ามิได้เกิดขึ้นจริง เพราะสิ่งต่างๆ มีเนื้อแท้อันไม่อาจถูกฆ่าได้ จึงไม่มีทั้งผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่า การเปลี่ยนแปลงของกายเป็นดุจการเปลี่ยนเสื้อผ้า ข้อนี้ยกหลักในอุปนิษัทมาโดยเฉพาะ

ครั้นอรชุนยังไม่ปลงใจอีก จึงใช้หลักเรื่อง ชญานโยคะ กล่าวคือ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยเห็นว่าสิ่งทั้งปวงนั้นมีเนื้อแท้เป็นอาตมัน และเท่าเทียมกัน ก็จะไม่เกิดความรักและความเกลียดชัง เมื่อก้าวข้ามสองอย่างนี้ได้ก็กระทำสิ่งต่างๆ ไปโดยหลักการที่ควรเป็น คือหน้าที่นั่นเอง

ครั้นอรชุนยังมีความสงสัยอยู่ ก็สอนหลักกรรมโยคะ คือ บุคคลควรทำกรรมโดยสละกรรม หมายถึงทำสิ่งต่างๆ ไปตามหน้าที่ แต่ไม่ยึดเอาผลของมันเป็นที่ตั้ง ไม่ยินดีหลงระเริงกับชัยชนะหรือโศกเศร้าเมื่อแพ้
นักเรียนบางท่านว่า ฟังแล้วชวนให้นึกถึงหลักบูชิโดของญี่ปุ่น คือนักรบทั้งหมดต่างคิดว่าตนทำหน้าที่ จึงฆ่าอีกฝ่ายโดยไร้ความเกลียดชัง ทั้งยังปราศจากความกลัวตาย

แม้พระกฤษณะจะยกหลักการมาถึงเพียงนี้ อรชุนก็ยังไม่ยอมไปรบอยู่ดี จึงสอนหลักในทางปฏิบัติ เช่น การทำสมาธิ หรือโยคะให้ใจสงบ เพื่อจะสามารถเข้าใจหลักดังกล่าวได้

กระนั้นก็ยังยากสำหรับอรชุนอยู่ดี พระกฤษณะจึงสอนหลักแห่งความภักดี คือถ้ามันยากนัก ของเพียงภักดีในพระเจ้า ความจริงทั้งหมดก็จะเข้าใจได้เพราะมีพระเจ้าทรงชี้นำ

สุดท้าย ความเข้าใจด้วยสมองดูจะไม่เพียงพอ พระกฤษณะจึงเนรมิตตนเป็น “วิศวรูป” หรือรูปพระเจ้าแห่งสกลจักรวาล ให้อรชุนได้ประจักษ์ความจริงด้วยตาตนเอง ซึ่งเป็นไม้ตายสุดท้าย อันเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะอรชุนเท่านั้นครับ

ความคิดจึงแปรเป็นความ “เข้าใจ” และแปรเปลี่ยนเป็น “เข้าถึง” อรชุนจึงยอมรบ

 

เนื้อความในคีตา ผมเล่าคร่าวๆ มีเพียงเท่านี้ ท่านใดสนใจโปรดหามาอ่านเพิ่มเติมเถิด อย่าได้เชื่อผมไปทั้งหมด เพราะยังมีรายละเอียดอีกมาก

แม้เสียงของคีตาดูจะดุดันกว่าคัมภีร์อื่นๆ ทั้งยังไม่ดูสงบนุ่มนวล ก็ด้วยพยายามจะประสานโลกุตระและโลกิยะเข้าด้วยกัน

มีผู้เรียนถามขึ้นว่า ในเมื่อทุกสิ่งมันเป็นมายาทั้งหมดอย่างที่พระกฤษณะสอน ทำไมพระกฤษณะยังยืนยันที่จะให้อรชุนรบ ผมคิดว่า สำหรับพระกฤษณะ ในเมื่อทุกสิ่งเป็นมายาก็จริง แต่กระนั้นการเลือกหลักการทางสังคม (แม้จะเป็นสมมุติเช่นเดียวกัน) ก็ย่อมดีกว่าปราศจากหลักการอะไรอยู่แล้ว

ดูเมืองไทยสิ ที่แม้ทุกอย่างจะดูเหมือนมีอยู่จริง แต่ผมไม่รู้สึกว่าอะไรมีอยู่จริงสักสิ่ง

โดยเฉพาะหลักการและนิติธรรม